บทความ: บริหารจัดการเงิน
เริ่มต้นวางแผนการเงินให้มีประสิทธิภาพด้วย Financial Pyramid Ep.2
โดย รัฐพล วชิรเมฆากุล นักวางแผนการเงิน CFP®
เมื่อ EP.1 นั้น เราได้รู้จักการบริหารกระแสเงินสดรับ-จ่าย และการบริหารความเสี่ยงซึ่งเป็น 2 ส่วนรากฐานของการวางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพไปแล้ว ใน EP. นี้ชวนทุกท่านมารู้จักกับ 2 ส่วนต่อมาที่จะช่วยต่อยอดแผนการเงินของทุกท่านไปถึงจุดสุดยอด
ส่วนที่ 3: Wealth Creation
เมื่อพื้นฐานของพีระมิดมั่นคงเพียงพอและมีมาตรการรองรับความเสี่ยงที่รัดกุมแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาการต่อยอดพีระมิดการเงินขึ้นไป หรือ การสร้างความมั่งคั่ง โดยการวางแผนการเงินให้สามารถสร้างความมั่งคั่งได้นั้น เป้าหมายการเงินเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี คือต้องเริ่มต้นจากการตอบตัวเองให้ได้ว่า “เราเก็บเงิน หรือ ต้องการมีเงินมากๆ ไปเพื่ออะไร” เช่น บางคนอาจต้องการเกษียณตัวเองจากการทำงานเร็วในวัย 50 หรือ บางคนวางแผนเก็บเงินไว้เพื่อการเลี้ยงดูลูกในอนาคต เป็นต้น เพราะหากเป้าหมายทางการเงินไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก โอกาสในการล้มเลิกความตั้งใจเพื่อสร้างความมั่งคั่งและต่อยอดทางการเงินก็จะยิ่งมีสูงขึ้น
Tips ในการตั้งเป้าหมายอย่างง่ายคือการตอบคำถาม 3 ข้อดังนี้ เป้าหมายการเงินของเราคืออะไร ต้องการบรรลุเป้าหมายเมื่อไหร่ (ภายในกี่ปี ปีพ.ศ. หรืออายุที่ต้องการ) จำนวนเงินที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย
เมื่อตกลงกับตัวเองได้แล้ว พร้อมกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน การต่อยอดทางการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งก็จะสามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ
- 1. การลงทุนเพื่อเป้าหมายที่จำเป็น (Need Base)
เป็นการลงทุนเพื่อเป้าหมายที่สำคัญ เช่น ลงทุนเพื่อนำผลตอบแทนมาเป็นงบใช้จ่ายประจำวันเมื่อเกษียณอายุ หรือเป็นงบสำหรับจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณ โดยการวางแผนลงทุนเพื่อเป้าหมายนี้ควรจะต้องให้ความสำคัญมากที่สุด อีกทั้งยังควรมีวินัยและความระมัดระวังในการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง - 2. การลงทุนเพื่อต่อยอดเป้าหมายทางการเงิน (Want Base)
เป็นการลงทุนเพื่อให้ชีวิตสบายยิ่งขึ้น หรือเพื่อต่อยอดเป้าหมายการเงินที่สูงยิ่งขึ้น ซึ่งถึงแม้จะไม่มี หรือ ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เช่น หากค่าใช้จ่ายการเกษียณอายุในข้อ 1 อยู่ที่ 50,000 บาทต่อเดือน โดยคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งหากวางเป้าหมายเพื่อการต่อยอดร่วมด้วย ก็อาจวางแผนลงทุนเพิ่มค่าใช้จ่ายรายเดือนหลังเกษียณเป็น 100,000 บาทได้ โดยหากใครตั้งเป้าหมายในส่วนนี้เข้าไปด้วยก็อาจจัดพอร์ตลงทุนให้มีความเสี่ยงสูงกว่าข้อ 1 ได้ และควรแยกพอร์ตลงทุนต่างหากให้ชัดเจน
โดยการลงทุนทั้งแบบ Need Base และ Want Base ตามที่อธิบายไปข้างต้นนั้น ทุกคนควรจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับระยะเวลาที่ให้กับการลงทุน ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เลือก ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ หุ้น กองทุนรวม ประกันชีวิต ประกันควบการลงทุน (Unit Linked) สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของนักลงทุน ทั้งในระหว่างลงทุน และในช่วงที่จะใช้เงินตามเป้าหมายนั้นๆ ด้วย
