logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

เทคนิคบริหารเงินโบนัส

โดย ราชันย์ ตันติจินดา นักวางแผนการเงิน CFP®

โบนัส เงินก้อนโตที่ปีหนึ่งจะได้สักครั้ง เพื่อเป็นรางวัลให้กับการทำงานหนักมาทั้งปี แล้วเราจะบริหารเงินโบนัสที่ได้นี้อย่างไรดี ให้คุ้มกับความเหนื่อยล้าทั้งปีที่แลกมา

1) เปย์ ให้ตัวเอง
แบ่ง 10%-20%ของเงินโบนัส เพื่อเป็นรางวัลให้กับชีวิต เช่น ซื้อ Gadget ใหม่ ไปท่องเที่ยวต่างเมือง หรือทานอาหารหรูๆ สักมื้อ ก็เป็นการเติมพลังให้กับชีวิต ทำให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป รวมถึงช่วยกระชับความสัมพันธ์สมาชิกในครอบครัวด้วยการใช้เวลาร่วมกัน แต่ก็ไม่ควรเปย์มากเกินไปเพราะเป็นเงินส่วนที่ใช้แล้วหมดไป แม้ส่งผลดีต่อจิตใจ แต่ไม่ช่วยลดต้นทุนหรือทำให้เงินงอกเงยได้ในอนาคต

2) ลดหนี้ ที่มี
ลองเช็กหนี้สินที่มีอยู่ ว่ามีหนี้ไหนคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกบ้าง มียอดหนี้เหลืออยู่เท่าไร ถูกคิดอัตราดอกเบี้ยกี่ %ต่อปี พร้อมทั้งเรียงลำดับจากหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดและหนี้คงเหลือน้อยที่สุดก่อน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต หนี้บ้าน ฯลฯ

หากมีหนี้ไหนที่ดอกเบี้ยสูงกว่า 10%ต่อปี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต ฯลฯ ควรนำเงินโบนัสส่วนใหญ่ เช่น 50%-70%ของโบนัส ไปเร่งปิดหนี้ส่วนนี้ เพื่อลดต้นทุนดอกเบี้ยให้เหลือน้อยที่สุด ทำให้อนาคตสามารถเก็บเงินได้มากขึ้น

3) กันเงินไว้ ให้อุ่นใจ
การมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินช่วยให้อุ่นใจได้ว่าจะมีเงินไว้รองรับกับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด ทำให้สามารถใช้ชีวิตไว้อย่างสบายใจและโฟกัสกับการทำงานได้มากขึ้น รวมถึงยังเพิ่มความมั่นใจได้ว่าเงินเก็บส่วนที่เกินกว่าเงินสำรองนั้น สามารถนำไปลงทุนในทางเลือกที่มีพันธะด้านระยะเวลาลงทุน เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุน Term Fund หรือมีความเสี่ยงที่มากขึ้นได้ เช่น กองทุนผสม หุ้น กองทุนหุ้น รวมถึงกองทุน SSF/RMF ฯลฯ

เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่ดี ควรมีจำนวนให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 6 เดือน ในทางเลือกที่พร้อมถอนหรือนำออกมาใช้จ่ายได้ทันเวลา เช่น เงินฝากที่โอนเงินผ่านมือถือ ถอนผ่านตู้ ATM/สาขาธนาคารได้ทันที หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ขายคืนและได้รับเงินคืนภายใน 1 วันทำการถัดจากวันที่ขายคืน ฯลฯ โดยปัจจุบันทางเลือกเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่น่าจะตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ คือ เงินฝาก e-Savings ที่หลายธนาคารให้ดอกเบี้ยสูงถึง 1.5%ต่อปี ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนที่ผ่านมาของกองทุนตราสารหนี้หลายกองทุน ทั้งยังมีความเสี่ยงต่ำกว่าและมีความคล่องตัวในการถอนหรือโอนมากกว่าด้วย

4) ทยอยสร้าง Passive Income
แหล่งรายได้ที่มั่นคงโดยไม่ต้องออกแรงทำงาน เริ่มต้นได้ไม่ยาก แต่หากจะให้มีจำนวนเพียงพอกับการใช้จ่ายโดยเฉพาะช่วงหลังเกษียณอายุ คงไม่สามารถทำได้ทันทีแต่สามารถทยอยเริ่มได้ทีละน้อยและสะสมจนเพียงพอกับการใช้จ่ายในที่สุด ตัวอย่างเช่น การสร้าง Passive Income ด้วยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่จ่ายเบี้ยสั้นๆ เช่น 5 ปี สามารถเริ่มต้นด้วยการแบ่งเงินโบนัสส่วนหนึ่ง อาจจะสัก 50,000 บาท เพื่อเตรียมเป็นเบี้ยประกันบำนาญปีละ 10,000 บาท แล้วหากปีหน้าได้รับเงินโบนัสอีกก็แบ่งเงินเพื่อเป็นเบี้ยประกันบำนาญฉบับต่อๆ ไปได้ โดยใม่ต้องกังวลว่าจะมีเงินเป็นค่าเบี้ยประกันปีต่ออายุหรือไม่ โดยเงินบำนาญรวมที่จะได้รับตอนเกษียณ ก็มีโอกาสที่จะเพียงพอกับการใช้จ่ายได้ในที่สุด

นอกจากประกันบำนาญแล้ว ยังมีทางเลือกในการสร้าง Passive Income อื่นอีก เช่น พันธบัตร/หุ้นกู้ ที่หากทยอยลงทุนจากเงินโบนัสที่ได้รับในแต่ละปี รวมถึงนำดอกเบี้ยและเงินครบกำหนดที่ได้รับจากเงินลงทุนแต่ละก้อนไปลงทุนต่อใน พันธบัตร/หุ้นกู้ ที่ออกใหม่เรื่อยๆ ก็ช่วยให้มี Passive Income มากขึ้นได้ในอนาคต หรือหากสะสมไว้หลายปีจนมากพอที่จะนำไปลงทุนคอนโดด้วยเงินสดเพื่อปล่อยเช่า ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำได้เช่นกัน

5) ลงทุน ให้งอกเงย
การลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยจำเป็นต้องลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยง แต่หลายคนยังกังวลกับความเสี่ยงนั้น จึงเลือกที่จะเก็บเงินหรือลงทุนในทางเลือกความเสี่ยงต่ำที่เน้นความปลอดภัยของเงินต้น อย่างไรก็ตามเงินโบนัสเป็นเงินที่ได้มาปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินที่แบ่งจากเงินโบนัสเพื่อนำไปลงทุน จึงสามารถเป็นเงินที่รับความเสี่ยงได้สูงกว่าเงินเก็บส่วนอื่น
โดยอาจแบ่ง 10%-30%ของเงินโบนัส ไปลงทุนในกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้น ในภูมิภาคหรือธีมการลงทุนที่ชื่นชอบ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือเลือกลงทุนในกองทุน SSF/RMF ที่เป็นกองทุนหุ้น/ผสม เพื่อผลประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมได้

เงินโบนัส ถือว่าเป็นรางวัลตอบแทนจากการทำงานด้วยความเหนื่อยล้ามาทั้งปี ที่ต้องจัดสรรให้ดีเพื่อเป็นรางวัลให้กับตนเองด้วยเทคนิคการบริหารที่เหนือล้ำเพื่อให้มีเงินมากขึ้นได้ในอนาคต

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th