logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

7 ข้อหลุมพลางในการวางแผนการเงิน

โดย บุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®

หลุมพรางหรือกับดักความคิดทางการเงิน อาจส่งผลให้แผนการเงินเกิดข้อผิดพลาด หรือไม่สมบูรณ์อย่างที่ควรเป็น วันนี้ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านเข้ามาสำรวจหลุมพรางทางการเงินที่บางครั้งเราอาจพลั้งเผลอไปกับความคิดสุดโต่งในแต่ละด้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องนำมาหาจุดสมดุลเพื่อเติมเต็มแผนการเงินกันค่ะ หลุมพลางในการวางแผนการเงินมี 7 ข้อ ดังนี้

  • 1. มั่นใจในตัวเองเกินไป หรือขาดความมั่นใจ ผู้วางแผนการเงินมักจะให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตในปัจจุบันและอนาคตเสมอ แต่บางครั้งอาจพลาดในเรื่องของความมั่นใจในตัวเองที่คิดว่ามีทุกอย่างครบเพียบพร้อมแล้ว แต่มีการคำนวณที่ผิดพลาดโดยขาดตัวแปรบางอย่างที่ไม่ได้คิดถึง ทำให้เงินที่ต้องใช้ในอนาคตอาจจะมากกว่าที่คิดไว้ สำหรับท่านที่ขาดความมั่นใจในเรื่องที่ไม่ถนัดหรือไม่ชำนาญ และได้รับคำปรึกษาจากนักวางแผนการเงินหลายท่านที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านซึ่งอาจให้ความเห็นที่แตกต่างกัน ก็อาจทำให้เกิดความสับสนจนไม่กล้าตัดสินใจได้

  • 2. คิดเรื่องเงินเฟ้อที่มากเกินไป หรือไม่คำนึงถึงเงินเฟ้อ ข้อดีของการคิดเรื่องเงินเฟ้อคือ สามารถรู้ค่าของเงินที่ต้องใช้ในอนาคตเมื่อเทียบกับปัจจุบัน จึงมีการเตรียมตัวที่ดีไว้ก่อน มีการเก็บออมมากพอเพื่อนำไปใช้ในวันข้างหน้า แต่การคิดเรื่องเงินเฟ้อที่มากเกินไป อาจทำให้ท้อใจจนไม่เริ่มทำอะไรสักที และผู้ที่ไม่คิดถึงเงินเฟ้อเลยก็อาจได้รับผลกระทบของเงินเฟ้อคือ เงินที่สะสมไว้ไม่พอในการใช้จ่าย เช่น อาหาร 2 จานในวันนี้ ราคา 100 บาท ในวันข้างหน้าเงิน 100 บาท อาจซื้ออาหารได้เพียงแค่จานเดียว เป็นต้น

  • 3. เปลี่ยนใจบ่อยเกินไป หรือไม่ปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แผนชีวิตมีอะไรให้คิดอยู่เสมอ แม้ว่าทุกคนต่างก็เลือกทางที่ใช่สำหรับตนเอง แต่การเปลี่ยนใจบ่อยๆ อาจส่งผลให้แผนที่คิดไว้ทำไม่สำเร็จอย่างที่คิด นอกจากนี้การไม่ปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเลย อาจมีผลให้เกิดข้อผิดพลาดในการวางแผนการเงินได้

  • 4. ใช้ตัวเลข หรือใช้อารมณ์อย่างเดียวในการตัดสินทุกอย่าง เช่น การเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงตลอดเวลา โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงและความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน อาจทำให้ผลตอบแทนในช่วงขาลงไม่เป็นไปอย่างที่คิด หรือถูกหลอกลวงจากพวกมิจฉาชีพ ทำให้สูญเสียเงินทั้งหมด หรือการเลือกประกันโดยใช้ปัจจัยของราคาเบี้ยถูกเป็นหลัก อาจได้รับผลประโยชน์จากประกันได้ไม่เต็มที่ สุดท้ายอาจได้ประกันที่มีราคาแพงเพราะเคลมได้ก็เฉพาะโรคที่ระบุไว้ มีค่ารักษาที่ไม่เพียงพอเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น นอกจากนี้การใช้อารมณ์ในการตัดสินใจเพียงอย่างเดียวก็อาจเป็นข้อผิดพลาดและทำให้เกิดความเสียหายได้เช่นกัน

