บทความ: ประกันภัย
ประกันไม่ใช่การลงทุน อย่าเปรียบเทียบด้านผลตอบแทน
โดย เกศิณี เพ็ชรแสนงาม ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
ประกันชีวิต Three in one
1. ดูแลเป้าหมายชีวิตระหว่างทาง
2. ดูแลเป้าหมายปลายทาง
3. ดูแลสภาพจิตใจเราในฐานะผู้นำครอบครัว (คนหารายได้หลัก)
ประกันชีวิต ใช้เป็นเครื่องมือทางการเงินในการโอนย้ายความเสี่ยง
ใช้เป็นแหล่งเงินทุนเวลาฉุกเฉินได้ในบางแบบประกันที่มีมูลค่าเงินสด ดั่ง Slogan ที่ว่า “ เจ็บก็ช่วย ป่วยก็ให้ ตายก็จ่าย สบายก็คืน ฉุกเฉินกู้เงินได้” เพื่อความเข้าใจผู้เขียนขอขยายความว่า
“ เจ็บก็ช่วย” หมายถึง เวลาบาดเจ็บ ก็มีบริษัทประกันช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาล
“ป่วยก็ให้” หมายถึง เวลาเจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บต้องมีบริษัทประกันช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาล
“ตายก็จ่าย” หมายถึง เวลาเสียชีวิตทุกกรณีก็มีเงินก้อนมอบให้ครอบครัวไว้ใช้จ่าย
“สบายก็คืน” หมายถึง หากไม่เกิดอะไรขึ้นระหว่างทางที่สัญญาประกันภัยคุ้มครองอยู่หากครบสัญญาก็ได้รับเงินก้อนไว้ใช้ยามเกษียณอายุ
“ฉุกเฉินกู้เงินได้” หมายถึง หากจ่ายเบี้ยประกันได้ระยะเวลาหนึ่งจะมีมูลค่าเงินสดที่มากพอให้เรากู้เงินออกมาใช้ก่อนได้ เราถูกคิดดอกเบี้ยการกู้กรมธรรม์แบบลดต้นลดดอกคล้ายการผ่อนบ้าน สรุปว่า ยังพอมีสภาพคล่อง เพราะมีกระแสเงินสดให้ดึงออกมาใช้ได้ยาม ฉุกเฉิน
ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าประกันชีวิตคือ “เงินสดลดราคา” ที่ตอนทำประกันชีวิตผู้ที่สมัครทำประกันต้องมีสุขภาพดีและมีเงินค่าเบี้ยประกันเพียงพอที่จะจ่ายให้แก่บริษัทประกันชีวิต โดยไม่ต้องมีเงินก้อนใหญ่อย่างที่ตั้งใจจะมีตั้งแต่แรก เช่น อยากมีเงินไว้ให้ลูก 10,000,000 บาท เวลาตัวเองไม่อยู่ (ตายก่อน) ก็สามารถเตรียมได้ทันที ด้วยเงินเบี้ยประกัน 80,000-120,000 บาท (แล้วแต่แบบประกัน) เป็นต้น ระหว่างทางการดำเนินชีวิตหากเกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรครอบครัวก็จะได้รับทุนประกันที่มีจำนวนเงินมากกว่าเบี้ยประกัน แต่ถ้าโชคดีไม่เสียชีวิตก็จะมีเงินก้อนไว้ใช้ตอนเกษียณ เป็นต้น
ถ้าเปรียบกับเครื่องมือการเงินเพื่อการลงทุน เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ พันธบัตร หุ้น ทองคำ และตราสารการเงินอื่นๆ รวมถึง Cryptocurrency หรือ Digital Asset ด้วย เครื่องมือการลงทุนเหล่านี้ จะไม่มีความคุ้มครองด้านทุนประกันชีวิต เพราะเงินฝาก หุ้น พันธบัตร จะมีผลตอบแทนที่เพิ่มมูลค่าความมั่งคั่ง อาทิ ดอกเบี้ย Capital gain (ส่วนต่างราคา) และเงินปันผล มีโอกาสสร้างกำไรส่วนต่าง และมีโอกาสขาดทุน ทั้งจาก ค่าเงินเฟ้อ และ มูลค่าราคาที่ลดลง ซึ่งถ้าเราศึกษาหาความรู้ในการลงทุน เช่น ตราสารหนี้ พันธบัตร หุ้น ทองคำ และ ตราสารการเงินอื่นๆ รวมถึง Cryptocurrency ให้ดี มีการจัดพอร์ตการลงทุน ที่เหมาะสมกับการรับความเสี่ยงของเราก่อนได้ ก็จะทำให้เราเกิดความมั่งคั่งได้
ดังนั้น การใช้เครื่องมือเป็นเบี้ยประกันทางการเงินจะมีความสำคัญหากเรามีความรู้ในการใช้เครื่องมือ ก็จะส่งผลให้เกิดประสิทธิผลที่สูงกว่า การไม่ศึกษาหาความรู้ก่อนจัดสรรเงินอย่างแน่นอน ผู้เขียนจึงใคร่อยากให้ทุกท่านที่อ่านบทความนี้ทำความเข้าใจประโยชน์ที่แท้จริงของเครื่องมือทางการเงินแต่ละชิ้น (แต่ละตัว) ต้องเป็นประโยชน์ที่แท้จริงของเครื่องมือการเงินนั้นนั้น ตัดสินใจใช้ เครื่องมือการเงิน ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ทางการเงินเพื่อเพิ่มความสุขทางใจ Peace of Mind
ผู้อ่านสามารถใช้บริการนักวางแผนการเงินที่ตัวเองไว้ใจ ก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายนักวางแผนการเงินจะมี Skill Set ในการยกตัวอย่าง Case Study ที่มีความเหมือนและความต่างกับผู้รับคำปรึกษา เมื่อผู้รับคำปรึกษาได้รับฟัง ทำความเข้าใจ กับ Case Study ตัวอย่าง ก็จะเกิดไอเดียในการวางแผนการเงินของตัวเองอย่างเป็นระบบในรูปแบบ Pyramid วางแผนการเงิน จากฐานรากที่เริ่มต้นจากการกันกระแสเงินสด Cash Flow 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน และ การโอนย้ายความเสี่ยงด้านรายได้อนาคต ค่ารักษาพยาบาล กรณีเจ็บป่วย ด้วยประกันชีวิตและประกันสุขภาพที่เพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลในยุคปัจจุบัน ด้วยเงินสดที่น้อยกว่า เพราะจะต้องเป็นเบี้ยประกันที่ ตัวเองจ่ายไหวในแต่ละปี ก็จะส่งผลดีที่ไม่ต้องให้ค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาพยาบาล ไปกระทบเงินออมส่วนอื่น เช่น ทุนการศึกษาบุตร กองทุนเกษียณอายุของเรา นั่นเอง
เข้าทำนอง “วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” ไม่ต้องมาแก้ปัญหา “วัวหายล้อมคอก” กันทีหลัง
จากบทความเป็นประสบการณ์จริงจากการให้คำแนะนำกลุ่มผู้รับคำปรึกษาของผู้เขียน หากผู้อ่านมีข้อคิดเห็นประการใด ทั้งเหมือนหรือแตกต่าง หรือต้องการแสดงความคิดเห็นอื่นๆ ก็สามารถ Comment ไว้ เพื่อเป็นวิทยาทานแก่เพื่อนผู้อ่านอื่นๆ และแก่ผู้เขียนด้วยค่ะ
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th