logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

เดินทางปลอดภัย และสบายใจเมื่อมีประกันเดินทาง

โดย บุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®

ในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อไปเที่ยวงานเฉลิมฉลอง ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ หรือเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่หรือสมาชิกในครอบครัว สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางในประเทศและมีประกันสุขภาพแล้ว เมื่อเจ็บป่วยระหว่างเดินทางก็สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือคลินิกที่อยู่ใกล้ได้สะดวก แต่สำหรับผู้ที่ชอบท่องเที่ยวไปต่างประเทศ การมีประกันเดินทางไว้จะช่วยทำให้รู้สึกอุ่นใจขณะที่เดินทางไปยังประเทศต่างๆ เนื่องด้วยค่าครองชีพในบางประเทศจะสูงกว่าประเทศไทย ค่ารักษาพยาบาลก็อาจสูงขึ้นตามค่าครองชีพของประเทศนั้นๆ ดังนั้นการมีอาการเจ็บป่วยอย่างกะทันหัน ไม่ว่าจะแพ้อาหาร แพ้อากาศ เกิดอุบัติเหตุ หรือมีปัญหาสุขภาพบางอย่างโดยฉับพลันทำให้เดินทางต่อไม่ได้ ก็อาจจะสร้างความกังวลใจให้กับผู้ที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานพยาบาลที่เข้าถึงได้ หรือค่ารักษาที่อาจไม่ได้เตรียมไปเผื่อด้วย

โดยทั่วไป การเตรียมตัวไปท่องเที่ยวต่างประเทศนั้น การทำประกันเดินทางเพื่อท่องเที่ยวนับได้ว่าเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งและไม่ใช่เป็นการบังคับ แต่ด้วยการที่เบี้ยประกันที่ไม่แพงเกินไป รวมถึงการมีวงเงินความคุ้มครองสูง จึงทำให้นักเดินทางหลายๆ ท่านนิยมทำไว้เผื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น วันนี้ผู้เขียนขอแนะนำวิธีการเลือกประกันเดินทางและความคุ้มครองที่เหมาะสมกับผู้ที่ชอบเดินทางไปต่างประเทศกันค่ะ

  • 1. เลือกวงเงินความคุ้มครอง โดยความคุ้มครอง 3 จุดหลักที่ผู้เดินทางควรพิจารณาคือ 1) วงเงินผลประโยชน์การรักษาพยาบาลในต่างประเทศ 2) ผลประโยชน์การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ สายตาหรือทุพพลภาพอย่างถาวรอันเกิดเนื่องจากอุบัติเหตุ และ 3) ผลประโยชน์การเคลื่อนย้ายเพื่อการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน หรือเคลื่อนย้ายกลับประเทศภูมิสำเนา และผลประโยชน์ค่าใช้จ่ายในการส่งศพหรืออัฐิกลับประเทศภูมิลำเนา  

  • 2. หลังจากพิจารณาวงเงินคุ้มครองหลักทั้ง 3 ข้อ แล้ว ผู้เดินทางควรพิจารณาผลประโยชน์อื่นๆ ที่ต้องการให้มีความคุ้มครองเพิ่มเติมอีก เช่น ผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นวงเงินค่ารักษาต่อจากต่างประเทศเมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ผลประโยชน์การเลื่อนหรือการบอกเลิกการเดินทาง ผลประโยชน์ชดเชยความล่าช้าในการเดินทางของสายการบิน ฯลฯ

  • 3. เมื่อเลือกแผนตามวงเงินความคุ้มครองที่ต้องการได้แล้ว ให้เลือกกลุ่มประเทศที่กำลังจะไป เช่น เอเชีย หรือทั่วโลก  

  • 4. เลือกจำนวนวันที่เดินทาง เช่น 7 วัน 3 เดือน หรือ 6 เดือน เป็นต้น


  •  

เมื่อผู้เดินทางเลือกแผนประกันเดินทาง วงเงินความคุ้มครอง กลุ่มประเทศที่ไป และจำนวนวันเดินทางแล้ว ผู้เดินทางก็จะทราบเบี้ยประกันที่ต้องชำระ แต่ถ้าผู้เดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ก็สามารถเทียบเบี้ยประกันและเลือกแผนวงเงินความคุ้มครองแบบรายปีได้ เพราะประหยัดกว่าและไม่ต้องทำประกันเดินทางทุกครั้งที่เดินทาง โดยการเดินทางแต่ละครั้งไม่เกิน 120, 180, 240 หรือ 365 วัน ตามแผนที่เลือกไว้ได้ นอกจากนี้ผู้เดินทางต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อยกเว้นของประกันเดินทาง เช่น การเดินทางเพื่อไปร่วมเล่น ฝึกซ้อม หรือแข่งขันกีฬาอาชีพ และประกันเดินทางจะไม่คุ้มครองการเดินทางไปบางประเทศ เช่น เกาหลีเหนือ อัฟกานิสถาน อิหร่าน อิรัก ซีเรีย คิวบา เป็นต้น

การทำประกันเป็นการลดความเสี่ยงจากความเสียหายเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ประกันเดินทางก็เช่นเดียวกัน แต่เป็นการใช้วงเงินก้อนเล็กมาปกป้องความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ซึ่งความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นจำนวนเงินที่มีมูลค่าสูง สำหรับการเดินทางที่ผู้เดินทางไม่เคยได้ใช้วงเงินประกันคุ้มครองเลยก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากเป็นการเดินทางที่ปลอดภัย ไร้อุปสรรคใด ๆ แต่หากมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ประกันเดินทางนี้ก็จะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้เดินทางได้ทางหนึ่ง ทำให้ผู้เดินทางสุขกาย สุขใจ และสบายกระเป๋าเมื่อภัยมา ... ขอให้ผู้เดินทางทุกท่านเดินทางโดยปลอดภัย และไร้กังวลกับทุกการเดินทางค่ะ

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th