บทความ: บริหารจัดการเงิน
เงินเท่าไหร่ถึงจะสุข
โดย วริศรา แสงอุไรพร นักวางแผนการเงิน CFP®
คุณคิดว่าคุณต้องมีเงินเท่าไหร่คุณถึงจะมีความสุข?
1 แสน? 1 ล้าน? 10 ล้าน? 100 ล้าน? 1,000 ล้าน? บางคนอาจตอบว่ายิ่งมีเงินมากก็ยิ่งสุขมาก ยิ่งถ้ามีมากถึงขนาดที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมดก็จะมีความสุขที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเรามีเงินมากจนถึงจุดหนึ่ง ไม่ว่าจะมีเงินเพิ่มขึ้นมากไปกว่านั้นอีกสักแค่ไหน เราก็ยังคงใช้ชีวิตในแบบที่เราใช้ และจำนวนเงินที่มีไม่ได้รับประกันความสุขที่เราจะได้ แต่แน่นอนว่าถ้าไม่มีเงินเลยก็คงจะทุกข์แน่นอน จำนวนเงินที่ทำให้มีความสุขไม่ได้เป็นจำนวนที่มากที่สุด เพียงแค่มากพอที่เราจะสามารถใช้ชีวิตในแบบที่เราอยากใช้ ได้ทานในสิ่งที่อยากทาน ทำในสิ่งที่อยากทำ ไปในที่ที่อยากไป สามารถดูแลตัวเองและคนที่เรารักให้ได้ก็พอ
คุณอาจเริ่มสงสัยว่าถ้าอย่างนั้นต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะมากพอที่จะมีความสุข แน่นอนว่าเงินที่มากพอสำหรับแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคน คนที่รับประทานอาหารนอกบ้านทุกวันย่อมต้องใช้เงินมากกว่าคนที่ทำอาหารทานเอง คนที่ชอบท่องเที่ยวต่างประเทศย่อมใช้เงินมากกว่าคนที่ไม่เที่ยวเลยหรือเที่ยวในประเทศ คนที่ส่งลูกเรียนต่างประเทศหรือโรงเรียนนานาชาติย่อมใช้เงินไม่เท่ากับคนที่ส่งลูกเรียนในประเทศ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะบอกได้ว่าต้องมีเงินเท่าไหร่คุณถึงจะมีความสุข คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าคุณมีเป้าหมายอะไรในชีวิตบ้าง และเป้าหมายแต่ละอย่างที่คุณมีต้องใช้เงินมากน้อยแค่ไหน เมื่อเราชัดเจนว่าเราต้องการอะไรในชีวิตบ้าง เราสามารถสร้างแผนการเพื่อทำให้ทุกเป้าหมายเป็นจริงได้
เพื่อมีเงินมากพอที่จะสร้างความสุขทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เราต้องชัดเจนว่าในชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนจากไปมีเรื่องอะไรบ้างที่เราต้องคำนึงถึงและต้องเตรียมเงินไว้ ซึ่งเป้าหมายของคนส่วนใหญ่จะมีดังต่อไปนี้
- มีเงินสำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่คุณตกงาน หรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น น้ำท่วม โรคระบาด เกิดอุบัติเหตุ หรืออื่นๆ ที่คุณไม่ได้คาดคิดแล้วต้องใช้เงินทันที อย่างน้อยคุณควรเตรียมเงินก้อนนี้ไว้สัก 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน นั่นคือ ถ้าคุณมีรายได้เดือนละ 20,000 คุณควรเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินไว้ 60,000 – 120,000 โดยเก็บไว้ในกองทุนรวมตลาดเงิน บัญชีออมทรัพย์ หรือเงินสด ที่มูลค่าไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อคุณต้องการใช้เงิน
- มีบ้านสักหลังหนึ่งที่ปลอดหนี้ บ้านในฝันของคุณหน้าตาเป็นอย่างไร ราคาเท่าไหร่ บ้านที่คุณซื้อควรอยู่ในราคาที่คุณผ่อนไหว เงินผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และผ่อนทุกสิ่งทุกอย่างควรรวมกันไม่เกินช่วง 35% - 45% ของรายได้ของคุณ เพื่อที่คุณจะมีความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาวได้โดยไม่ลำบาก
- มีรถสักคันหนึ่ง ซึ่งรถก็มีหลากหลายราคา ตั้งแต่หลักแสนกลางๆ ไปจนถึงหลักล้าน คุณอยากใช้รถยี่ห้อไหน ราคาเท่าไหร่ ต้องการจะซื้อในอีกกี่ปีข้างหน้า จะมีการซื้อหรือเปลี่ยนรถบ่อยแค่ไหน เราไม่ควรจะเปลี่ยนรถบ่อยเกินไป เพราะทันทีที่รถออกมาจากศูนย์ราคาก็ลดลงแล้ว ดังนั้นการใช้รถที่ยังมีสภาพดีต่อไปอีกสักพักหรือการใช้รถมือสองที่เพิ่งผ่านการใช้งานไม่นานก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
- ไปท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตา คุณอยากไปเที่ยวต่างประเทศหรือเที่ยวในประเทศ เที่ยวแบบหรูหราหรือประหยัด คุณมีงบประมาณในการท่องเที่ยวแต่ละครั้งหรือรวมทั้งปีเป็นเท่าไหร่
