logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

ควรวางแผนซื้อประกันชีวิตอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นภาระทางการเงิน

โดย จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค นักวางแผนการเงิน CFP®

วางแผนการซื้อประกันชีวิตไม่รอบคอบ = ภาระทั้งตัวเองและลูกหลานในอนาคต

ชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพื่อดูแลคนที่อยู่ข้างหลังให้ได้มากที่สุด การทำประกันชีวิตก็เป็นทางเลือกที่จะช่วยดูแลด้านค่าใช้จ่าย และช่วยให้คนข้างหลังมีเงินก้อนเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตได้สักระยะ แต่ถึงจะได้รับผลประโยชน์และเงื่อนไขในกรมธรรม์ที่ดีมากแค่ไหน แต่หากไม่วางแผนการซื้อประกันให้รอบคอบ นอกจากเสี่ยงที่จะไม่ได้รับผลประโยชน์ที่เหมะสมแล้ว ยังอาจเพิ่มภาระทางการเงินให้กับตัวเอง และเป็นภาระของลูกหลานได้ในอนาคต แล้วเราควรเริ่มวางแผนการซื้อประกันอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ?

 

1. เข้าใจ ‘ประกันชีวิต’ ให้มากขึ้น

 

ประกันชีวิตนั้นมีด้วยกันหลายประเภท บางประเภทก็จัดเป็นทางเลือกด้านการลงทุน บางประเภทสามารถให้ผลประโยชน์กับผู้เอาประกันได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เรามาทำความรู้จักประเภทของประกันชีวิตในรูปแบบ “2 - 3 - 4” กัน

ประเภทที่ 1 : ประกันชีวิตตามเงินปันผล

ประกันชีวิตในกลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทแบ่งออกเป็น 

  • 1. ประเภทที่มีเงินปันผล ซึ่งผู้เอาประกันจะได้รับผลตอบแทนที่บริษัทประกันปันผลจากผลประกอบการทั้งหมดให้ จัดได้ว่าเป็นกลุ่มประกันที่เป็นการลงทุนประเภทหนึ่ง 

  • 2. ประเภทที่ไม่มีเงินปันผล ซึ่งเป็นกลุ่มประกันที่ผู้เอาประกันส่งเบี้ยประกัน โดยที่บริษัทจะไม่มีเงินปันผลใด ๆ มาให้


  •  

ประเภทที่ 2 : ประกันชีวิตตามทุนและเบี้ยประกัน

สามารถแบ่งประกันชีวิตออกได้เป็น 3 ประเภท ประกอบไปด้วย

  • 1. ประเภทอุตสาหกรรม มีวงเงินเอาประกันภัยอยู่ที่ 10,000 - 30,000 บาท จึงทำให้ค่าเบี้ยประกันไม่สูงมาก สามารถชำระเป็นรายเดือน และไม่ต้องตรวจสุขภาพ

  • 2. ประเภทกลุ่ม มีเบี้ยประกันต่ำที่สุด แต่ให้ความคุ้มครองคนจำนวนมากได้ภายในกรมธรรม์เดียว

  • 3. ประเภทสามัญ ที่มีทุนประกันสูงที่สุด เน้นเฉลี่ยความเสี่ยงในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง


  •  

ประเภทที่ 3 : ประกันชีวิตตามเงื่อนไข

พิจารณาจากเงื่อนไขความคุ้มครอง กรมธรรม์ และประโยชน์ของการเอาประกันเป็นหลัก แบ่งได้เป็น 4 ประเภท

  • ประเภทได้เงินประจำ หรือ Annuity Insurance เป็นประกันที่ระบุเงื่อนไขชำระเงินเป็นงวดๆ ให้กับผู้เอาประกันจนกว่าจะเสียชีวิต หรือจ่ายเมื่อถึงอายุตามที่ระบุในกรมธรรม์

  • ประเภทชั่วระยะเวลา หรือ Term Insurance เป็นประกันที่จ่ายเงินให้ผู้รับผลประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตในระยะเวลาที่กำหนด สามารถเลือกช่วงเวลาในการทำประกันได้

  • ประเภทตลอดชีพ หรือ Whole Life Insurance เป็นประกันที่คุ้มครองตลอดชีวิต หรือ บางกรมธรรม์อาจระบุอายุไว้ที่ 99 ปี ซึ่งผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต

  • ประเภทสะสมทรัพย์ หรือ Endowment Insurance เป็นประกันที่ได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากเป็นประกันที่ให้ความคุ้มครอง พร้อมออมทรัพย์ไปในเวลาเดียวกัน บริษัทประกันจะกำหนดระยะเวลาและอายุ ซึ่งหากยังมีชีวิตอยู่จนครบระยะเวลา ผู้เอาประกันก็สามารถรับผลประโยชน์ได้ หรือหากเสียชีวิตก่อนกำหนด บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินให้ผู้รับผลประโยชน์ต่อไป


  •  

 

2. เช็กสภาพการเงินทั้งหมดให้เหมาะกับ ‘ทุนประกันภัย’

