logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

5 เทคนิคเลือกประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัย

โดย บุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®

จากข่าวตามสื่อต่างๆ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเกิดเหตุจากไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือภัยอื่นๆ อาจสร้างความกังวลใจให้กับเจ้าของที่อยู่อาศัยหลายท่าน เนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ทำให้ผู้เสียหายต้องสูญเสียเงินหลักแสนจนถึงหลักล้านบาทที่ต้องนำมาใช้ในการซ่อมแซมให้กลับมาเหมือนเดิมหรือสร้างที่อยู่อาศัยใหม่

ดังนั้น เพื่อความอุ่นใจและบรรเทาความสูญเสียจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้น การทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้น ด้วยการโอนความเสี่ยงจากค่าความเสียหายของเจ้าของที่อยู่อาศัยไปยังบริษัทประกันภัย แทนการรับความเสี่ยงด้านค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเต็มๆ 100% เพียงคนเดียว แต่ก่อนตัดสินใจเลือกทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ควรคำนึงถึงประเด็นเบื้องต้น ดังนี้

 

  •       1. ความคุ้มครองที่เจ้าของที่อยู่อาศัยต้องการ โดยทั่วไป การทำประกันอัคคีภัยมักจะรวม 6 ภัยหลักๆ ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า การระเบิด ภัยจากยานพาหนะหรือสัตว์พาหนะ (ช้าง ม้า วัว ควาย) ภัยจากอากาศยานหรือวัตถุที่ตกจากอากาศยาน และภัยอันเนื่องจากน้ำ นอกจากนี้ยังมีภัยอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากสถานที่ตั้งของที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม แม้ว่าโอกาสการเกิดภัยอาจไม่บ่อยหรือน้อยมาก แต่หากเกิดขึ้นค่าความเสียหายก็สูง เจ้าของที่อยู่อาศัยก็ควรเพิ่มความคุ้มครองในกรณีต่างๆ ด้วย เช่น ภัยน้ำท่วม ภัยลมพายุ ภัยแผ่นดินไหว ภัยโจรกรรม เป็นต้น

  •       2. ทรัพย์สินที่สามารถเอาประกันอัคคีภัยได้ ได้แก่ บ้าน ทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด ตึกแถวสำหรับที่อยู่อาศัย โรงรถ และอาคารย่อย เช่น เรือนคนรับใช้ เรือนครัว รวมทั้งกำแพง รั้ว ประตู ส่วนที่ปรับปรุงหรือต่อเติม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อการอยู่อาศัย ส่วนทรัพย์สินที่ไม่ได้รวมอยู่ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ยกเว้นว่าจะระบุไว้อย่างชัดเจน เช่น รากฐานของสิ่งปลูกสร้าง ทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ อัญมณี เอกสารสำคัญต่าง ๆ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานพาหนะ ต้นไม้ การจัดสวน สนามหญ้า เป็นต้น

  •       3. การคำนวณเงินทุนประกันอัคคีภัยที่เหมาะสม เจ้าของที่อยู่อาศัยจะต้องแยกราคาที่ดิน ราคาสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินภายในที่อยู่อาศัย เช่น ราคาที่ดิน 1,000,000 บาท ราคาสิ่งปลูกสร้างหรือตัวอาคาร 1,500,000 บาท (ไม่รวมฐานราก) และราคาทรัพย์สินภายในอาคารตกแต่งเพื่อการอยู่อาศัย 1,500,000 บาท ทุนประกันอัคคีภัยที่เหมาะสม คือ 3,000,000 บาท (1,500,000 บาท + 1,500,000 บาท) ถ้าเจ้าของที่อยู่อาศัยต้องการเพิ่มความคุ้มครองพิเศษในรายการอื่น ๆ ที่มีราคาสูงนอกเหนือจากทรัพย์สินภายในอาคารข้างต้น ก็ควรเก็บใบเสร็จหรือใบราคานั้นๆ เพื่อความสะดวกในการกำหนดวงเงินประกันและเคลม เช่น ตู้เย็น ทีวี อุปกรณ์กอล์ฟ จักรยานที่มีราคาสูง เป็นต้น

