บทความ: บริหารจัดการเงิน
5 เทคนิค บริหารหนี้ให้เป็น เห็นผลทันใจ
โดย ธชธร สมใจวงษ์ นักวางแผนการเงิน CFP®
การมีหนี้สินที่มากเกินกว่าจะจัดการได้ สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ หลายคนจึงเรียกการมีหนี้สินว่า “เป็นหนี้ ไม่ใช่แค่มีหนี้” เพราะหนี้สินเป็นอะไรมากกว่ามิติด้านการเงิน มีผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ ดังนั้น การบริหารจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ปลดหนี้ ผลที่ตามมานอกจากการเงินมั่นคงแล้ว สุขภาพกายและใจก็ดีขึ้นด้วย สำหรับผู้ที่ต้องการปลดหนี้ ควรเริ่มต้นด้วย 5 เทคนิคเบื้องต้น ดังนี้
1. แบ่งแยกหนี้รวยกับหนี้จนให้ได้
คำว่า หนี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือต้องหลีกเลี่ยง เพราะบางครั้งการสร้างหนี้บางประเภทก็สามารถช่วยสร้างรายได้และความมั่งคั่งให้ด้วยเช่นกัน
หนี้รวย คือ หนี้ที่เกิดจากการนำไปซื้อทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดกระแสเงินสดเข้ามาได้มากกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องผ่อนชำระ เช่น กู้ซื้อคอนโดมิเนียมแล้วสามารถปล่อยเช่า โดยได้รายได้จากผู้เช่ามากกว่าค่าผ่อนคอนโดมิเนียมในแต่ละเดือน รวมกับค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าบำรุงรักษา รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้กับบริษัทจัดหาผู้เช่า (หากมี) ซึ่งหนี้สินประเภทนี้จะช่วยทำมาหากิน เปรียบเสมือนมีกระแสเงินสดเข้ามาเติมเรื่อย ๆ
ตรงกันข้ามกับหนี้จน ที่มักสร้างปัญหาให้ผู้ก่อหนี้เพราะเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายจ่าย (เมื่อมีรายได้ต้องนำไปจ่ายหนี้คืน) พูดง่าย ๆ เป็นหนี้ที่เงินไหลออกเพียงอย่างเดียว ไม่มีกระแสเงินสดไหลกลับเข้ามา
ดังนั้น การแบ่งแยกหนี้สินที่มีอยู่ว่าเป็นหนี้รวยหรือหนี้จน จะทำให้เข้าใจสถานะการเงินของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และถ้าหากมีหนี้จนก็สามารถลำดับความสำคัญของรายได้ที่มีเพื่อนำไปจัดการได้ทันท่วงทีเพื่อไม่ให้หนี้จนสร้างปัญหาให้กับชีวิตในวันข้างหน้า
2. ทำงบแสดงฐานะการเงินส่วนบุคคลและงบกระแสเงินสด
งบแสดงฐานะการเงินส่วนบุคคล คือ การสรุปฐานะทางการเงินในแต่ละช่วงเวลา ด้วยการรวบรวมรายการสินทรัพย์ทั้งหมด (สินทรัพย์สภาพคล่อง สินทรัพย์เพื่อการลงทุน สินทรัพย์ส่วนตัว) และนำมาหักลบด้วยหนี้สินทั้งหมด ก็จะได้ความมั่งคั่งสุทธิหรือฐานะทางการเงินที่แท้จริงของแต่ละบุคคล
สิ่งสำคัญเมื่อทำงบดุลก็จะเห็นรายการหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ด้วย ผลที่ตามคือสามารถพิจารณาได้ว่าจะนำสินทรัพย์สภาพคล่องไปชำระหนี้สินได้มากน้อยเท่าไร
ส่วนงบกระแสเงินสด คือ การเปรียบเทียบรายรับและรายจ่าย โดยสามารถประเมินล่วงหน้าเป็นรายงวด (เช่น รายเดือน) เรียกว่า การประเมินสภาพคล่อง เพราะถ้ารู้สภาพคล่องของตัวเองว่ามีมากน้อยเท่าใดก็จะทำให้เห็นระยะเวลาและความสามารถในการนำไปชำระหนี้ด้วย
3. วิเคราะห์หนี้ และจัดลำดับการชำระหนี้
เริ่มต้นด้วยการรวบรวมหนี้ที่มีทั้งหมด อาจรวบรวมเป็นตาราง Excel แล้วบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลประกอบด้วยเจ้าหนี้ ยอดหนี้คงเหลือ อัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระ (หากมี) กำหนดเวลาที่จะต้องชำระหนี้ และประมาณวันที่ที่จะชำระหนี้ได้หมด จากนั้นก็รวบรวมข้อมูลรายรับ รายจ่าย และสินทรัพย์ต่าง ๆ
