บทความ: ภาษีและมรดก
จะวางแผนมรดกเริ่มต้นอย่างไรดี
โดย ณัฐลักษณ์ กาญจนวิโรจน์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
หลายคนเมื่อพูดถึงการวางแผนมรดกจะจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่แน่ใจว่าอะไรคือการวางแผนมรดก เราจำเป็นต้องวางแผนหรือไม่ และต้องวางแผนในส่วนไหนบ้าง เลยอยากจะชวนเริ่มต้นโดยการลองคิดก่อนว่าหากเราตายไปโดยไม่มีการวางแผนมรดกอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าในส่วนไหนที่เราสามารถเตรียมไว้ก่อนได้ และจะเป็นประโยชน์กว่าปล่อยให้คนอื่นมาทำแทนเรา
สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อใครคนหนึ่งจากไปและไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า
1. บุคคลที่จากไปจะกลายเป็นเจ้ามรดก
2. ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอต่อศาลให้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดก
3. ผู้จัดการมรดกจะทำหน้าที่รวบรวมสินทรัพย์และชำระหนี้สินทั้งหมดของผู้ตาย เพื่อนำส่วนที่เหลือไปแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม
4. ทายาทที่ได้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาทจะต้องเสียภาษีมรดกตามเกณฑ์ที่กฏหมายกำหนด
จากกระบวนการข้างบนนี้ เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เราต้องเตรียมและวางแผนทั้งหมดจะมีดังนี้
1. รวบรวมสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดที่เป็นของเรา
2. จัดทำพินัยกรรม กำหนดผู้รับพินัยกรรม
3. กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้จัดการมรดก
4. วางแผนเรื่องภาษีมรดก
ในบางครอบครัวที่ไม่ซับซ้อนมีเพียงพ่อแม่ลูก ทรัพย์สินก็ไม่เยอะ ญาตพี่น้องก็ไม่ค่อยมี อาจจะมองว่าไม่จำเป็นต้องวางแผนมรดก เพราะถ้าพ่อหรือแม่ตายก็ให้คนที่เหลือในครอบครัวเป็นผู้จัดการมรดก และทรัพย์สินหนี้สินก็ไม่ได้เยอะจนต้องรวบรวมอะไรมาก นอกไปจากนั้นการปล่อยให้ผู้รับมรดกเป็นทายาทโดยธรรมไปเลยก็ไม่ได้ติดขัดแต่อย่างใด ภาษีมรดกก็คงไม่มีใครต้องเสีย แต่ในความเป็นจริง เราก็ไม่อาจทราบได้ว่าใครจะตายก่อนใคร ลำดับการตายก่อนหลังแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อการจัดลำดับของทายาทโดยธรรม ดังนั้นจะดีจริงๆ หรือที่เราจะปล่อยให้กฎหมายมาเป็นคนกำหนดว่าใครจะเป็นผู้รับมรดก สู้เรากำหนดผู้รับมรดกเอง รวบรวมทรัพย์สินหนี้สินของตัวเราเองไว้ กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของเราไว้ล่วงหน้าก็จะทำให้กระบวนการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก และการจัดแบ่งกองมรดกเป็นไปอย่างราบรื่นและตรงวัตถุประสงค์ของเราที่สุด
แนวทางการวางแผนมรดกแบบเป็นขั้นตอน
1. จัดทำบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์หรือหนี้สิน รวมถึงระบุด้วยว่าปัจจุบันอยู่ในชื่อของใคร ได้มาก่อนแต่งหรือหลังแต่ง ถือเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว เพื่อที่จะได้นำมาคำนวณได้ถูกว่าในส่วนที่เป็นของเราจริงๆนั้นมีมูลค่ารวมอยู่ที่เท่าไหร่
2. เลือกแบบของพินัยกรรมที่ต้องการจะทำ โดยพินัยกรรมมีทั้งหมด 5 แบบดังนี้
- 1) แบบเขียนเองทั้งฉบับ
- 2) แบบธรรมดา
- 3) แบบเอกสารฝ่ายเมือง
- 4) แบบเอกสารลับ
- 5) แบบด้วยวาจา
ซึ่งแบบที่ได้รับความนิยมจะเป็นแบบเขียนเองทั้งฉบับและแบบธรรมดา เพราะสะดวกและไม่ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น แต่อย่างไรก็ดี การเขียนพินัยกรรมเอง ผู้เขียนจำเป็นต้องศึกษาวิธีการเขียนในแต่ละแบบให้ถูกต้อง เช่น แบบเขียนเองทั้งฉบับต้องเขียนด้วยลายมือ ห้ามพิมพ์ หรือแบบธรรมดาต้องมีพยานที่ไม่มีส่วนได้เสียอย่างน้อย 2 คน หากพินัยกรรมฉบับใดไม่ทำให้ถูกต้องตามแบบ พินัยกรรมฉบับนั้นจะตกเป็นโมฆะและทำให้ไม่สามารถใช้บังคับตามกฏหมายได้
3. กำหนดผู้ที่จะมาเป็นผู้จัดการมรดก ระบุผู้รับพินัยกรรมในแต่ละทรัพย์สินต่างๆที่เหลือจากการชำระหนี้แล้ว
4. คำนวณภาษีมรดกที่ผู้รับพินัยกรรมแต่ละคนจะได้รับ โดยตามกฎหมายภาษีมรดก ผู้ที่ได้รับมรดกที่มีมูลค่าสุทธิเกิน 100 ล้านบาท จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก โดยในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทจะต้องเสียภาษีตามเงื่อนไขที่สรรพากรวางไว้
อย่างไรก็ดีหากเรามีความรู้เกี่ยวกับมรดกที่ต้องเสียภาษี เราอาจจะวางแผนการเสียภาษีมรดกไว้ล่วงหน้าได้ โดยอาจจะ
- 1) จัดสรรเงินสดเพื่อเตรียมจ่ายภาษีให้กับทายาทที่ต้องเสียภาษีมรดก
- 2) เลือกเก็บสินทรัพย์ในรูปแบบที่ไม่ต้องเสียภาษีมรดก อาทิเช่น ประกันชีวิต เครื่องประดับ ทองคำ
จะเห็นได้ว่าหากมีความเข้าใจในกระบวนการที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่คนคนหนึ่งได้จากไปแล้ว การวางแผนมรดกก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป และก็ทำให้เกิดประโยชน์ในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการที่มีประสิทธิภาพและตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ที่จากไป รวมถึงลดภาระให้กับผู้รับมรดกและช่วยปกป้องมูลค่าของสินทรัพย์ที่จะหายไปจากภาษีมรดกอีกด้วย
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th