logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

ประกันสุขภาพกับมนุษย์เงินเดือน

โดย ดร.กลางใจ แสงวิจิตร ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM

คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่า ถ้าคุณเป็นมนุษย์เงินเดือน แล้วคุณจะซื้อประกันสุขภาพไปทำไม การเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำให้คุณมีรายได้เป็นประจำทุกเดือน และคุณก็ยังมีประกันสังคมที่คุ้มครองคุณเมื่อคุณเจ็บป่วย อีกทั้งหลายบริษัทยังช่วยดูแลค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมให้คุณอีก หรือหากคุณรับข้าราชการ คุณจะมีสวัสดิการการรักษาพยาบาลจากกรมบัญชีกลางให้ความคุ้มครองคุณอยู่ แล้วทำไมคุณจะต้องมานั่งจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันสุขภาพแสนแพงทุกปี ทุกปีด้วย ทั้งๆ ที่สุขภาพก็แข็งแรง

ถ้าคุณถามตัวเองแบบนี้อยู่ในใจละก็ บทความนี้จะช่วยไขข้อข้องใจให้คุณได้

ประกันสุขภาพมีความสำคัญกับมนุษย์เงินเดือนอย่างคุณอย่างไร

  • 1. คุณเคยคิดหรือไม่ว่าสวัสดิการของคุณ มีการกำหนดวงเงินคงที่ ในขณะที่ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยเฉลี่ยของโรคมะเร็ง คือ 300,000 – 2,000,000 บาท โรคทางสมอง 100,000 – 800,000 บาท โรคหัวใจ 200,000 – 700,000 บาท เป็นต้น

  • 2. หากคุณอยู่ในองค์กรของรัฐ คุณจะมีสวัสดิการรักษาพยาบาลตลอดชีวิตของคุณ และญาติสายตรงของคุณ (คู่สมรส บิดา มารดา บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ) ก็จะได้รับความคุ้มครองตามอายุของคุณด้วย แต่ถ้าคุณทำงานในหน่วยงานเอกชนแล้ว สวัสดิการต่างๆ จะสิ้นสุดลงพร้อมกับสภาพการเป็นพนักงานของคุณ ซึ่งหมายถึงเมื่อเกษียณอายุหรือลาออกจากงาน
  • 3. สุขภาพคนเราเสื่อมลงตามวัย ไม่ว่าจะเป็นเพราะโรคที่เกิดขึ้นตามกรรมพันธุ์ หรือความเจ็บป่วยเพราะปัจจัยต่างๆ เช่น พฤติกรรมการบริโภค ความเครียด การออกกำลังกาย เป็นต้น
  • 4. การทำประกันสุขภาพ คือหนึ่งในวิธีที่ช่วยปกป้องความมั่งคั่ง หรือ wealth protection เนื่องจากเรื่องไม่คาดฝันเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน แต่หากคุณมีปัญหาสุขภาพแล้วประกันสุขภาพจะช่วยโอนความเสี่ยงโดยการชำระค่าใช้จ่ายส่วนที่เกินจากสวัสดิการของคุณ ซึ่งจะทำให้คุณไม่ต้องจ่ายเงินโดยที่คุณไม่ได้วางแผนไว้

เมื่อคุณอ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจจะกำลังคิดว่าไว้เกษียณค่อยซื้อประกันสุขภาพก็ได้ เป็นจริงอย่างที่คุณคิด ตอนนี้คุณยังมีสวัสดิการต่างๆ คุ้มครองอยู่ รอไว้เกษียณเมื่อมีอายุ 60 ปี ก็ยังซื้อทัน แต่คุณต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึง โรคภัยที่คุณอาจจะมีก่อนที่คุณมีอายุ 60 ปีด้วย เพราะถ้าคุณซื้อประกันตอนนี้มีโรคบางอย่างมาแล้ว ประกันสุขภาพที่คุณซื้อ นอกจากจะมีเบี้ยประกันภัยสูงตามอายุของคุณแล้ว ความคุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนและความเจ็บป่วยเกี่ยวเนื่อง ก็จะถูกยกเว้นไปด้วย นั่นหมายถึงประกันจะไม่คุ้มครองนั่นเอง เช่น หากวันนี้นางสาวกอไก่มีอายุ 35 ปี มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีประกันสุขภาพ อยู่มาวันหนึ่งเธอตรวจพบถุงน้ำในรังไข่และได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดด้วยสวัสดิการที่เธอมีอยู่ปัจจุบัน หมายความว่าเธอต้องรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง (กรณีนัดผ่าตัดล่วงหน้า) หรือโรงพยาบาลที่เธอมีสิทธิในการประกันตนอยู่

