logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

ปิดความเสี่ยง 4 ด้านกับการวางแผนประกัน

โดย บุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®

ประโยชน์สูงสุดของการวางแผนประกันคือ การทำประกันให้ครอบคลุมเรื่องจำเป็นที่สำคัญ เพื่อป้องกันความเสียหายใหญ่จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ในบทความนี้ผู้เขียนขอเชิญชวนท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับความเสี่ยง 4 ด้านหลักเกี่ยวกับการวางแผนประกันบุคคล ซึ่งผู้วางแผนการเงินจะต้องเตรียมการให้พร้อมอย่างรอบคอบและครบทุกด้าน

คนเราทำประกันชีวิตด้วยหลากหลายความต้องการ บ้างก็ทำเพื่อลดภาษี พยายามให้ได้ครบ 1 แสน พอดีแบบไม่ขาดไม่เกินพอส่งครบก็หาเติมอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ทุกปี อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งประโยชน์ทางภาษีที่เราได้จากการทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพตามเงื่อนไขที่ทางรัฐเปิดสิทธิให้ แต่เราเคยมาย้อนดูไหมครับว่าจริงๆ เราทำประกันชีวิตเพระต้องการความคุ้มครองจากประกันชีวิตจริงๆ รึเปล่า ก่อนจะทำประกันชีวิตอยากให้ทุกคนลองพิจารณาจากคำถามเหล่านี้กับตัวเองก่อน

  • 1. ความเสี่ยงจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ เจ็บป่วยจากโรคต่างๆ หรือเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เนื่องจากการจากไปก่อนวัยอันควรมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ทุกคนในครอบครัวไม่ได้มีเวลาตั้งตัวมากนัก โดยเฉพาะการสูญเสียบุคคลสำคัญอันเป็นที่รักของสมาชิกในบ้าน หรือการจากไปของผู้ที่ทำงานมีรายได้หลักหาเลี้ยงครอบครัว การจากไปยิ่งเพิ่มความสูญเสียเป็นทวีคูณ บวกกับความสั่นคลอนของสถานะการเงินภายในครอบครัว จากสถานะที่อยู่ดีมีสุข มีใช้ไม่ขัดสน การศึกษาของบุตรหลานอาจจะต้องหยุดชะงัก หนี้สินอาจเพิ่มขึ้น ในการวางแผนการเงินนั้น การทำประกันชีวิตที่มีทุนสูงเพื่อมาปิดความเสี่ยงทางด้านนี้ จะช่วยบรรเทามูลค่าความเสียหาย ลดภาระหนี้สิน ช่วยให้ครอบครัวมีเงินเพื่อใช้จ่ายไปอีกระยะหนึ่ง ไม่เดือดร้อนจนเกินไป และ/หรือบุตรหลานได้รับการศึกษาจนจบปริญญาตามที่ตั้งใจไว้  

  • 2. ความเสี่ยงจากการมีรายได้ไม่เพียงพอเมื่อเกษียณอายุ ผู้วางแผนการเงินสามารถเริ่มวางแผนง่ายๆ จากการสำรวจความต้องการใช้เงิน ของตนเอง ว่าต้องการจะใช้เงินเดือนละเท่าไหร่หลังเกษียณ เช่น ต้องการใช้เงินเดือนละ 50,000 บาท โดยมีเงินที่ได้รับแน่นอนเดือนละ 25,000 บาท และมีเงินปันผลจากการลงทุนหรือรายได้อื่น ๆ อีกเดือนละ 25,000 บาท จะเห็นได้ว่าการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณด้วยการประกันบำนาญ จะทำให้ผู้วางแผนการเงินมีรายรับแน่นอน ซึ่งเงินส่วนนี้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ ส่วนเงินที่ได้จากการลงทุนอื่นๆ ก็อาจนำมาใช้ในการเติมเต็ม Life Style เช่น ท่องเที่ยว ทำบุญ ฯลฯ

  • 3. ความเสี่ยงจากการมีสุขภาพไม่ดี เมื่อบุคคลมีอายุมากขึ้น โอกาสที่เป็นโรคเรื้อรังก็จะเพิ่มขึ้นตามวัย สำหรับเด็กเล็กก็มักจะมีภูมิคุ้มกันต่ำ ในขณะเดียวกันเด็กๆ จะต้องมีพัฒนาการในการฝึกกล้ามเนื้อเล็กๆ มีการเรียนรู้สิ่งต่างๆ และการชอบจับสิ่งของรอบๆ ตัวเข้าปากด้วยความสนุก เป็นสาเหตุให้เด็กติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ง่าย ถึงแม้ว่าการดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกเพศทุกวัยต้องกระทำ แต่ทุกคนยังคงมีโอกาสเจ็บป่วยได้อีก ทั้งสาเหตุจากภายในร่างกายเอง เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น และจากปัจจัยภายนอก เช่น มลพิษทางอากาศ อาหารที่เจือปนสารพิษ เป็นต้น ดังนั้นการทำประกันสุขภาพไว้เผื่อเวลาเจ็บป่วยจะทำให้ผู้เอาประกันเข้าถึงสถานพยาบาลได้ง่ายขึ้น และเป็นการช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะการเจ็บป่วยแต่ละครั้ง เราไม่สามารถทราบค่ารักษาที่แน่นอน ซึ่งอาจเป็นหลักหมื่น หลักแสน หรือหลักล้านบาท การทำประกันที่ครอบคลุมค่ารักษาที่มากพอ จะช่วยให้ลดความกังวลใจในเรื่องค่ารักษาพยาบาลได้

  • 4. ความเสี่ยงกรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง สาเหตุหลักของภาวะทุพพลภาพนั้นส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ การได้รับบาดเจ็บหรือมีภาวะเจ็บป่วยอย่างหนัก และอาจสูญเสียอวัยวะหรือร่างกายไม่อยู่ในสภาวะปกติ ทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงจนไม่อาจประกอบอาชีพการทำงานได้ตามปกติ เช่น การสูญเสียนัยน์ตา 2 ข้าง แขน 2 ข้าง หรือขา 2 ข้าง แม้โอกาสเกิดจะมีน้อยมาก แต่การปิดความเสี่ยงด้วยการทำประกัน หรือเตรียมเงินอีกส่วนไว้เพิ่มเติมจากค่ารักษาพยาบาล สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในช่วงพักฟื้นก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งผู้ป่วยและครอบครัว เพราะเป็นการช่วยลดความกังวล และทำให้มีกำลังใจในการฟื้นฟูสภาพร่างกายให้ดีขึ้นโดยเร็ว

จากความเสี่ยงหลักทั้ง 4 ด้านดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้วางแผนการเงินควรเตรียมการไว้ล่วงหน้า แม้ในบางกรณีที่โอกาสเกิดจะน้อยมาก แต่ถ้าเกิดขึ้นเมื่อใดแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นมักจะมีมูลค่าสูงมาก เงินเก็บเงินออมที่เตรียมไว้อาจไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการรักษาพยาบาล หรือมีพอ แต่ไม่อยากสูญเสียทรัพย์สินบางอย่างที่ครอบครัวได้สะสมกันมา ด้วยเหตุนี้ การวางแผนประกันให้อย่างรอบคอบและครอบคลุมการปิดความเสี่ยงทุกด้าน ย่อมจะเป็นการช่วยให้ผู้วางแผนการเงินอุ่นใจและไม่กระทบสถานะทางการเงินของครอบครัวมากจนเกินไป

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th