บทความ: บริหารจัดการเงิน
เมื่อมนุษย์เงินรายวันก็ออมได้
โดย ศุภชัย จันไพบูลย์ นักวางแผนการเงิน CFP®
ในยุค Next normal ที่การทำงานไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่งานประจำเท่านั้น การทำงานที่ได้รายได้จากช่องทางที่หลากหลายทางไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่ทำงานเสร็จเมื่อไรก็มารับเงินไป หรือรายได้ที่มาแบบวันต่อวัน ซึ่งการได้มาซึ่งรายได้แบบนี้ทำให้การบริหารด้านการเงินเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น เนื่องจากรายได้เข้ามาไม่สม่ำเสมอแต่รายจ่ายบางอย่างออกไปอย่างสม่ำเสมอ ทำให้การเก็บออมเงินเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทักษะในการจัดการด้านการเงินและความพยายามความมีวินัยอย่างสูง
การพัฒนาทักษะในการจัดการด้านการเงินเป็นทักษะอันดับต้นๆ ที่ต้องได้รับการ Upskill เพื่อยกระดับทักษะให้ดีกว่าเดิม แต่สำหรับบางคนอาจเป็น Reskill ที่ต้องสร้างทักษะขึ้นมาใหม่เพราะอาจจะไม่เคยเรียนรู้มาก่อนต่อการใช้ชีวิตทางการเงินแบบโลกยุค Next normal เริ่มต้นคงต้องหาขอบเขตทักษะในการจัดการด้านการเงินของตัวเราเองก่อนซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะบอกเราได้ว่า สินทรัพย์มีคุณภาพเป็นอย่างไร ผลตอบแทนโดยรวมของเราจะอยู่ที่เท่าใด ตัวอย่างเช่น หากเรารู้จักเพียงแค่การฝากเงินธนาคาร ซึ่งผลตอบแทนในปัจจุบันสูงสุด อัตราดอกเบี้ย1.55% ต่อปีในบัญชีประจำ 24 เดือน (ที่มา: ธปท.วันที่ 4/10/2565) นั้นคือปริมาตรการเงินเดิมของเรา การขยายขอบเขตในการจัดการด้านการเงินด้วยการขยายปริมาตรการเงินของเราจะส่งผลต่อผลตอบแทนที่ดีขึ้นของเราในอนาคต วันนี้เรามาจะมาเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะในการจัดการด้านการเงินที่จะใช้สูตร กว้าง*ยาว*สูง ตามมาเลยครับ
- มิติด้านกว้าง : หากเรามีความรู้เรื่องสินทรัพย์การเงินน้อย รู้เพียงผิวเผินหรือรู้จักสินทรัพย์เพียงหนึ่ง/สองสินทรัพย์เท่านั้น จากการที่ในปัจจุบันสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและการลงทุนมีความซับซ้อนที่มากขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นที่เราต้องหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินทรัพย์การลงทุน เป็นการขยายความกว้างของปริมาตรทางการเงินของเรา ปัจจุบันเรามีแหล่งความรู้ที่ทางหลากหลายมากอย่างเช่น เว็บไซต์ของทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(www.set.or.th) ก็เป็นแหล่งความรู้ที่มีมาตรฐานและทันสมัย ดังนั้นหากเราเพิ่มความรู้ของสินทรัพย์ให้หลากหลายแล้ว รู้จักพื้นฐาน รู้จักแยกแยะสินทรัพย์คุณภาพออกจากสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รู้จักการประเมินมูลค่า จะทำให้เรามั่นใจและส่งผลไปสู่การต่อยอดไปสู่มิติที่ 2 ต่อไป
- มิติด้านยาว : ในที่นี้หมายถึงการระยะเวลาของการถือครองสินทรัพย์นั้น มาถึงคำถามที่ว่า “การถือครองสินทรัพย์ระยะเวลาแค่ไหน?” เป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถามเมื่อถือครองสินทรัพย์ แต่คำตอบคงมีมากมายซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะถือครองสินทรัพย์นั้นด้วย แต่หากบอกว่าถือมา 10 วันแล้วบอกว่าถือยาว เราคงต้องกลับมาทบทวนกันอีกรอบ หากนำคำถามการถือครองสินทรัพย์ไปถามนักลงทุนระดับโลกอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ คำตอบที่ได้คือ ถือไปตลอดชีวิตตราบที่พื้นฐานกิจการไม่เปลี่ยน เบื้องหลังของคำตอบคือการรู้จักในสินทรัพย์ที่ต้องการถือเป็นสิ่งที่สำคัญ หากรู้จักสินทรัพย์อย่างดีพอแล้ว ระยะเวลาของการถือครองคงไม่สำคัญเพราะเราจะลืมไปว่าถือมาแล้วนานแค่ไหน แม้นระหว่างทางจะเกิดความผันผวนก็ตาม แต่สิ่งที่ควรทำไปด้วยในขณะที่ถือครองสินทรัพย์คือการติดตามสถานะการณ์ซึ่งปกติแนะนำว่าควรอยู่ที่ 6 เดือน หรือหากผันผวนมากสามารถเลื่อนขึ้นมาทบทวนให้ไวขึ้นได้
- มิติด้านสูง : ผลที่เกิดขึ้นเลยจากการที่เราขยายมิติด้านกว้างที่เรียนรู้เพิ่มเติมสินทรัพย์ที่หลากหลายมากขึ้นส่งผลให้เรามั่นใจเพิ่มขึ้น แต่หากว่าแค่ความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นมันคงไม่พอสำหรับการลงทุน หากเช่นนั้นแล้วคนที่อ่านอย่างเดียวคงประสบความสำเร็จทางการเงินไปแล้วมากมาย ความจริงที่ประกอบไปด้วยประสบการณ์จากการลงมือทำพร้อมกับเผชิญสิ่งที่ไม่คาดคิดทางเศรษฐกิจและการลงทุน แม้นมันจะมีความผันผวนแต่ก็คงต้องยอมรับความเสี่ยงบ้างเพื่อให้เพื่อรับผลตอบแทนโดยรวมที่มากขึ้น
เมื่อปริมาตรความรู้สินทรัพย์ของเราเพิ่มขึ้นทั้ง กว้าง,ยาวและสูง นั้นหมายถึงขอบเขตความรู้ได้ขยายกว้างขึ้น เพราะความรู้และประสบการณ์เป็นที่สำคัญในโลกของการเงินในยุคปัจจุบันเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการเงินที่เราต้องการ แต่การขยายขอบเขตความรู้ทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่พอสำหรับมนุษย์เงินรายวัน อีกสิ่งที่สำคัญคือ การตระหนักว่ารายได้ที่ได้รับมีความไม่แน่นอน ไม่สม่ำเสมอ การเก็บออมอาจต้องสูงถึง 20-30% ของรายได้ซึ่งต้องมากกว่ามนุษย์เงินเดือน
ไม่ว่าจะมนุษย์เงินเดือนหรือมนุษย์เงินรายวันก็ตาม ความสม่ำเสมอและความมีวินัยในเรื่องการจัดการทางการเงินเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเราไม่เชื่อว่ารายได้ไม่มีวันหมด
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th