ส่วนพิเศษ! Wealth Distribution หรือ Wealth Transfer
เมื่อวางแผนการเงินจนสามารถสร้างความมั่งคั่ง และมีเงินเพียงพอต่อความต้องการแล้ว จุดสุดยอดของการสร้างพีระมิดทางการเงินให้เสร็จสมบูรณ์ คือ การส่งต่อความมั่งคั่งไปให้กับลูกหลานและคนในครอบครัว แต่หากใครที่ไม่มีครอบครัว หรือญาติเพื่อรับมรดกก็สามารถนำเงินในส่วนนี้ไปบริหารด้านอื่นๆ เช่น มอบให้กับมูลนิธิ หรือ บริจาคให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อทำสาธารณประโยชน์ต่อไป
เครื่องมือที่ใช้ในการวางแผน Wealth Distribution นั้นอาจเป็นได้ทั้งสินค้าทางการเงิน หรืออาจเป็นการทำทะเบียนทรัพย์สิน และพินัยกรรมประกอบกันทั้ง 3 ส่วนก็ย่อมได้ ขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ ลักษณะ และเป้าหมายในการบริหาร ความชอบ หรือความถนัดของผู้รับ
สำหรับในขั้นตอนนี้ เราสามารถวางแผนบริหารเงินด้วยการวางแผนมรดกให้มีประสิทธิภาพ โดยจัดสรรปันส่วน พร้อมวางเงื่อนไขทางกฎหมายและสัญญาทุกข้อให้ชัดเจน รวมถึงต้นทุนในการส่งมอบทรัพย์สินแต่ละชิ้นอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้การส่งมอบสินทรัพย์นั้นตรงตามความตั้งใจทั้งของผู้ให้ และถูกใจผู้รับ ป้องกันการทะเลาะเบาะแว้ง สร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย และเพื่อเป็นบริหารภาษีมรดกได้อย่างถูกต้อง
ถ้าใช้ Financial Pyramid วางแผนการเงิน อย่าลืมวางแผนภาษีด้วย!
เมื่อจัดสรรปันส่วนทุกฐานของพีระมิดทางการเงินเรียบร้อยแล้ว “การจัดการภาษี” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะมาร้อยเรียงและช่วยให้การวางแผนการเงินนี้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น เคล็ดลับง่ายๆ ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ถูกกฎหมาย เสียภาษีน้อยที่สุด และต้องไม่กระทบต่อส่วนต่าง ๆ ของพีระมิดทางการเงิน โดยตามกฎหมายแล้ว เราสามารถทำได้โดยการลดหย่อนภาษี และมองหาการลงทุนที่เพิ่มความมั่งคั่งได้ เช่น การลงทุนกองทุนรวม RMF และ SSFเพื่อรับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี การออมกับประกันชีวิต การทำประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือ Unit Linked เป็นต้น
ถึงจะดูเป็นการวางแผนการเงินที่ใช้เวลา แต่ Financial Pyramid ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีบริหารการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตได้ครอบคลุมมากที่สุดวิธีหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นวิธีการได้รับการยอมรับในระดับสากลอีกด้วย อย่างไรก็ดี การวางแผนทางการเงินให้เหมาะสมกับความต้องการ เป้าหมาย และชีวิตของแต่ละคนยังมีอีกหลายเทคนิควิธี ซึ่งแต่ละวิธีอาจปรับใช้ร่วมกับ Financial Pyramid เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการได้เช่นกัน
ดังนั้น หากใครอยากเริ่มต้นวางแผนทางการเงินให้เหมาะสมกับเป้าหมายและการเงินของตัวเองมากที่สุด สามารถปรึกษานักวางแผนการเงินCFP ที่จะช่วยให้คุณมองภาพชีวิตทางการเงินอย่างรอบด้านได้
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th