logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

หากต้องจากไป จะส่งต่อทรัพย์สินอย่างไรไม่ให้ตกหล่น

โดย นิราวัลย์ ธรรมศิริเจริญ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™

สมมติว่าวันนี้เราเผลอหลับไป แล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เราสร้างและสะสมมา เช่น เงินสด ที่ดิน ธุรกิจ หุ้น เครื่องประดับ ของสะสม ฯลฯ จะตกไปอยู่กับใคร?

ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนผ่านจากทรัพย์สินไปเป็นมรดก มักจะมีบางส่วนที่หายไป เช่น ค่าใช้จ่ายในการถ่ายโอนทรัพย์สิน หากทรัพย์มรดกนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ต้องชำระภาษีก่อนที่จะส่งต่อให้กับผู้รับพินัยกรรมหรือทายาท ทั้งยังอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว เกิดความล่าช้า และทรัพย์สินอาจไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังบุคคลที่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของทรัพย์สิน หากไม่มีการวางแผนที่ดี

การตกทอดของมรดก ไม่ใช่มีเพียงแต่ทรัพย์สิน แต่ยังรวมถึงหนี้สินด้วย หากเจ้ามรดกมีหนี้สิน ก็ต้องนำหนี้สินมาหักออกจากทรัพย์สิน แล้วจึงส่งต่อให้กับผู้รับพินัยกรรม หรือ ทายาทโดยธรรมตามลำดับ

หากเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิต โดยไม่มีพินัยกรรม หรือไม่ได้มีการเตรียมการใดๆ ทรัพย์มรดกจะตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับ

มรดก ซึ่งมี 6 ลำดับดังนี้ (ป.พ.พ. 1629) 1. ผู้สืบสันดาน (บุตร หลาน เหลน) 2. บิดา มารดา 3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน 5. ปู่ ย่า ตา ยาย 6. ลุง ป้า น้า อา การรับมรดกจะเป็นไปตามลำดับก่อนหลัง ทายาทที่อยู่ลำดับถัดมาจะมีสิทธิได้รับมรดกต่อเมื่อไม่มีทายาทลำดับก่อนหน้า ตามหลัก “ญาติสนิทตัดญาติห่าง” ยกเว้นทายาทลำดับ 1 จะไม่ตัดทายาทลำดับที่ 2 แต่ถ้าเจ้ามรดกไม่เหลือใคร ทรัพย์มรดกจะตกเป็นของแผ่นดิน

กรณีเจ้ามรดกมีคู่สมรส จะมีการแบ่งแยกทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส เป็นสินส่วนตัว และสินสมรส โดยคู่สมรสจะได้รับส่วนแบ่ง 50% ของสินสมรสไปก่อน ส่วนแบ่งอีก 50% ของสินสมรส และสินส่วนตัวของเจ้ามรดก จะถือเป็นมรดกที่จะส่งต่อให้ผู้รับพินัยกรรม หรือทายาทตามลำดับ กรณีไม่มีทายาทเหลืออยู่เลย คู่สมรสจะได้รับมรดกทั้งหมด (ป.พ.พ. 1635)
โชคดีที่วันนี้เราได้ตื่นมาอีกครั้ง ถ้าเราไม่ต้องการให้ทรัพย์สินตกหล่น หรือตกไปยังคนที่ไม่ต้องการ ไม่อยากให้คนในครอบครัวทะเลาะกัน เรากำหนดได้ว่าจะให้ทรัพย์สินต่าง ๆ ไปอยู่กับใคร โดยการวางแผนการจัดการทรัพย์สิน หรือวางแผนมรดกไว้ล่วงหน้า

การจัดการทรัพย์สิน แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1) การจัดการทรัพย์สินขณะมีชีวิต : เจ้าของทรัพย์สินโอนหรือให้สิทธิในการใช้ทรัพย์สินของตนแก่บุคคลอื่น ในขณะที่ยังมีชีวิต
2) การจัดการมรดก : เจ้าของทรัพย์สินทำพินัยกรรมเพื่อจัดการทรัพย์สิน (มรดก) ของตน โดยให้มีผลหลังจากตนเสียชีวิตแล้ว กรณีที่มีพินัยกรรม กฎหมายให้แบ่งทรัพย์ที่กำหนดในพินัยกรรมให้ผู้รับพินัยกรรมก่อน หากมีทรัพย์ที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม จะแบ่งให้ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

การจัดการทรัพย์สินขณะมีชีวิต สามารถทำได้หลายรูปแบบ ดังนี้

1. การกระจายทรัพย์สินให้สมาชิกครอบครัว ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น

- การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่าง ๆ

- การให้สิทธิในการใช้หรือหาประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ เช่น
สิทธิอาศัย : ให้สิทธิพักอาศัยในโรงเรือน
สิทธิเหนือพื้นดิน : ให้สิทธิปลูกสร้างอสังหาริมทรัพย์บนที่ดิน
สิทธิเก็บกิน : ให้สิทธิในการใช้ ครอบครอง และถือเอาประโยชน์โดยไม่จำกัด

2. การจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อถือครองทรัพย์สิน เช่น บริษัทโฮลดิ้งที่ถือครองเงินทุน (Equity Holding Company) หรือ บริษัท โฮลดิ้งที่ถือครองตัวทรัพย์สิน (Asset Holding Company) ซึ่งเป็นการแยกทรัพย์สินของครอบครัวออกจากกิจการของครอบครัว เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหนี้ของบริษัทที่ประกอบกิจการบังคับชำระหนี้เอากับทรัพย์สินของครอบครัว ในขณะเดียวกัน หากสมาชิกครอบครัวก่อหนี้ส่วนตัว เจ้าหนี้ของสมาชิกครอบครัวก็ไม่สามารถเรียกร้องให้บริษัทที่ดำเนินกิจการของครอบครัวชำระหนี้ส่วนตัวของสมาชิกครอบครัวได้เช่นกัน และสามารถสร้างกฎระเบียบการบริหารจัดการทรัพย์สินผ่านข้อบังคับของบริษัทโฮลดิ้งได้ และอาจจะได้ประโยชน์ทางภาษีตามประมวลรัษฎากรด้วย

3. บริหารทรัพย์สินโดยใช้ธรรมนูญครอบครัว ธรรมนูญครอบครัว คือเอกสารที่ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของสมาชิกครอบครัว ซึ่งกำหนดหลักในการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ และการปฏิบัติตนต่อสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ และบุคคลภายนอก ธรรมนูญครอบครัวจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยกำหนดให้สมาชิกในครอบครัวปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับรูปแบบการจัดการทรัพย์สินที่เลือกไว้ได้

ขั้นตอนการวางแผนมรดก
1. รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เช่น เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ ตราสารทุน เงินลงทุนในกองทุนหรือหลักทรัพย์ เอกสารแสดงสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ กรมธรรม์ประกันชีวิต และทรัพย์สินอื่น ๆ พร้อมระบุประเภท ชนิด และจำนวน รวมทั้งหนี้สิน ภาระผูกพันต่าง ๆ

2. รวบรวมข้อมูลส่วนตัว เช่น บัญชีเครือญาติและผู้ที่อยู่ในความดูแล อาชีพ รายละเอียดของกิจการและโครงสร้างการถือหุ้น

3. เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการจัดการทรัพย์สินขณะมีชีวิตและการจัดการมรดก โดยคำนึงถึงข้อพิจารณาทางกฎหมาย ข้อพิจารณาทางภาษี และข้อพิจารณาอื่น ๆ

- ข้อพิจารณาทางกฎหมาย
การจัดการทรัพย์สินขณะมีชีวิต จะใช้สัญญาเป็นเครื่องมือจัดการ ที่จะมีผลบังคับทันที ซึ่งหากสัญญาเกิดสมบูรณ์แล้วจะแก้ไข เปลี่ยนแปลงได้ยาก การจัดการมรดก จะใช้พินัยกรรมเป็นเครื่องมือในการจัดการ และเกิดผลบังคับเมื่อเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิต ซึ่งแก้ไขได้ตลอดเวลาในขณะที่เจ้าของทรัพย์สินยังมีชีวิตอยู่

- ข้อพิจารณาทางภาษี
กรณีมีการให้หรือโอนทรัพย์สินในขณะที่ยังมีชีวิต ให้แก่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี หรือโอนให้บุคคลอื่น เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ผู้รับโอนทรัพย์สิน จะต้องเสียภาษีการรับให้ (Gift Tax) 5% กรณีมีการโอนมรดกหลังจากเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิต หากผู้รับโอนเป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะต้องเสียภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) 5% หรือหากผู้รับโอนเป็นบุคคลอื่น จะต้องเสียภาษีการรับมรดก 10% ของทรัพย์สินส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

- ข้อพิจารณาอื่น ๆ
ผลกระทบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัว หากมีการจัดการขณะมีชีวิต เจ้าของทรัพย์สินสามารถเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยได้ แต่หากมีผลกระทบหลังจากเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิตไปแล้ว ทายาทจะต้องตกลงกันเอง ผลกระทบเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินต่อไปในอนาคต หากผู้รับโอนยังเป็นผู้เยาว์ จะทำให้การจัดการทรัพย์สินยุ่งยาก เพราะการจัดการบางอย่างต้องขออนุญาตจากศาล

ณ วันนี้ ในขณะที่เรายังมีชีวิต เราสามารถเลือกได้ว่า ภาพฝันที่อยากให้เกิดขึ้นหลังจากที่เราจากไปเป็นอย่างไร ทรัพย์สินที่สร้างและสะสมมา ทำอย่างไรให้ไม่ตกหล่น และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ตามความต้องการ หากมีการวางแผนมรดก และส่งต่อทรัพย์สินอย่างเป็นระบบ

*อ้างอิงข้อมูลจาก CFP ชุดวิชาที่ 5 การวางแผนภาษีและมรดก

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th