บทความ: ภาษีและมรดก
การส่งมอบทรัพย์สินของคู่ LGBTQIA+
โดย ณภัชชา พงศ์วัฒนกิจกุล นักวางแผนการเงิน CFP®
การยอมรับในความหลากหลายทางเพศกำลังเป็นประเด็นที่สำคัญ
Pride Month
ในเดือนมิถุนายนของทุกปี เป็นเดือนที่เรียกว่า Pride Month คือเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง LGBTQIA+ (Lesbian, Gay, Bisexual, Trans Queer Intersex Asexual Plus) และการสนับสนุนความเท่าเทียมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะมีการประดับประดาธงสีรุ้ง ที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQIA+ ตามอาคารบ้านเรือนและมีการเดินพาเหรดที่เรียกว่า Pride Parades เพื่อสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQIA+
การจดทะเบียนสมรส
ในประเทศไทยกฎหมายการจดทะเบียนสมรสรองรับเฉพาะคู่ชายหญิงเท่านั้น ส่วนการจดทะเบียนในรูปแบบอื่นๆ กำลังจะมีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมซึ่งจะต้องติดตามต่อไป
ปัญหาจากการจดทะเบียนสมรสไม่ได้
เมื่อมีการใช้ชีวิตด้วยกันก็จะมีการสร้างทรัพย์สมบัติร่วมกัน ยิ่งเปิดบริษัทร่วมกัน เรื่องเงินก็ยิ่งต้องวางแผน ถ้าใครคนหนึ่งเป็นอะไรไป ปัญหาอาจเกิดตามมา รวมทั้งกรณีเจ็บไข้ได้ป่วยที่ต้องมีผู้เซ็นยินยอมในการรักษา จึงเห็นควรหาทางให้มีกฎหมายเพื่อคู่รักหลากเพศสามารถรับสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นคู่ชีวิต รวมทั้งสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สินยามมีชีวิตอยู่และการส่งมอบทรัพย์สินเมื่อยามจากไป
การยื่นขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน
ถึงแม้จะไม่สามารถจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฏหมายได้ แต่ปัจจุบันมีหลายสถาบันการเงินยอมให้เพศเดียวหรือสามีภรรยาที่ไม่จดทะเบียนกันสามารถกู้ร่วมกันได้ โดยบางแห่งที่เปิดรับให้คู่รักเพศเดียวกันยื่นกู้ร่วมได้ อาจใช้หลักฐานการอยู่ร่วมกันแทนทะเบียนสมรส เช่น บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน เอกสารค่าใช้จ่ายที่ระบุที่อยู่เดียวกัน การจดทะเบียนบริษัทร่วมกัน โดยการกู้ให้ยื่นกู้ร่วมแบบถือกรรมสิทธิ์ร่วมได้
ผู้รับผลประโยชน์ในประกันชีวิต
ถึงแม้ตามกฎหมายจะไม่ถือว่าคู่รัก LGBTQIA+ เป็นคู่สมรส แต่ในหลายๆบริษัทก็ให้สิทธิ์ในการเป็นคู่ชีวิต เช่น บริษัทประกันชีวิตบางแห่งสามารถระบุว่าเป็นคู่ชีวิตและให้เป็นผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิตได้โดยไม่ต้องยื่นเอกสารยืนยันความสัมพันธ์อื่น เช่น ไม่ต้องมีทะเบียนบ้านหรือเปิดบัญชีธนาคารร่วมกัน การส่งมอบทรัพย์สินผ่านประกันชีวิตจึงเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายวิธีหนึ่ง ทั้งนี้การส่งมอบทรัพย์สินผ่านกรมธรรม์ประกันชีวิตนั้น สินไหมมรณกรรมจะไม่ถือว่าเป็นทรัพย์มรดก จึงไม่ต้องผ่านผู้จัดการมรดก และไม่ต้องเสียภาษีมรดก หลังจากที่เสียชีวิต จะมีการส่งมอบทรัพย์สินผ่านสินไหมมรณกรรมให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุชื่อไว้ได้อย่างรวดเร็วกว่าการส่งมอบผ่านพินัยกรรม ลดปัญหาเรื่องการแบ่งมรดกและความล่าช้าจากขั้นตอนต่างๆ เช่น การร้องศาล หรือ การผ่านผู้จัดการมรดก รวมทั้งภาระด้านภาษี