  •        4. การเคลมประกันอัคคีภัย บริษัทอาจจ่ายค่าสินไหมน้อยกว่า 100% ของมูลค่าความเสียหาย เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด เจ้าของที่อยู่อาศัยควรทำประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยที่ทุนประกันไม่ต่ำกว่า 70% ของมูลค่าทรัพย์สิน เช่น มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด 3,000,000 บาท ทุนประกันที่ 70 - 100% ของมูลค่าทรัพย์สิน คือ 2,100,000 – 3,000,000 บาท หากเกิดอัคคีภัยที่มีความเสียหายทั้งหมด บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็ม 100% ของจำนวนทุนที่ทำไว้ แต่ถ้าทำทุนประกันภัยต่ำกว่า 70% ของมูลค่าทรัพย์สิน เช่น ทุนประกันภัยที่ 60% ของมูลค่าทรัพย์สิน 3,000,000 บาท เมื่อเกิดอัคคีภัยและมีความเสียหายทั้งหมด เจ้าของที่อยู่อาศัยจะต้องรับค่าความเสียหายส่วนแรกเอง 1,200,000 บาท (40% x 3,000,000 = 1,200,000) และบริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหม 60% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ทำประกัน คือ 1,800,000 บาท (60% x 3,000,000 = 1,800,000) ดังนั้น จะได้รับค่าสินไหมเท่ากับ 1,080,000 บาท (60% x 1,800,000 = 1,080,000)

  •       นอกจากการทำทุนประกันภัยที่ควรทำมากกว่า 70% ของมูลค่าทรัพย์สินแล้ว เจ้าของที่อยู่อาศัยต้องทำความเข้าใจเรื่องค่าความรับผิดส่วนแรกของการเคลมประกันอัคคีภัยในแต่ละกรณีด้วย เช่น เจ้าของที่อยู่อาศัยมีทุนประกันภัยอันเนื่องมาจากน้ำ 200,000 บาท บริษัทประกันได้กำหนดค่าความรับผิดส่วนแรกในการเคลม 2,000 บาท ต่อเหตุการณ์ ถ้าที่อยู่อาศัยมีน้ำรั่วซึม มีการประเมินความเสียหายประมาณ 100,000 บาท เจ้าของบ้านสามารถเคลมได้สูงสุด 98,000 บาท (100,000 บาท – 2,000 บาท)

  •       5. การเลือกชำระเบี้ยตามจำนวนปีที่เพิ่มขึ้น เบี้ยประกันเฉลี่ยต่อปีลดลง เจ้าของที่อยู่อาศัยประหยัดเบี้ยประกันได้มากขึ้น กล่าวคือ การเลือกทำประกันภัย 2 ปี บริษัทจะคิดเบี้ยประกันภัย เท่ากับ 175% ของเบี้ยประกันภัย 1 ปี ถ้าเบี้ยประกันภัย 1 ปี 1,000 บาท เบี้ยประกันภัย 2 ปีจะอยู่ที่ 1,750 บาท เบี้ยเฉลี่ยต่อปี 875 บาท ทำให้ประหยัดเงินได้ 250 บาท ถ้าหากเลือกทำประกันภัย 3 ปี บริษัทจะคิดเบี้ยประกันภัย เท่ากับ 250% ของเบี้ยประกันภัย 1 ปี เบี้ยประกันภัย 3 ปีจะอยู่ที่ 2,500 บาท เบี้ยเฉลี่ยต่อปี 833.33 บาท ทำให้ประหยัดเงินได้ 500 บาท ที่ความคุ้มครองเท่าเดิม ทั้งนี้เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี มูลค่าทรัพย์สินอาจเปลี่ยนไปมีค่ามากขึ้น เจ้าของที่อยู่อาศัยจึงควรสำรวจทุนประกันภัยให้เหมาะสมกับมูลค่าทรัพย์สินด้วย

  •       ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการทำประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยมีความสำคัญไม่น้อย เพราะหากเกิดอัคคีภัยขึ้นจะทำให้มีค่าความเสียหายและค่าใช้จ่ายสูง จากเทคนิคข้างต้นจะช่วยเป็นแนวทางให้เจ้าของที่อยู่อาศัยเลือกทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยในเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยเลือกทำประกันอัคคีภัยหลักที่ตอบโจทย์เรื่องความเสียหายจากไฟไหม้ และเมื่อมีกำลังทรัพย์มากขึ้น มีห่วงภัยด้านต่าง ๆ มากขึ้น ก็สามารถขยายความคุ้มครองในปีถัด ๆ ไปได้ เพื่อจะได้ชำระเบี้ยประกันที่ไม่สูงจนเกินไป แต่ยังคงบรรเทาความเสียหายได้มาก
  •       ทั้งนี้ ไม่ว่าเจ้าของที่อยู่อาศัยจะมีที่อยู่อาศัยแห่งเดียวหรือหลายแห่ง ก็จะสามารถประมาณทุนประกันอัคคีภัยของที่อยู่อาศัยแต่ละแห่งได้อย่างเหมาะสม โดยเทียบราคาเบี้ยประกัน รายละเอียดความคุ้มครอง และเงื่อนไขของบริษัทประกันภัยแต่ละบริษัท เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากความคุ้มครองอย่างสูงสุด

 

ที่มา: www.setinvestnow.com, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th