logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

การประหยัดภาษีด้วยประกันบำนาญ

โดย ณภัชชา พงศ์วัฒนกิจกุล นักวางแผนการเงิน CFP®

ก่อนนำเบี้ยประกันบำนาญมาใช้ลดหย่อนภาษี เราต้องรู้เงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อนก่อน ซึ่งมีด้วยกัน 5 ข้อ คือ

1. เบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป หรือประกันชีวิตแบบมีความคุ้มครองชีวิตที่กำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป  ใช้ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงได้และสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และประกันสุขภาพตามเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนดที่ไม่เกิน 25,000 บาท ทั้งนี้ประกันชีวิตแบบทั่วไปและประกันสุขภาพใช้ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงและได้รวมกันได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

2. เบี้ยประกันบำนาญ (แบบลดหย่อนภาษีได้) ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท และไม่เกิน 15% ของเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษี ซึ่งเงินก้อนนี้เมื่อนำไปรวมกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมกันต้องไม่เกิน 500,000 บาท

3. ถ้าใครที่ยังไม่มีประกันชีวิตแบบทั่วไป สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปหักลดหย่อนแทนเบี้ยประกันชีวิตได้ด้วย ก็แปลว่าเราจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วยประกันบำนาญอย่างเดียวได้สูงสุดถึง 300,000 บาท ทำให้เราเสียภาษีน้อยลง หรืออาจจะได้เงินคืนจากภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้วกลับมา

4. ถ้าใครมีประกันชีวิตแบบทั่วไปแล้ว แต่ยังไม่เต็ม 100,000 บาทแรก สามารถใช้เบี้ยประกันบำนาญไปรวมสิทธิ์ลดหย่อนในส่วนของโควต้าเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ครบ 100,000 ก่อนแล้วค่อยนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญมาลดหย่อนในส่วนที่เหลือได้

5. กรณีมีคู่สมรส และทั้งคู่เป็นผู้ชำระเบี้ยสามารถแยกยื่นภาษีในส่วนของเบี้ยประกันชีวิตของประกันแบบบำนาญ เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนในส่วนของตนเองได้ สูงสุดคนละ 200,000 บาท

วิธีคำนวณลดหย่อนภาษีของประกันบำนาญ

ตัวอย่าง

สมมติว่า ถ้าปีนี้เรามีรายได้ 3,500,000 บาท ซื้อประกันชีวิตแบบทั่วไปปีละ 50,000 บาท ซื้อหน่วยลงทุน RMF ไว้ 300,000 บาท และไม่มีเงินจากส่วนอื่นไปหักลดหย่อนในวงเงิน 500,000 นี้ เราควรจะซื้อประกันชีวิตบำนาญแบบลดหย่อนภาษีได้โดยชำระเบี้ยประกันปีละเท่าไหร่ จึงจะสามารถใช้สิทธิได้เต็มจำนวน และจะประหยัดภาษีไปได้เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่

วิธีคิดแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน 

ขั้นที่ 1
ตรวจสอบสิทธิของประกันชีวิตปกติว่าถึง 100,000 บาทหรือยัง
ผลการคำนวณ 100,000 – ประกันปกติ 50,000 คือเหลือสิทธิลดหย่อนด้วยประกันบำนาญอีก 50,000 บาท  

ขั้นที่ 2
ตรวจสอบสิทธิของประกันชีวิตบำนาญรวมกับ 
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 
- กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน 
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) 
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) 
ทั้งหมดนี้รวมกันต้องไม่เกิน 500,000 ว่าเหลือสิทธิอีกเท่าไหร่
ผลการคำนวณ 500,000 – RMF 300,000 คือเหลือสิทธิลดหย่อนด้วยประกันบำนาญอีก 200,000 บาท

ขั้นที่ 3
ตรวจสอบสิทธิลดหย่อนประกันบำนาญไม่เกิน 15% ของเงินได้ (ไม่เกิน 200,000)
ผลการคำนวณ 3,500,000 x 15% คือมีเพดานสูงสุดไม่เกิน 525,000 บาท แต่จากขั้นที่ 1 และ 2 คำนวณเหลือสิทธิ 50,000 + 200,000 นั่นคือ เราจะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในโควต้าประกันบำนาญได้ไม่เกิน 250,000 บาท

