บทความ: บริหารจัดการเงิน
เริ่มต้นวางแผนการเงินให้มีประสิทธิภาพด้วย Financial Pyramid Ep.1
โดย รัฐพล วชิรเมฆากุล นักวางแผนการเงิน CFP®
การมีอิสรภาพทางการเงินอาจเริ่มต้นได้จากการวางแผนการเงินที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจไว้อาจไม่ต้องอาศัยเทคนิคหรือความซับซ้อนอะไรมากมาย แต่ต้องมีความเข้าใจกับการวางแผนทางการเงินขั้นพื้นฐาน ที่สามารถนำไปปรับให้เข้ากับความต้องการและเป้าหมายของตัวเองได้ โดย Financial Pyramid เป็นหลักการวางแผนการเงินที่ยอมรับใช้กันแพร่หลายทั่วโลก
Financial Pyramid คืออะไร?
พีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) เป็นเทคนิคการวางแผนทางการเงินรูปแบบหนึ่ง ที่มีแนวคิดพื้นฐานคล้ายกับการสร้างพีระมิด ให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของวัสดุและโครงสร้างเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงค่อยๆ เริ่มสร้างเป็นจากฐานรากไปถึงชั้นบนสุด และหลังคาอย่างมั่นคง ดังนั้น หากเปรียบเทียบเป็นเรื่องของการเงินแล้ว การวางแผนการเงินด้วยแนวคิด Financial Pyramid นี้จึงเป็นการสร้างพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแรงเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเงินที่สูงขึ้น หรือ เป็นการสร้างความมั่งคั่งให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากพื้นฐานทางการเงินนั่นเอง
3+1 ส่วนของ Financial Pyramid ที่ต้องรู้
นักวางแผนการเงินแต่ละคนอาจมีแนวทางในการออกแบบและวางแผนการเงินด้วย Financial Pyramid ที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยพื้นฐานแล้ว พีระมิดทางการเงินที่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับเป้าหมายทางการเงินของทุกคนนั้นจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก และอีก 1 ส่วนพิเศษ ซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้
ส่วนที่ 1: Cash Flow Management
เพราะพื้นฐานของพีระมิดที่มั่นคงนำไปสู่การต่อยอดความสูงของพีระมิดที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการวางแผนทางการเงินแล้ว การสร้างพื้นฐานพีระมิดให้แข็งแรงและมั่นคงนั้นต้องเริ่มต้นจากการบริหารรายรับและรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพเสียก่อน ซึ่งหลักพื้นฐานง่ายๆ ของการบริหารเงินในส่วนนี้ สามารถทำได้โดยการบริหารรายจ่ายให้น้อยกว่ารายได้เพื่อนำส่วนต่างไปต่อยอด หากเรามีรายรับที่น้อยกว่ารายจ่ายเมื่อไหร่ นอกจากจะไม่มีเหลือเก็บแล้ว ในส่วนนี้จะกลายเป็นหนี้สิน
การบริหารรายรับรายจ่ายนี้อาจเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากการมีวินัยทางการเงินที่สม่ำเสมอ หมั่นทำบัญชีรายการรายรับและรายจ่ายในทุกๆ วัน เพื่อสำรวจพฤติกรรมทางการเงินของตัวเอง ตลอดจนหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้สินโดยไม่จำเป็น เช่น การใช้เงินบัตรเครดิตเกินวงเงิน การใช้บัตรเครดิตผิดประเภท หรือ ชำระค่างวดเป็นเงินขั้นต่ำจนทำให้เป็นหนี้สะสมไปเรื่อยๆ
ส่วนที่ 2: Risk Management
เริ่นต้นที่เงินสำรองฉุกเฉิน
เมื่อสร้างพื้นฐานของพีระมิดให้แข็งแรงโดยการบริหารรายรับรายจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ทุกคนยังควรเริ่มเก็บเงินทุนสำรอง 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนเป็นอันดับแรก เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ทำให้เสียความสามารถในการสร้างรายรับไป หรือมีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย อย่างคนในครอบครัวเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ เงินในส่วนนี้ก็จะเข้ามาช่วยดูแลสภาพคล่องทางการเงินได้
แต่หลายคนอาจมองว่าการบริหารความเสี่ยงในส่วนนี้เป็นเรื่องไม่จำเป็น เพราะสุดท้ายทุกคนก็สามารถนำเงินลงทุนออกมาใช้จ่ายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การนำเงินลงทุนออกมาใช้ถือเป็นการทำลายเป้าหมายทางการเงินแบบอ้อมๆ เลยก็ว่าได้ เพราะอย่าลืมว่าเงินที่นำไปลงทุน ควรถูกนำไปใช้เพื่อต่อยอดทางการเงินในเรื่องอื่นๆ เช่น นำไปใช้เป็นเงินก้อนสำหรับเกษียณอายุ หรือ นำไปต่อยอดเพื่อการลงทุนทางธุรกิจ หรือเป้าหมายการเงินอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งอาจมีความผันผวน และสภาพคล่องไม่เหมาะกับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่ต้องใช้เร่งด่วน เสริมความมั่นคงด้วยประกัน
อย่างไรก็ดี การบริหารรายรับรายจ่ายให้มั่นคง จนมีเงินทุนสำรอง 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายปัจจุบันก็อาจทำให้เรามีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายในยามขาดรายได้ แต่เงินส่วนนี้จะพอใช้แค่เพียง 3 - 6 เดือนเท่านั้น เรียกว่าเหมาะกับการป้องกันความเสี่ยงเล็กน้อยหรือความเสี่ยงบางส่วนเท่านั้น หากเรามีปัญหาสุขภาพ เป็นโรคร้าย เกิดอุบัติเหตุ หรือมีการผ่าตัดที่ต้องใช้เวลารักษาตัวนานจนทำให้ไม่สามารถทำงานได้ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม และไม่มีรายรับเหมือนอย่างเคย เท่ากับว่าเงินทุนสำรองนี้จะต้องนำมาใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพ และอาจทำให้ไม่มีเงินเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างค่าผ่อนรถยนต์ บ้าน จนกลายเป็นปัญหาหนี้สินได้ ด้วยเหตุนี้ เพื่อวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น แม้จะมีเงินทุนสำรองแล้ว การมีประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันโรคร้ายแรง และประกันอุบัติเหตุก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ช่วยโอนย้ายความเสี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายและเหตุการณ์ฉุกเฉิน ยังทำให้เราไม่ต้องดึงเงินที่เก็บออมเพื่อเป้าหมายอื่นๆ ในอนาคตมาใช้ และช่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ตรงจุดโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการบริหารค่าใช้จ่ายที่ไม่ลงตัว
ข้อควรระวัง:
ก่อนที่จะเลือกทำประกันประเภทใดก็ตาม อย่าลืมพิจารณาถึงความจำเป็น งบประมาณที่เหมาะสม ตลอดจนความเสี่ยงที่ประกันตัวนั้นๆ สามารถคุ้มครองได้ เพราะหากเลือกทำประกันโดยไม่เช็กรายละเอียดให้ดี ประกันที่จะเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงก็อาจกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปได้เช่นกัน
สำหรับ EP. นี้ขออนุญาตจบที่การบริหารความเสี่ยง ส่วนขั้นต่อๆ ไปของพีระมิดการเงินเพื่อให้การวางแผนการเงินสมบูรณ์ ติดตามอ่านได้ใน EP. ถัดไป
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th