  • 5. ตึงกับแผนมากเกินไป หรือหย่อนกับแผนจนเกินไป เมื่อสถานการณ์ทำให้แผนการเงินไม่เป็นไปอย่างที่คิด ผู้ที่ตึงกับแผนการเงินมากเกินไปอาจก่อให้เกิดความเครียด แต่อย่าลืมว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ แผนที่ดีต้องมีความยืดหยุ่น บางครั้งจะต้องมีการปรับแผนระยะสั้นหรือระยะยาวกันบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการวางแผนการเงินที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวะปัจจุบัน สำหรับผู้ที่หย่อนกับแผนการเงินจนเกินไป หรือขาดวินัย อาจทำให้ละเลยการวางแผนทางการเงินจนเกิดความเสียโอกาส หรือพบกับความเสียหายในอนาคตได้

  • 6. คิดว่ามีสุขภาพดีตลอดเวลา หรือคิดว่าการเจ็บป่วยเป็นข้ออ้างของการเริ่มต้นในสิ่งดีๆ ทุกแผนการเงินต้องมีการป้องกันความเสี่ยงจากเงินรั่วไหลจากเหตุที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง คนมีสุขภาพดีอาจคิดว่าไม่มีโอกาสเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ถ้ามีเหตุที่ทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาล ก็มีโอกาสที่จะต้องจ่ายค่ารักษาที่สูง เช่น การได้รับอุบัติเหตุที่ต้องผ่าตัดใหญ่ การเป็นโรคเจ็บป่วยเฉียบพลันที่ต้องรักษาในหอผู้ป่วยหนัก การเป็นโรคร้ายแรงระยะลุกลามที่ต้องบำบัดรักษา แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนัก แต่ถ้าผ่านกระบวนการรักษาไปแล้ว ผู้ที่เคยเจ็บป่วยหลายๆ คน ก็มักจะเริ่มหันมาดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีมากขึ้น สามารถเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งดีๆ และทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่ต้องการได้ เช่น หัดทำอาหารสุขภาพ ทำงานฝีมือ ปลูกพืชสวนครัว แข่งขันกีฬา เดินทางท่องเที่ยวที่ต่างๆ หรือโอกาสในการทำธุรกิจ ด้วยวิวัฒนาการเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่และการได้รับการรักษาที่ดี การเคยเจ็บป่วยจึงไม่ใช่อุปสรรคหรือเป็นข้ออ้างในการเรียนรู้หรือทำกิจกรรมต่างๆ อีกต่อไป

  • 7. กระจุกการลงทุนที่ทรัพย์สินประเภทเดียว หรือกระจายการลงทุนจนไม่รู้ว่าทรัพย์สินอยู่ที่ไหนบ้าง ข้อดีของการเลือกลงทุนในทรัพย์สินเพียงประเภทเดียวคือ การบริหารจัดการดูแลทรัพย์สินง่าย เช่น ลงทุนในทองอย่างเดียว กองทุนเพียงกองเดียว หุ้นเพียงตัวเดียว ที่ดินผืนเดียว ฯลฯ แต่ข้อเสียคือ ในช่วงที่ตลาดไม่เป็นใจจะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าคนที่มีการกระจายการลงทุน แต่การกระจายการลงทุนที่มากเกินไปจะทำให้ต้องคอยรวบรวมการลงทุนในแต่ละแหล่ง จนอาจลืมไปว่ามีอยู่ที่ใดบ้าง เช่น ลงทุนในทองทั้งเก็บไว้ที่บ้าน ฝากร้านทอง ฝากเซฟธนาคาร ลงทุนในกองทุน 100 กอง หรือซื้อหุ้น 100 ตัวในแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ


  •  

เมื่อเรียนรู้และเข้าใจหลุมพรางต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะมีวิธีการป้องกันโดยนำสิ่งที่พลาดไปทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวมาเป็นบทเรียน และนำมาแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น หรืออาจขอรับคำปรึกษาจากนักวางแผนการเงินใกล้ตัวคุณ จะทำให้ท่านประสบความสำเร็จในแผนการเงินที่ดีในวันนี้และวันข้างหน้า ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่านในการหลีกเลี่ยงหลุมพรางต่างๆ ดังที่กล่าวมา และมาวางแผนการเงินที่ดีกันนะคะ

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th