ผลการคำนวณภาษีที่ประหยัด
ถ้าสมมติเราเสียภาษีอยู่ที่ขั้นภาษีที่อัตรา 15% ก็เท่ากับว่า เราจะสามารถประหยัดภาษีไปได้อย่างน้อย 250,000 x 15% = 37,500 บาทต่อปี

ตัวอย่างที่ 2
สมมติ ถ้าเรามีรายได้ทั้งปี 2,000,000 บาท แล้วเราซื้อประกันบำนาญไป 350,000 บาท โดยไม่เคยซื้อประกันชีวิตแบบทั่วไป ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ กองทุนรวม RMF เลย จะสามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีในโควต้าประกันบำนาญได้สูงสุดเท่าไหร่ และจะประหยัดภาษีไปได้เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่

ขั้นที่ 1
ตรวจสอบสิทธิของประกันชีวิตปกติว่าถึง 100,000 บาทหรือยัง
ผลการคำนวณ ยังไม่มี คือเหลือสิทธิลดหย่อนด้วยประกันบำนาญอีก 100,000 บาท

ขั้นที่ 2
ตรวจสอบสิทธิของประกันชีวิตบำนาญรวมกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งรวมกันต้องไม่เกิน 500,000 ว่าเหลือสิทธิอีกเท่าไหร่
ผลการคำนวณ 500,000 –0 คือเหลือสิทธิลดหย่อนด้วยประกันบำนาญอีก 200,000 บาท (สิทธิลดหย่อนสูงสุดคือไม่เกิน 200,000)

ขั้นที่ 3
ตรวจสอบสิทธิลดหย่อนประกันบำนาญไม่เกิน 15% ของเงินได้ (ไม่เกิน 200,000)
ผลการคำนวณ 2,000,000 x 15% = 300,000 บาท แต่เกิน 200,000 บาท
ดังนั้น ก็ใช้สิทธิ์ลดหย่อนประกันบำนาญได้ 200,000 บาท และใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในโควต้าประกันชีวิตแบบทั่วไปได้อีก 100,000 บาท รวม 300,000 บาท
แสดงว่าซื้อ 350,000 บาท แต่เอาไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ 300,000 บาท  

การคำนวณภาษีที่ประหยัดขึ้นกับฐานภาษีที่จ่าย เช่น
ถ้าเสียภาษีในขั้นอัตรา 15% ก็จะประหยัดภาษีไปได้ปีละ 300,000 x 15% = 45,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว

การซื้อเกินสิทธิ์ที่ใช้ลดหย่อนได้
การซื้อประกันชีวิตและประกันบำนาญ สามารถซื้อเกินสิทธิ์ได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความคุ้มครองชีวิต, สุขภาพ, ออมเงิน หรือเพื่อการวางแผนเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ โดยนำเบี้ยประกันไปใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีตามที่จำนวนไม่เกินที่สรรพากรกำหนด ส่วนที่ซื้อเกินสิทธิ์จะไม่ต้องยื่นภาษีหรือทำอะไร ต่างจากในกรณี SSF และ RMF ที่เมื่อซื้อเกินสิทธิ์จะต้องมีการยื่นภาษีของเงินได้ที่เป็นกำไรจากการขายกองทุน SSF หรือ RMF นั้นๆ

ประกันบำนาญนั้น นอกจากจะช่วยให้เราประหยัดภาษีแล้ว จุดประสงค์หลักคือการเก็บออมในวันนี้เพื่อมีเงินใช้ในวันเกษียณ ดังนั้นเมื่อทำประกันบำนาญแล้ว ขอให้มีวินัยในการเก็บออมและรอรับเงินบำนาญที่จ่ายคืนจากกรมธรรม์จนครบกำหนดสัญญา จะช่วยให้สิทธิ์การลดหย่อนภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องตามเงื่อนไข

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th