การทำพินัยกรรม
แบบแรก พินัยกรรมที่เขียนเองด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ จำเป็นจะต้องมีวันที่ หากไม่ระบุวันที่ถือเป็นโมฆะ และหากมีรอยแก้ไขต้องเซ็นกำกับพร้อมลงวันที่ที่แก้ไขเสมอ แบบนี้ไม่ต้องมีพยานแต่ควรมีผู้รับรู้ มิฉะนั้นเมื่อเสียชีวิต หากไม่มีคนพบพินัยกรรมก็มีค่าเท่ากับไม่มีการทำพินัยกรรม ทรัพย์สินก็ไม่อาจถึงมือคู่ชีวิต
แบบที่ 2 พินัยกรรมที่ทำโดยมีต้องมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คน อาจทำเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา เป็นเอกสารฝ่ายเมือง เป็นเอกสารลับหรือเป็นพินัยกรรมที่ทำด้วยวาจาก็ได้ แบบนี้ข้อควรระวังก็คือ คู่ชีวิตที่จะให้รับมรดกต้องไม่เซ็นเป็นพยาน เพราะคนที่เป็นพยานจะไม่มีสิทธิ์ในการรับมรดก
แบบที่ 3 พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง แบบนี้ไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ เต่จะต้องทำแบบมีผู้อื่นรับรู้ด้วยโดยไปที่ทำที่อำเภอหรือที่สำนักงานเขต ต้องมีพยานรับรู้อีก 2 คนไปพร้อมกัน โดยแจ้งความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่จดบันทึกแล้วอ่านทวนให้ทั้งผู้ทำพินัยกรรมและพยาน 2 คนฟัง หากถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ ก็ลงลายมือชื่อพร้อมพยานทั้ง 2 คน แล้วเจ้าหน้าที่จะลงลายมือชื่อและประทับตราประจำตำแหน่ง พร้อมปิดผนึกฝากไว้ที่ที่ว่าการอำเภอนั้น ๆ และภายหลังหากต้องการแก้ไขก็สามารถไปติดต่อเพื่อทำการแก้ไขพร้อมพยาน 2 คนได้ โดยทุกครั้งที่แก้ไขต้องมีผู้เซ็นรับรองทั้งหมด 4 คนคือผู้ทำพินัยกรรม เจ้าหน้าที่ และพยาน 2 คน
บทสรุป
จะเห็นว่า ถึงแม้ปัจจุบันกฏหมายจะยังไม่รองรับให้คู่ชีวิต LGBTQIA+ มีสิทธิ์เท่ากับคู่สมรสจดทะเบียน แต่เราก็สามารถส่งมอบทรัพย์สินด้วยการทำพินัยกรรมและทำประกันชีวิตแบบระบุคู่ชีวิตเป็นผู้รับผลประโยชน์ได้ และหวังว่าการรณรงค์ผลักดัน พรบ.สมรสเท่าเทียมเข้าสู่สภา เพื่อให้คู่ชีวิตจากหลากหลายเพศสภาพ มีความเท่าเทียมกับคู่หญิงชายในทุกๆด้าน จะสัมฤทธิ์ผลในเร็ววัน เพื่อให้ทุกคนได้มีความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง โดยในระหว่างนี้ ประเด็นปัญหาที่ไม่สามารถส่งต่อทรัพย์สินต่อกันได้ ทางแก้ที่ทำได้ในปัจจุบัน ก็คือการทำพินัยกรรมและประกันชีวิต
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th