บทความ: ประกันภัย
หยุดชำระเบี้ยประกันชีวิตอย่างไร ให้ยังคงมีความคุ้มครอง
โดย บุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®
ในบางจังหวะเวลาของชีวิต ผู้ชำระเบี้ยประกันอาจมีความจำเป็นต้องหยุดชำระเบี้ย หลังจากที่ได้ชำระเบี้ยมาแล้วหลายปี แต่รู้หรือไม่ว่าท่านสามารถดำเนินการขอทำเรื่องหยุดชำระเบี้ยประกันชีวิตได้ โดยยังคงมีความคุ้มครองชีวิตให้กับครอบครัวของท่านอยู่ เพราะหากผู้ชำระเบี้ยได้จากไป ครอบครัวจะได้รับเงินก้อนเพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิต และเมื่อผู้ชำระเบี้ยมีจังหวะชีวิตที่ดีขึ้น ก็สามารถทำเรื่องกลับคืนสถานะกรมธรรม์ได้เหมือนเดิม มากไปกว่านั้น ผู้วางแผนประกันอาจวางแผนด้านประกันเพิ่มเติมได้อีก วันนี้ผู้เขียนขอแนะนำทางเลือกสำหรับผู้ชำระเบี้ยที่มีความจำเป็นต้องหยุดชำระเบี้ยประกันชีวิตเพื่อให้ยังคงมีความคุ้มครอง 2 วิธี คือ
วิธีแรก แบบกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ เป็นการหยุดชำระเบี้ยประกันชีวิต โดยที่สถานะของกรมธรรม์ยังคงคุ้มครองชีวิตต่อไปจนครบกำหนดสัญญา แต่ทุนประกันชีวิตลดลง ยกตัวอย่างเช่น นายรักดี ได้ทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพไว้เมื่ออายุ 30 ปี ทุนประกันชีวิต 1,000,000 บาท จำนวนปีที่ต้องชำระเบี้ย 20 ปี ต่อมาเมื่อนายรักดีอายุ 40 ปี ได้ประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจึงต้องการหยุดชำระเบี้ย แต่นายรักดีก็ยังคงกังวลกับความคุ้มครองชีวิตให้กับครอบครัวหากตัวเองเป็นอะไรไป เนื่องจากเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว นายรักดีได้ทำการตรวจสอบมูลค่าของกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จพบว่า มีจำนวน 560,000 บาท นั่นคือถ้านายรักดีได้หยุดชำระเบี้ยประกันชีวิตวิธีนี้ ทุนประกันชีวิตจะลดลงจาก 1,000,000 บาท คงเหลือ 560,000 บาท และมีความคุ้มครองชีวิตตลอดชีพเช่นเดิม
วิธีที่สอง แบบขยายเวลา เป็นการหยุดชำระเบี้ย โดยที่สถานะของกรมธรรม์มีความคุ้มครองชีวิตด้วยทุนประกันชีวิตเท่าเดิม แต่ระยะเวลาที่คุ้มครองชีวิตจะลดลง จากตัวอย่างข้างต้นนายรักดีได้เปรียบเทียบการหยุดชำระเบี้ยแบบกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จกับแบบขยายเวลา พบว่า การเลือกแบบขยายเวลา นายรักดีจะมีทุนประกันชีวิตเท่าเดิมต่อไปได้อีก 20 ปี แทนที่จะคุ้มครองชีวิตไปตลอดชีพ นั้นคือนายภักดีจะได้รับความคุ้มครองประกันชีวิต 1,000,000 บาท ไปจนถึงอายุ 60 ปี
ดังนั้นในการเลือกหยุดชำระเบี้ยประกันชีวิต ผู้ชำระเบี้ยควรพิจารณาดูว่าวิธีใดเป็นวิธีที่ให้ความความคุ้มครองที่เหมาะสมกับสถานการณ์และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชำระเบี้ย ทั้งนี้เพื่อหาความสมดุลด้านการเงินให้กับตัวเองและครอบครัวในช่วงเวลาต่างๆ และยังคงมีการวางแผนการเงินที่ดีรอบด้าน แม้ว่าไม่อาจหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะวิกฤตด้านเศษฐกิจในบางจังหวะของชีวิตได้ การมีสติไตร่ตรองแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ ก็จะช่วยให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th