หากเธอใช้สิทธิประกันสังคม เธอจะมีค่าห้องและค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท ในขณะเดียวกันหากเธอเป็นข้าราชการ เธอจะมีสิทธิเบิกค่าห้องพิเศษได้วันละ 1,000 บาท แต่ค่าห้องพิเศษในปัจจุบันมีราคาเริ่มต้นประมาณ 1,500 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เธออาศัยอยู่ และขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่เธอเลือกเข้าไปรักษาทั้งนี้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังไม่รวมถึงค่าหัตถการ ค่ายา ค่าอุปกรณ์ ค่าหมอ และอื่นๆ ที่จำเป็น ท้ายที่สุดแล้วเธออาจจะต้องชำระเงินส่วนเกินบางส่วนก็ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเธอมีประวัติการเข้ารักษาพยาบาลแล้ว เธอตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพหลังจากเกษียณอายุ บริษัทประกันจะให้ความคุ้มครองเธอ อย่างมีเงื่อนไข ในกรณีตัวอย่างนี้ นางสาวกอไก่จะมีประกันสุขภาพที่มีเงื่อนไขว่าไม่ความคุ้มครองอาการและภาวะแทรกซ้อนจากเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ทันที จากตัวอย่างนี้ยังไม่รวมถึงโรคที่อาจจะเป็นก่อนเกษียณอายุของนางสาวกอไก่ เมื่อเธอมีอายุเพิ่มขึ้น อันได้แก่ ความดันโลหิต ไขมันในเลือด โรคไต เป็นต้น นอกจากนี้หากนางสาวกอไก่ซื้อประกันสุขภาพในวันนี้ตอนที่เธอมีอายุ 35 ปี จะทำให้เบี้ยประกันที่เธอต้องจ่ายอาจจะเริ่มต้นเพียงหมื่นต้น ๆ แต่หากเธอตั้งใจซื้อประกันสุขภาพเมื่อเกษียณอายุนั้น เธออาจจะต้องจ่ายเบี้ยประกันเริ่มต้นที่หลักแสนบาทเลยก็เป็นได้

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าการรอซื้อประกันสุขภาพเมื่อเกษียณอายุจะทำให้คุณเสียประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นข้อยกเว้นความคุ้มครองของโรคที่เป็นมาก่อนหน้า เบี้ยประกันเริ่มต้นที่สูงขึ้น รวมถึงสิทธิการลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพที่มีสิทธิลดหย่อนถึง 25,000 บาทต่อปีอีกด้วย

การเลือกซื้อประกันสุขภาพสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีสวัสดิการด้านสุขภาพอยู่แล้ว ควรเริ่มจากการพิจารณาโอกาสที่จะเกิดโรคที่มีทางพันธุกรรมของตัวคุณเอง ต่อจากนั้นคือการตรวจสอบงบประมาณที่คุณมีความสามารถในการชำระเบี้ยประกันได้ต่อปี แล้วนำมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณารูปแบบความคุ้มครองเบื้องต้นได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.) ประกันแบบเหมาจ่ายตามจริง คือประกันที่เราสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามค่ารักษาพยาบาลจริง โดยมีการกำหนดวงเงินความคุ้มครองต่อปีไว้ และ 2.) ประกันสุขภาพแบบแยกค่ารักษา คือประกันที่บริษัทประกันระบุรายการค่ารักษาพยาบาลและกำหนดวงเงินคุ้มครองสูงสูดไว้เป็นหมวดหมู่ ทั้งนี้คุณอาจจะแล้วมองหาประกันที่มีค่าใช้จ่ายที่คุณต้องรับผิดชอบส่วนแรก (deduct) โดยสามารถตัดความรับผิดชอบส่วนแรกของการรักษาพยาบาลแต่ละครั้งกับสวัสดิการที่คุณมีในปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันมีประกันสุขภาพที่คุณสามารถเลือกปรับความคุ้มครองได้ตามสวัสดิการที่คุณมีให้เลือกมากมาย เช่น เลือกแบบต้องรับผิดชอบส่วนแรกในปัจจุบันเมื่อยังมีสวัสดิการอยู่ แล้วเปลี่ยนเป็นแบบไม่ต้องรับผิดชอบส่วนแรกเมื่อคุณเกษียณอายุก็ได้ การเลือกประกันสุขภาพที่มี deduct นั้น จะทำให้คุณประหยัดเบี้ยประกันภัยต่อปีได้นั่นเอง

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th