บทความ: บริหารจัดการเงิน
ควรฉีดวัคซีนเข็มแรกตั้งแต่เมื่อไร
โดย สยมพร จิตตั้งสมบูรณ์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
จากเหตุการณ์ไวรัสโควิด ทำให้คนเป็นพ่อแม่หลายๆ คนกังวลใจเป็นห่วงลูกน้อย และก็เริ่มมีวัคซีนที่ผ่อนหนักให้เป็นเบา มาให้เด็กฉีดกันสักระยะหนึ่งแล้ว และในหลายครอบครัวที่มีทั้งฝ่ายที่อยากให้เด็กที่อายุน้อยฉีด กับฝ่ายค้านที่กลัวผลข้างเคียงของวัคซีนนี้ ครอบครัวของผู้เขียนก็เป็นแบบที่กล่าวมานี้
แต่ผู้เขียนขอไม่ออกความเห็นเรื่องควรหรือไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันนี้ แต่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีเด็กน้อยเริ่มฉีดวัคซีน เสริมภูมิคุ้มกันให้ด้านวินัยทางการเงินตั้งแต่วันนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต
เข็มที่ 1 ออมก่อนใช้ สร้างวินัยและนิสัยรักการออม เช่น ให้จดบันทึกรายรับรายจ่าย หรือหากระปุกมาให้ยอดเงินที่เหลือจากการใช้ แล้วมานับเมื่อเวลาผ่านไป แล้วลองเสนอให้เด็กแบ่งออกมาหนึ่งส่วนมาออมก่อนนำออกไปใช้ไว้กระปุกหนึ่ง แล้วให้เด็กๆ มาดูการเพิ่มของสองกระปุกนี้เทียบกันว่าควรทำแบบไหนดีกว่ากัน
เข็มที่ 2 การสร้างเป้าหมายทางการเงินที่ดี SMART เช่น ถ้าลูกมีของเล่นที่อยากได้ เราก็อย่าเพิ่งรีบซื้อให้ทันที และถามหาความจำเป็นหรือถามว่าของชิ้นนี้อยากได้มาแค่ไหน อยากได้มากพอที่จะตั้งเป้าหมายออมเงินเพื่อซื้อไหม โดยฝึกให้เขาหาราคาของชิ้นนั้น และจำนวนเงินที่สามารถออมได้ ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะได้ของชิ้นนั้นมา
ถ้าเด็กน้อยเริ่มบ่นว่า นานเกินไป ก็สอนเรื่องการบริหารเวลา และตกลงให้ช่วยงานบ้านที่พอจะช่วยได้ เช่น รดน้ำ พับผ้า เป็นต้น เพื่อแลกเงิน ออม และรู้ค่าของเงิน
เข็มที่ 3 มูลค่าเงินตามเวลา อาจให้เด็กไปช่วยจดบันทึกรายการ ซื้อของเข้าบ้านและเมื่อเห็นราคาของที่เขาจดแพงขึ้น อาจลองถาม ให้สังเกต หรือช่วยหาสิ่งที่ผิดปกติ จะได้ยกตัวอย่างราคาของที่แพงขึ้น ให้เห็นว่ามีตัวแปรบางอย่างที่ทำให้ค่าเงินนั้นเล็กลง และสอนให้หาการออม หรือการลงทุนที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากขึ้น และเน้นย้ำเรื่องผลตอบแทนที่สูงขึ้นก็ตามมาด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้น
โดยการสอนแบบที่ไม่ต้องคาดหวังว่าลูกจะต้องเข้าใจ และทำตามได้ทันที ทุกๆ 6 เดือนค่อยมาดูพัฒนาการ หรือกระตุ้นเพิ่ม ตามที่เด็กสามารถรับรู้ เสมือนฝึกให้เด็กได้บริหารพอร์ตการออม หรือเปลี่ยนสัดส่วนการออมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วยตัวเด็กเอง อยากให้ลองตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อดูความคิดสร้างสรรค์ก่อน
หลายคนคงอาจมองว่าลูกยังเล็ก คงยังไม่เข้าใจ เดี๋ยวโตกว่านี้ค่อยสอน แต่ผู้เขียนมองว่าเราหมั่นพูดหมั่นสอนไปทุกวัน ตั้งแต่วันนี้เลยดีที่สุด ถ้าลูกเล็กมากก็อาจตั้งวีดีโอเอาไว้สอนจากวีดีโอที่บันทึกเก็บไว้
ผู้เขียนตั้งใจแบ่งปันมุมมอง และไอเดียการเสริมภูมิคุ้มกันให้มีวินัยทางการเงินที่ดี รายละเอียดของเนื้อหาที่ลึกๆ ในแต่ละหัวข้อสามารถเข้ามาอ่านบทความดีๆ ของสมาคมที่มีผู้ทรงคุณวุฒิเรียบเรียงอย่างดีเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นได้
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th