logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

ทางเลือกการแก้ปัญหาสภาพคล่อง ด้วยกรมธรรม์ประกันชีวิต

โดย นรินทร์ เอกวงศ์วิริยะ นักวางแผนการเงิน CFP®

เมื่อจำเป็นต้องใช้เงินสดฉุกเฉิน นอกจากเงินสดสำรองที่เรามีอยู่แล้ว แหล่งเงินสำรองอื่นๆ ที่เรานึกถึงมีอะไรบ้างครับ?

ผมเชื่อว่าน้อยคนจะนึกถึงการกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิต ! แหล่งเก็บเงินชั้นดีที่มีความมั่นคงปลอดภัยขั้นสูงอีกด้วย

เรามาทำความรู้จักเงินกู้จากกรมธรรม์ ที่อาจจะช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องให้เราได้แบบชิวๆ โดยที่เป้าหมายและแผนการเงินของเราก็ยังเดินต่อไปได้ตามเดิม ที่สำคัญมีต้นทุนการกู้ยืมที่ไม่สูงครับ

เมื่อได้รับกรมธรรม์ประกันภัยแล้วน้อยคนที่เปิดดูรายละเอียดต่างๆ ในกรมธรรม์ ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและศัพท์เฉพาะที่เราไม่คุ้นเคย จนทำให้พลาดสิทธิสำคัญที่ผู้ถือกรมธรรม์ควรต้องรู้ ลองหยิบกรมธรรม์ประกันชีวิตขึ้นมาและเปิดดูไปพร้อมๆ กันครับ

เงินกู้กรมธรรม์ มาจาก"มูลค่าเงินสด"ที่สะสมอยู่ในกรมธรรม์

ทำความรู้จักตารางมูลค่ากรมธรรม์
สมมุติว่ากรมธรรม์ของเรามีรายละเอียดตามภาพตัวอย่าง และตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างปีที่ 9 ของกรมธรรม์ พูดง่าย ๆ คือเราถือมาครบ 8 ปีเต็ม ฉะนั้นให้ดูที่ ”เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย” ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 8 ก็คือ 400 บาท ตอนนี้กรมธรรม์ประกันชีวิตนี้มีมูลค่าเงินสดเป็นเงิน 400 บาท ต่อ จำนวนเงินเอาประกันภัยทุก 1,000 บาท ถ้าเราไล่ลงไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่ายิ่งกรมธรรม์เล่มนี้มีอายุยาวขึ้นจำนวนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยจะพบได้ในแบบประกันชีวิตเป็นหลัก เนื่องจากแบบประกันชีวิตถูกออกแบบให้มีเรื่องของความคุ้มครองและการออมเข้าไว้ด้วยกัน ต่างจากแบบประกันที่เป็นการประกันภัยที่มีเฉพาะส่วนของความคุ้มครอง เงินค่าเวนคืนฯมาจากส่วนของการออมในแบบประกันชีวิต และมีทั้งแบบที่มีจำนวนเงินต่ำหรือสูงกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยก็ได้ และหากเราทำการเวนคืนกรมธรรม์ก็จะได้รับเงินจำนวนนี้คืนจากบริษัทประกันชีวิต แต่เราไม่จำเป็นต้องเวนคืนเพื่อนำเงินออกจากกรมธรรม์เมื่อต้องการใช้เงินสดฉุกเฉินในช่วงเวลาหนึ่งๆ

 


อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่บริษัทประกันชีวิตคิดจากการกู้เงินกรมธรรม์
กรมธรรม์ประกันชีวิต ระบุข้อมูลว่ากรมธรรม์ฯ มีจำนวนเงินเอาประกันภัยอยู่เท่าไหร่ และมักจะบอกด้วยว่าใช้กรมธรรม์ฯ นี้ใช้อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ในการคำนวณเบี้ยประกันภัย สมมุติกรมธรรม์นี้มีจำนวนเงินเอาประกันภัย 500,000 บาท และบริษัทประกันชีวิตใช้อัตราดอกเบี้ยในการคำนวณเบี้ยประกันภัย 2.5% มูลค่าเวนคืน ณ สิ้นปีที่ 8 คำนวณได้เท่ากับ 200,000 บาท (จำนวนเงินเอาประกันภัย 500,000 บาท/1000 คูณ มูลค่าเวนคืน 400บาท) เมื่อผู้ถือกรมธรรม์ขอกู้เงินจากกรมธรรม์ บริษัทประกันจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ใช้คำนวณเบี้ยประกันและบวกค่าธรรมเนียมตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์เพิ่มเข้าไป ภาพตัวอย่างนี้ระบุค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายประมาณ 2% เพิ่มเข้าไป กรณีนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่บริษัทประกันชีวิตจะคิดจากคุณจะประมาณ 4.5% แต่หากเป็นกรมธรรม์ที่คิดเบี้ยประกันด้วย อัตรา 4% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้กรมธรรม์ก็เท่ากับ 6.5% เป็นต้น

 


วงเงินกู้ที่สามารถกู้ได้จากกรมธรรม์
บริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่กำหนดวงเงินกู้ไว้สูงสุด 80-90% ของมูลค่าเงินสดที่กรมธรรม์มีอยู่ (มูลค่าเงินเวนคืนฯ) ตัวอย่างกรมธรรม์ข้างบน สามารถคาดการณ์จำนวนเงินกู้สูงที่สุดที่เราจะกู้ได้ว่าประมาณ 160,000-180,000 บาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยการกู้ประมาณ 4.5% วิธีการกู้เงินจากกรมธรรม์ การกู้เงินจากกรมธรรม์เป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากเลย ไม่ต้องมีบุคคลหรือหลักทรัพย์อื่นมาค้ำประกัน เดิมผู้กู้มักได้รับเงินภายใน 1-2 วันหลังจากยื่นเรื่องเข้าไปที่บริษัทประกันฯ หรืออย่างช้าไม่น่าจะเกิน 15 วัน ปัจจุบันเมื่อบริษัทประกันชีวิตหลายแห่งพัฒนาธุรกรรมกรมธรรม์แบบออนไลน์ ทำให้ลดเวลาขั้นตอนเอกสารไปได้ ผู้กู้จึงอาจได้รับเงินเร็วขึ้นกว่าเดิมเมื่อทำธุรกรรมแบบออนไลน์

คำถามที่ตามมาก็คือเมื่อกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสด ทำไมไม่ใช้วิธีการเวนคืนกรมธรรม์ แทนการกู้เงินจากกรมธรรม์เพราะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย การกู้ยืมจากกรมธรรม์ต่างจากการเวนคืนกรมธรรม์เพราะกรมธรรม์ยังมีผลคุ้มครองอยู่ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นบริษัทฯ ประกันจะยังชดใช้ค่าสินไหมตามจำนวนเงินเอาประกันโดยหักลบหนี้สินส่วนที่คงค้าง ผู้ทำประกันจึงยังได้รับความคุ้มครองที่ต่อเนื่อง และเมื่อคืนเงินกู้ครบแล้ว กรมธรรม์ก็มีผลคุ้มครองเต็มจำนวนตามเดิมต่อไปจนครบกำหนดสัญญา ในขณะที่การเวนคืนเป็นการยกเลิกกรมธรรม์เพื่อรับเงินทำให้ความคุ้มครองสิ้นสุดลง หากเกิดปัญหาขึ้นจะต้องรับความเสี่ยงภัยไว้เอง

ใครที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบที่มีมูลค่าเงินสด (มูลค่าเวนคืนฯ) ในจำนวนเงินที่เพียงพอกับความจำเป็นเร่งด่วน และกำลังหาแหล่งเงินสำรองมาเสริมสภาพคล่องหรือแก้ปัญหาหนี้ต้นทุนสูงที่มีอยู่ก็สามารถพิจารณาเลือกใช้เงินกู้จากกรมธรรม์ประกันชีวิตแทนการไปหาแหล่งเงินกู้อื่นๆ ที่มีต้นทุนสูงกว่า และยังสามารถใช้เงินกู้ได้นานเกือบเท่าระยะเวลาที่กรมธรรม์ยังมีผลบังคับอยู่อีกด้วย

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th