logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

4 เช็กลิสต์วางแผนภาษีเพื่อคุณหมอโดยเฉพาะ

โดย จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ นักวางแผนการเงิน CFP®

ธุรกิจเพื่อสุขภาพที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของแพทย์ และคุณภาพของบริการเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเงิน และต้นทุนธุรกิจที่ถูกต้องเหมาะสม การวางแผนภาษีก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เจ้าของธุรกิจต้องใส่ใจ หากคุณหมอท่านใดตั้งใจจะเปิดคลินิก แต่ยังไม่รู้ว่าจะวางแผนภาษีอย่างไรให้ถูกต้อง เราจะพาไปรู้จักกับ 4 เช็กลิสต์ที่จะทำให้การจัดการเรื่องภาษีเป็นเรื่องง่ายกัน

1. เช็กหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ‘สถานพยาบาล’ กันก่อน
การพิจารณายื่นเปิดเป็นสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 จะส่งผลต่อการวางแผนภาษีในอนาคตได้ 2 กรณี

  • หากขึ้นเป็นสถานพยาบาลอย่างถูกต้อง ธุรกิจได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้

  • หากไม่ได้รับอนุญาต หรือ ไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ธุรกิจยังต้องเสีย VAT เนื่องจากรายได้จากธุรกิจถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

นอกจากนี้ การเปิดสถานพยาบาลยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภท โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขในการขออนุญาตที่แตกต่างกัน ประกอบไปด้วย

  • สถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด และคลินิกแพทย์แผนไทย เป็นต้น

  • สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยค้างคืน เช่น โรงพยาบาล สถานพยาบาลและการบำรุงครรภ์ที่สามารถคลอดลูกได้ เป็นต้น ซึ่งสถานพยาบาลประเภทนี้จะมีการกำหนดสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพกับจำนวนเตียงเอาไว้

2. เช็กเงินได้ของแพทย์
ไม่เพียงแต่จะต้องพิจารณาการขออนุญาตประกอบกิจการเป็นสถานพยาบาลเท่านั้น แต่การวางแผนภาษีสำหรับธุรกิจสุขภาพยังต้องพิจารณาถึงเงินได้ของแพทย์ผู้เป็นเจ้าของกิจการด้วย จะช่วยทำให้สามารถวางแผนการหักค่าใช้จ่ายและการลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้อง ซึ่งโดยทั่วไปเงินได้ตามกฎหมายมี 8 ประเภท แต่เงินได้ของแพทย์จะมีด้วยกัน 4 ประเภท ซึ่งจะประกอบไปด้วย

  • เงินได้ประเภทที่ 1 : เงินได้จากสัญญาจ้างแรงงาน
    เงินได้ส่วนนี้จะเป็นเงินที่แพทย์ได้รับจากโรงพยาบาลที่ทำงานประจำ ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) ซึ่งจะรวมเงินเดือน เงินจากการขึ้นเวร และค่า OT จากการทำงาน แพทย์สามารถนำเงินได้ไปหักค่าใช้จ่าย 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท 

  • เงินได้ประเภทที่ 2 : เงินได้ไม่ประจำ
    เงินส่วนนี้มักจะเป็นเงินจากการรับจ๊อบพิเศษต่างๆ เช่น การรับเข้าเวรจากโรงพยาบาลที่ไม่ได้ประจำ รวมไปถึงเงินที่ได้จากตำแหน่งและหน้าที่พิเศษ โดยเงินส่วนนี้จะถือเป็นเงินได้มาตรา 40 (2) สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาทเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายที่หักจากเงินได้ประเภทที่ 1

  • เงินได้ประเภทที่ 6 : เงินได้จากคลินิก หรือ สถานพยาบาลประเภทไม่มีเตียง
    เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) แพทย์สามารถเลือกหักค่าใช้ได้ 2 แบบ คือ หักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาคิดเป็นร้อยละ 60 

  • เงินได้ประเภทที่ 8 : เงินได้จากการเปิดสถานพยาบาลมีเตียง หรือ มีขายยาในคลินิก
    ถือเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจมาตรา 40 (8) แพทย์สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาร้อยละ 60 หรือสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้

3. เช็กประเภทในการประกอบกิจการ
การเลือกประเภทในการประกอบกิจการนี้จะส่งผลต่อการวางแผนภาษีในอนาคต ดังนี้