 

ประกันชีวิตมีให้เลือกหลายประเภท หลายทุนประกันและเบี้ยประกัน นอกจากต้องพิจารณาถึงรายละเอียดในกรมธรรม์แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องเช็กให้ดีก่อนซื้อประกันก็คือ ‘รายได้คงเหลือต่อปี’ หรือที่เรียกว่า ‘Surplus ต่อปี’ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต หากเราล้มเลิกการจ่ายเบี้ยประกันไปด้วยสาเหตุใดก็ตาม ประกันชีวิตที่ทำมาก็อาจหมดอายุและทำให้ไม่มีใครได้ผลประโยชน์เลยก็ได้ โดยสามารถพิจารณาได้ง่ายๆ ตามหลัก The Financial Needs Analysis Method ซึ่งจะมีรายละเอียดดังนี้

3 STEPS เช็กการเงินก่อนซื้อประกันด้วย The Financial Needs Analysis Method

STEP 1 : เช็กภาระทางการเงินตัวเองก่อน
ตรวจสอบภาระทางการเงินที่ต้องจ่ายทั้งหมด เช่น รายจ่าย หนี้สิน เงินฉุกเฉิน เงินสำรองในทุกกรณี รวมถึงความคุ้มครองทรัพย์สินส่วนบุคคล จากนั้นจึงมาพิจารณาเงื่อนไขในกรมธรรม์ว่ามีการคุ้มครองรายได้เพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงินได้อย่างไรบ้าง เช่น หากเกิดเหตุร้ายแรงจนทุพพลภาพและขาดรายได้ ประกันสามารถรับผิดชอบได้อย่างไรบ้าง

STEP 2 : เช็กรายได้ทุกช่องทาง
รายได้ในส่วนนี้ไม่ใช่แค่เงินเดือนหรือเงินบำนาญ แต่ต้องรวมไปถึงรายได้จากแหล่งอื่น ๆ รวมไปถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนทั้งหมด ในขั้นตอนนี้จะทำให้ผู้เอาประกันเห็นภาพรวมของรายได้ตัวเอง และทำให้ตัดสินใจเลือกกรมธรรม์ที่ไม่ขัดต่อสภาพทางการเงินโดยรวมของตัวเองมากนัก

STEP 3 : เลือกทุนประกันที่เหมาะสม
ทุนประกันภัย คือ เงินที่เราจะได้รับจากบริษัทประกันชีวิต ดังนั้น หากทุนประกันไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมดก็แปลว่าประกันชีวิตตัวที่สนใจอาจยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการได้ โดยทุนประกันที่รองรับสภาพทางการเงินของเราทั้งหมดนั้นจะคำนวณง่ายๆได้จา

ทุนประกันภัย = หนี้สินทั้งหมด - ทรัพย์สินทั้งหมด

นอกจากวิธีนี้ ผู้เอาประกันยังสามารถคำนวณทุนประกันภัยโดยใช้วิธีทวีคูณรายได้ของตัวเอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการคูณระหว่าง 3 - 5 เท่าของรายได้ต่อปี หรือที่หลายคนเรียกว่า “ระยะเวลาปรับตัว” ของคนข้างหลังที่ต้องอยู่โดยไม่มีรายได้จากผู้เอาประกัน หรืออาจนำตัวเลขทวีคูณเป็นจำนวนปีที่สามารถทำงานได้หากยังมีชีวิตอยู่ โดยสามารถนำเข้าสูตรคำนวณ ดังนี้

ทุนประกันภัย = รายได้ต่อปี x ทวีคูณที่ต้องการ

 

3. เลือก ‘เบี้ยประกันภัย’ ให้เป็น

 

นอกจากทุนประกันภัยต้องสอดคล้องกับรายจ่ายและรายได้ของผู้เอาประกันแล้ว ‘เบี้ยประกันภัย’ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ดีเช่นกัน เนื่องจากตัวเบี้ยประกันภัยจะเป็นเงินที่ผู้เอาประกันต้องจ่ายให้บริษัทประกันในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อรับความคุ้มครอง

โดยความถูกแพงของเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับจำนวนทุนประกันที่ต้องการ หากทุนประกันภัยยิ่งสูง เบี้ยประกันภัยก็จะยิ่งสูงตาม ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประกันชีวิตส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน การชำระเบี้ยประกันภัยควรจะอยู่ที่ไม่เกิน 10% ของรายได้ทั้งหมดต่อปี ซึ่งหากทำสัญญาประกันชีวิตที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไปสามารถนำเบี้ยประกันภัยนี้ไปลดหย่อนภาษีได้ จะเห็นได้ว่า การวางแผนซื้อประกันชีวิตนั้นมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนมากมาย เงื่อนไขในกรมธรรม์ของประกันชีวิตแต่ละที่นั้นซับซ้อนจนทำให้ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ดังนั้น เพื่อช่วยทำให้ชีวิตคุณสะดวกและใช้เวลาไปกับคนที่รักมากขึ้น นักวางแผนการเงิน CFP ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่ท่านปรึกษาได้

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th