- ถ้ามีลูกต้องคำนึงถึงเรื่องค่าเล่าเรียนบุตร คุณต้องการให้ลูกศึกษาถึงระดับไหน ปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก คุณต้องการส่งลูกไปเรียนที่ไหน โรงเรียนรัฐบาลหรือเอกชน เรียนในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนเงินที่ต้องเตรียมแตกต่างกัน
- เงินเกษียณอายุที่จะทำให้คุณสามารถมีชีวิตได้อยากสุขสบายในยามที่คุณไม่ได้ทำงานแล้ว คุณอยากหยุดทำงานตอนอายุเท่าไหร่ คาดการณ์ว่าจะมีอายุยืนยาวแค่ไหน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการประมาณอายุที่เราจากไปไว้ให้ยาวนานที่สุดก็จะปลอดภัยมากที่สุด ถ้าเราจากไปก่อนก็ยังเหลือมรดกให้ลูกหลาน แต่ถ้าเราอยู่นานเกินเงินที่มีก็คงจะไม่ใช่เรื่องสนุกเท่าไหร่ ถึงตอนนั้นอายุมากแล้วอาจจะทำงานไม่ไหว จะพึ่งพาใครได้ไหมก็ไม่อาจรู้ได้ เมื่อยามเกษียณต้องใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ ควรมีส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้ในชีวิตประจำวันแต่ละเดือน รวมถึงเงินสำหรับการไปท่องเที่ยวในแต่ละปี เพราะในช่วงแรกที่เราเกษียณเรายังสามารถไปเที่ยวได้ และค่ารักษาพยาบาลในยามที่เราเจ็บป่วย ซึ่งตอนที่เราอายุมากขึ้นก็มักจะเจ็บป่วยบ่อยขึ้นเป็นธรรมดา ถึงเวลานั้นเราจะรักษาในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน โดยไม่ลืมคำนึงถึงเงินเฟ้อด้วยที่ทำให้ของอย่างเดิมมีราคาสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป สมัยเมื่อสัก 20 ปีก่อนตอนที่เรายังเป็นเด็ก ข้าวจานหนึ่งราคา 20-30 บาท แต่ในปัจจุบันอาหารจานเดิมกลับมีราคาเพิ่มขึ้นมาเป็น 50-60 บาท ซึ่งอาหารการกิน ของใช้ และค่ารักษาพยาบาลของเราก็จะแพงขึ้นตามเวลาที่เปลี่ยนไปเช่นกัน
- มีเงินดูแลคนหรือสิ่งที่เรารัก หลายคนอยากดูแลคนที่เขารักตลอดชั่วชีวิตของคนรักของเขา ไม่ว่าตัวเขาจะอยู่หรือไม่ก็ตาม คนที่เขารักก็ยังคงต้องสามารถอยู่ได้อย่างดีหรืออย่างน้อยก็ไม่แย่ไปกว่าเดิม ยังคงต้องการมีเงินส่งลูกให้เรียนจนจบ ต้องการสืบทอดมูลนิธิที่เขาดูแลให้คงอยู่ต่อไป หรือสืบทอดธุรกิจให้ยังอยู่ต่อไปแม้เขาจะไม่อยู่แล้วก็ตาม
- รับผิดชอบตนเองได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีหนี้สินคนส่วนใหญ่ก็อยากจะรับผิดชอบด้วยตัวเองไม่ต้องการให้เดือดร้อนคนอื่น ถ้าเจ็บป่วยก็อยากจะสามารถรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องไปหยิบยืมหรือกู้จากที่ไหน หรือถ้าเกิดทุพพลภาพไปก็ยังอยากที่จะพึ่งตัวเองได้ ถึงจะต้องให้คนอื่นช่วยดูแลร่างกาย แต่อย่างน้อยก็ไม่ลำบากเรื่องเงิน
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คุณอาจคิดว่าในชีวิตมีเรื่องที่ต้องเตรียมหลายเรื่อง แล้วถ้ายังเตรียมได้ไม่ครบตามนี้เราจะไม่สามารถมีความสุขได้หรือ ชีวิตก็เหมือนการเดินทาง ในช่วงเริ่มต้นหรือช่วงระหว่างการเดินทางไปสู่เป้าหมาย เราก็ยังสามารถมีความสุขและชื่นชมบรรยากาศระหว่างทางได้ แม้ในวันนี้เรายังเตรียมเงินไม่ครบสำหรับทุกเป้าหมาย เราก็สามารถมีความสุขได้ทันทีตั้งแต่ตอนนี้ ขอเพียงแค่เรารู้จักใช้ รู้จักออม แบ่งเงินไว้ใช้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต วางแผนและเก็บออมตั้งแต่วันนี้เพื่อที่เราจะมีความสุขทั้งในวันนี้และวันหน้า และเมื่อเรารู้ว่าเรากำลังอยู่ในลู่เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ถูกต้อง เราจะมีทั้งความสุขและความสงบในการเดินทาง และหากเรายังก้าวเดินอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายวันหนึ่งเราก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่เราตั้งใจที่จะมีเงินมากพอที่จะมีความสุข ได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราอยากใช้ และสามารถดูแลตัวเองและคนที่เรารักได้ในทุกสถานการณ์
แหล่งที่มา : E-Book เกษียณแบบ Well Done สุขแบบพอดี
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th