  • กรณีเลือกเปิดคลินิกในนามบุคคลธรรมดา
    เป็นการลงทุนคนเดียว หรือ ลงทุนร่วมกับบุคคลตั้งแต่ 2 คนในลักษณะของห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้มีการจดทะเบียน วิธีนี้ไม่ต้องทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี แต่เมื่อถึงเวลาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราสูงสุดที่ 35% คุณหมอจะต้องเก็บหลักฐานการเงินให้ครบถ้วน เช่น รายรับ - รายจ่ายเงินสด รวมถึงผลกำไรและขาดทุนจากคลินิก 

    รายได้จากคลินิกที่เปิดในนามบุคคลธรรมดาจะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) ได้รับการยกเว้น VAT ตามมาตรา 81 (1)(ฌ) และคุณหมอจะสามารถเลือกค่าใช้จ่ายแบบตามจริง หรือ แบบเหมาร้อยละ 60% ได้

  • กรณีเลือกเปิดคลินิกในนามของบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
    การเปิดคลินิกลักษณะนี้จะต้องมีการจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี ต้องมีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี

    การเปิดคลินิกลักษณะนี้จะได้รับการยกเว้น VAT และถือเป็นเงินได้ตามาตรา 40 (6) เช่นกัน อัตราภาษีสูงสุดจะอยู่ที่ 20% ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับรายได้ สินทรัพย์ทั้งหมด และแรงงานในกิจการ และเลือกหักค่าใช้จ่ายได้แบบตามจริงเท่านั้น 

4. เช็กวิธีวางแผนภาษีสำหรับแพทย์ที่ต้องการเปิดคลินิก คุณหมอทุกคนสามารถวางแผนภาษีเบื้องต้นด้วยตัวเองตาม 3 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : พิจารณาเงินได้ และ ทำรายการทั้งหมดเพื่อวางแผนหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนภาษี
จากความรู้เรื่องเงินได้ที่อธิบายไปข้างต้น เงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 สามารถหักค่าใช้จ่ายรวมกันได้สูงสุด 100,000 บาท และหากลองสังเกตเงินได้ประเภทที่ 6 และ 8 ดีๆ ก็จะพบว่า คุณหมอสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือ แบบเหมาร้อยละ 60 ได้ นั่นหมายความว่า หากคุณหมอสามารถเปลี่ยนเงินได้ประเภทที่ 1 หรือ 2 มาเป็นประเภทที่ 6 หรือ 8 ได้ คุณหมอก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้น 

ขั้นตอนที่ 2 : พิจารณาผลประกอบการและเสียภาษีตามที่ระบุไว้
คุณหมอจะต้องเลือกเสียภาษีให้ตรงกับประเภทในการประกอบกิจการ แต่นอกจากจะเสียภาษีแบบปกติแล้ว คุณหมอลองวางแผนภาษีเพิ่มโดยการพิจารณาผลขาดทุนสะสม 5 ปีร่วมด้วย เพราะผลประกอบการที่ขาดทุนสะสม 5 ปีสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แถมยังเป็นวิธีประหยัดภาษีที่ถูกกฎหมายที่หลายคนมักมองข้ามอีกด้วย

ขั้นตอนที่ 3 : พิจารณารายการลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไข
และขั้นตอนสุดท้าย คุณหมอก็สามารถทำรายการลดหย่อนภาษีตามรายการอื่นๆ ที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีส่วนบุคคลได้ เช่น ประกัน กองทุน การลงทุนอื่นๆ 

อย่างไรก็ดี การวางโครงสร้างภาษีสำหรับธุรกิจนั้นยังมีเรื่องที่ต้องพิจารณาอีกหลายปัจจัย เช่น การวางแผนภาษีจากการวางโครงสร้างเงินทุน การใช้สิทธิเครดิตทางภาษีสำหรับธุรกิจ รวมไปถึงวิธีการทำเอกสารทางการเงินอื่นๆ ที่มีเนื้อหาซับซ้อนและรายละเอียดมากมาย 

จะดีกว่าไหม? หากคุณจะมีเวลาเพื่อไปบริหารธุรกิจและดูแลคนไข้ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องมาเป็นกังวลกับเรื่องภาษีและการบริหารจัดการเงิน การมองหานักวางแผนการเงินที่ให้บริการวางแผนภาษีได้อย่างตรงจุดก็เป็นทางเลือกที่ดี

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th