logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

ทำประกันไฟไหม้บ้าน ได้ความคุ้มครองที่มากกว่าไฟไหม้

โดย วราญาณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวางแผนการเงิน CFP®

ประกันบ้าน ประกันไฟไหม้บ้าน หรือชื่อทางภาษาประกันคือ “การประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย” ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าประกันอัคคีภัย แต่ความคุ้มครองที่ได้มีมากกว่าชื่อ ซึ่งมีถึง 6 ภัยหลักด้วยกัน และภัยต่างๆ 6 ภัยนี้จะได้รับทุนประกันเท่ากับจำนวนเงินที่ทำเอาไว้ เช่น หากทำทุนเอาไว้ 5 ล้านบาท ทุนประกันของภัยทั้ง 6 ชนิดนี้ก็จะมีวงเงินความคุ้มครองอย่างละ 5 ล้าน 6 ภัยหลักที่ว่านึ้คือ

  • 1. ภัยจากไฟไหม้

  • 2. ภัยจากฟ้าผ่า (รวมถึงความเสียหายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดจากการลัดวงจรจากฟ้าผ่า)

  • 3. ภัยจากระเบิด

  • 4. ภัยจากการเฉี่ยว หรือการชน จากยวดยานพาหนะของบุคคลภายนอก

  • 5. ภัยจากอากาศยาน

  • 6. ภัยเนื่องจากน้ำ (ไม่รวมน้ำท่วม) ภัยจากน้ำที่เกิดขึ้นจากการรั่วไหลของน้ำ จากท่อน้ำ รวมถึงน้ำฝนที่สาดเข้ามาภายในบ้าน แต่จะยกเว้นไม่คุ้มครองกรณีภัยจากน้ำท่วม การแตกหรือรั่วไหลของน้ำจากระบบท่อประปา ใต้ดิน ระบบดับเพลิง


  •  

หากเปรียบประกันบ้านเหมือนไอติม ไอติมที่สามารถเติมท้อปปิ้งได้ ตัวไอติมเหมือนกับ 6 ภัยหลักที่ให้ความคุ้มครองเป็นพื้นฐาน ถ้าอยากกินไอดิมที่อร่อยขึ้นก็ใส่ท้อปปิ้งเข้าไป ประกันบ้านก็เช่นกัน ถ้าต้องการความคุ้มครองที่หลากหลาย ก็ใส่ท้อปปิ้งเข้าไปในตัวพื้นฐาน เรียกว่าซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติม

ซึ่งมีทั้งแบบที่ตัวผู้ซื้อสามารถเลือกชนิดและกำหนดความคุ้มครองเองได้ หรือส่วนใหญ่จะเป็นแบบที่จัดมาเป็นแพคเกจจากบริษัทประกันเลย ซึ่งอาจต้องเปรียบเทียบกันให้ดีว่าอะไรเหมาะสมกับเรามากว่า

ความคุ้มครองเพิ่มเติมนี้ ที่พบเห็นขายกันอยู่ มีกว่า 20 ชนิด แล้วแต่แต่ละบริษัทจะเปิดรับประกัน เพื่อให้เห็นภาพอย่างง่ายจะจัดกลุ่มดังนี้

ความคุ้มครองเพิ่มเติม กลุ่มภัยธรรมธรรมชาติ เช่น ภัยลมพายุ ภัยลูกเห็บ ภัยน้ำท่วม ภัยเนื่องจากแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือคลื่นใต้น้ำ/สึนามิ ฯลฯ

ความคุ้มครองเพิ่มเติม กลุ่มภัยอื่นๆ จากภายนอก เช่น ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยระอุ ภัยจากควัน ภัยทางอากาศ ภัยน้ำท่วม ภัยจลาจลและนัดหยุดงาน ภัยเนื่องจากการกระทำป่าเถื่อนและเจตนาร้าย ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า ประกันกระจก ประกันโจรกรรม ฯลฯ

ความคุ้มครองเพิ่มเติม กลุ่มภัยที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายหลังเกิดไฟไหม้ เช่น ให้ความคุ้มครองถึงค่าเช่าที่พักอาศัยชั่วคราว ค่าขนย้ายซากทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการดับเพลิง ค่าวิชาชีพของวิศวกร สถาปนิก ฯลฯ

แต่ละภัยที่เพิ่มเติมพิเศษขึ้นมา เราสามารถดูได้ว่าลักษณะบ้านของเราเหมาะกับภัยเพิ่มเติมใดบ้าง ประกันภัยกระจก เหมาะกับบ้านที่มีกระจกเยอะ ประกันพวกโจรกรรม ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ เหมาะกับบ้าน/หมู่บ้านที่ไม่มีรปภ.รักษาความปลอดภัย ภัยต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า เหมาะกับบ้านที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายเครื่อง หรืออยากอุ่นใจมีตัวช่วยเหลือหลังจากเกิดไฟไหม้ ก็เลือกทำประกันเพิ่มในกลุ่มตัวช่วยหลังเกิดไฟไหม้ ลดความยุ่งยากให้เราได้หลังเกิดภัย เพิ่มไปอุ่นใจกว่า

ขอให้แยกกันให้ดีว่า ประกันอัคคีภัยเพื่อการอยู่อาศัย กับประกันอัคคีภัยเพื่อธุรกิจนั้น ต่างกันในความคุ้มครอง ที่สำคัญเบี้ยไม่เท่ากันอยู่แล้ว เพราะความเสี่ยงของเพื่อธุรกิจนั้นจะสูงกว่า หลายคนอาจจะใช้บ้านทำธุรกิจบางอย่าง เช่น เป็นสำนักงาน เป็นร้านกาแฟข้างล่าง เป็นร้านขายของชำ โดยไม่ได้แจ้งให้กับบริษัทประกันวินาศภัย หากไม่เกิดเหตุก็ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากมีความเสียหายเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจพื้นที่แล้วพบว่ามีการใช้ผิดประเภทจากที่ระบุในกรมธรรม์ จะเป็นปัญหาการจ่ายสินไหมทดแทน และอาจนำไปสู่การฟ้องร้อง ทำให้ผิดใจกันได้

ดังนั้น ควรแจ้งให้ถูกต้องว่าเราใช้เพื่ออยู่อาศัยจริงๆ เท่านั้นหรือเราใช้เพื่อธุรกิจด้วย แม้จะเป็นการใช้พื้นที่เล็กๆ ไม่เห็นจะเป็นอะไรในความคิดของเรา

ข้อสรุปสำคัญ คือหากเรามีกำลังมากพอ เราควรทำความคุ้มครองเพิ่มในส่วนที่จำเป็น เช่น ภัยกระจก ภัยเครื่องใช้ไฟฟ้า การโจรกรรม ภัยจลาจล หากเราอยู่ริมถนนก็อาจทำภัยยวดยานเอาไว้ด้วยก็ดี เพราะเบี้ยประกันที่เพิ่มนั้นไม่ได้มากเลย

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th