การรวบรวมข้อมูลดังกล่าว จะทำให้สามารถวางแผนชำระหนี้ได้ดียิ่งขึ้น เช่น การจัดลำดับการชำระหนี้ ว่าจะเลือกปลดหนี้ก้อนไหนให้หมดเร็วที่สุด เช่น ต้องการปลดหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายที่เกิดจากดอกเบี้ยและทำให้ยอดรวมของหนี้ลดลง แต่ถ้าเลือกชำระหนี้ก้อนใหญ่ที่สุด สิ่งที่ได้ คือ กำลังใจในการจัดการหนี้สินก้อนถัดไป เป็นต้น
4. หาตัวช่วย
สำหรับตัวช่วยเรื่องการชำระหนี้มีทั้งการรีไฟแนนซ์ การขอเจรจากับเจ้าหนี้ รวมถึงการติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีโครงการให้ความช่วยเหลือ
การรีไฟแนนซ์ เป็นการรวมหนี้เป็นก้อนเดียว โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยโดยรวมลดลง ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับดอกเบี้ยลดลง ในปัจจุบันสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็ให้บริการเพื่อรีไฟแนนซ์ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด ก่อนตัดสินใจควรหาข้อมูลและเปรียบเทียบเงื่อนไขจากสถาบันการเงินแต่ละแห่งให้รอบคอบ
ตัวช่วยถัดมาในการบริหารจัดการหนี้ คือ การเจรจาโดยตรงกับเจ้าหนี้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อหาทางออกร่วมกันในหลากหลายรูปแบบ เช่น การยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ การพักชำระเงินต้น การลดดอกเบี้ย ซึ่งวิธีการนี้แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของลูกหนี้ในการแก้ปัญหาและวางแผนชำระหนี้
ส่วนตัวช่วยด้านโครงการให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินต่าง ๆ ในปัจจุบันโดยเฉพาะช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งทางภาครัฐและเอกชนให้คำปรึกษาและแนะนำแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งด้านการช่วยวางแผนการชำระหนี้ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อจัดการหนี้สิน รวมถึงการช่วยเจรจากับเจ้าหนี้ด้วย จึงเป็นตัวช่วยที่ดีที่ไม่ควรละเลย
ตัวช่วยที่น่าสนใจและหลายคนมักมองข้าม คือ ความช่วยเหลือจากผู้มีส่วนได้เสียจากการชำระหนี้ โดยเฉพาะหากสาเหตุของการเป็นหนี้ คือ การนำเงินไปช่วยเหลือญาติ พี่น้อง หรือบุคคลในครอบครัว ก็สามารถพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้น ให้ทุกคนเข้าใจความรุนแรงของปัญหารวมถึงสิ่งที่จะเป็นผลกระทบต่อทุกคน เพราะหลายครั้งจะพบว่าทุกคนพร้อมให้ความช่วยเหลือและเต็มใจสนับสนุนการชำระหนี้สิน
5. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อย่าให้กลับมาเป็นหนี้อีก
การเป็นแชมป์นั้นยากแล้ว แต่การรักษาแชมป์นั้นยากยิ่งกว่า คำกล่าวนี้ทำให้เห็นความสำคัญในการรักษาความสำเร็จให้อยู่ยาวนานได้เป็นอย่างดี โดยทุกคนสามารถถอดบทเรียนสิ่งที่ทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จในการจัดการชำระหนี้ให้ได้ตามแผน ไม่ว่าจะเป็นทักษะต่าง ๆ มีวินัยในการปลดหนี้ทุกขั้นตอน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย รูปแบบการใช้ชีวิตที่ทำให้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลดลง ที่สำคัญสามารถนำบทเรียนที่ไม่ดีด้านการก่อหนี้มาแก้ไขและสัญญากับตัวเองว่าจะไม่กลับไปเป็นหนี้จนอีกต่อไป
ที่มา: www.setinvestnow.com, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th