logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

“ทุพพลภาพ” เรื่องที่ควรวางแผน แต่ไม่ได้วางแผน

โดย กัปตันวีระพันธุ์ มีวรรณสุขกุล ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™

ในปัจจุบัน จำนวนผู้สูงอายุและผู้พิการของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างประชากรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัวพร้อมกับปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น

ในขณะที่ความสามารถในการหารายได้อาจลดลง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน การจัดสรรทรัพยากรทางด้านสุขภาพและสังคมในปัจจุบัน เพื่อลดปัญหาดังกล่าวการวางแผนเพื่อรองรับการพิการและทุพพลภาพจึงเป็นทางออกหนึ่งของปัญหา เพื่อลดภาระทางการเงินของครัวเรือนและสังคมที่อาจเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริง กลับพบว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้วางแผน

การพิการและทุพพลภาพเป็นเรื่องใกล้ตัว
ข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย1 โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (วันที่ 30 กันยายน 2565) พบว่า มีคนพิการจำนวน 2,138,155 คน หรือ 3.23% ของประชากรทั้งประเทศ (เพศชาย 52.24% เพศหญิง 47.76%) พักอาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 39.48% ภาคเหนือ 22.24% ภาคกลางและตะวันออก 21.01% ภาคใต้ 12.56% และกรุงเทพมหานคร 4.71%

หากวิเคราะห์ตามประเภทความพิการ พบว่าเป็นความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย 50.64% ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 18.56% ทางการเห็น 8.56%

โดยในความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย พบว่าเป็นเพศชายและหญิงในสัดส่วนใกล้เคียงกันและมีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไปถึง 63.85% จากการวิเคราะห์สาเหตุของการพิการ พบว่าแพทย์ไม่ระบุสาเหตุความพิการ 44.78% ไม่ทราบสาเหตุ 25.43% การเจ็บป่วย/โรคอื่นๆ 21.14% นอกจากนั้น จากการวิเคราะห์ด้านการทำงาน พบว่าคนพิการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ (เนื่องจากพิการมากจนช่วยเหลือตนเองไม่ได้) มีจำนวน 6.10% ไม่ประสงค์ให้ข้อมูลและไม่ระบุข้อมูลอาชีพ 49.30%

นอกจากนั้น การศึกษาความเสี่ยงในการเกิดภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุไทย2 ได้นำเสนอข้อมูลการเกิดภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (เมื่อเกิน 10% ของค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่อาหาร) พบว่าผู้สูงอายุเกิดภาวะล้มละลายคิดเป็น 26.6% โดยเกิดกับผู้สูงอายุเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในโครงการสุขภาพถ้วนหน้าพอๆ กันกับในสวัสดิการอื่นๆ อาทิ ประกันสังคม และเกิดกับผู้สูงอายุที่ไม่มีประกันสุขภาพเอกชนพอๆ กันกับผู้มีประกันเอกชน และยังพบว่าผู้สูงอายุมีการซื้อประกันสุขภาพเอกชนเพียง 8.4% เท่านั้น แต่กลับมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เนื่องจากประกันสุขภาพเอกชนที่ไม่ครอบคลุมทุกโรค

จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่าคนพิการส่วนใหญ่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด (โดยเฉพาะนอกเขตเทศบาล) มีปัญหาในด้านการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย ส่วนใหญ่เข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ และมีโอกาสที่จะเกิดภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึงแม้จะมีประกันหรือสวัสดิการแล้วก็ตาม

เราจะวางแผนคุ้มครองทุพพลภาพได้อย่างไร
จากข้อมูลการศึกษาถึงสาเหตุของทุพพลภาพ พบว่าแพทย์ไม่ระบุสาเหตุความพิการ 44.78% ไม่ทราบสาเหตุ 25.43% การเจ็บป่วย/โรคอื่นๆ 21.14% หมายความว่า ยังไม่อาจสรุปได้อย่างแน่นอนถึงสาเหตุที่แท้จริง

ดังนั้น แนวทางในการวางแผนคุ้มครองทุพพลภาพควรจะต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงของทุพพลภาพว่าควรจะจัดการด้วยวิธีใด และลงมือวางแผนเพื่อรองรับกับความเสี่ยงดังกล่าวตั้งแต่วันนี้

เมื่อพิจารณาตามหลักการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) พบว่าทุพพลภาพจัดเป็นหนึ่งในความเสี่ยงภัยส่วนบุุคคล (Personal risk) ในด้านความเสี่ยงภัยจากการมีสุขภาพไม่ดีหรือการทุพพลภาพ (Risk of poor health) แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นต่ำ แต่สร้างความเสียหายทั้งส่วนบุคคลและครอบครัว รวมถึงการสูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก การจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมคือ การโอนความเสี่ยง (การประกัน) แต่ก่อนจะไปถึงการทำประกัน เราควรสำรวจเสียก่อนว่ามีสวัสดิการอะไรที่พอจะมีอีกบ้าง

สวัสดิการประกันสังคม
สำนักงานประกันสังคม3 ได้กำหนดนิยามและสวัสดิการทุพพลภาพไว้ว่า ทุพพลภาพ หมายถึง การสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะหรือของร่างกาย หรือสูญเสียภาวะปกติของจิตใจ จนทำให้ความสามารถในการทำงานลดลงถึงขนาดไม่อาจประกอบการงานตามปกติได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนทุพพลภาพ จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

1.  เงินทดแทนการขาดรายได้

  • กรณีทุพพลภาพรุนแรง ได้รับในอัตรา 50% ของค่าจ้างเป็นรายเดือน ตลอดชีวิต
  • กรณีทุพพลภาพไม่รุนแรง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาตามประกาศกำหนด

2.  ค่าบริการทางการแพทย์ ดังนี้

  • กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลของรัฐ 
  • ประเภทผู้ป่วยนอก จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
  • ประเภทผู้ป่วยใน จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคำนวณตามกลุ่มวินิจฉัยโรค (DRGs)
  • กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลของเอกชน
  • ประเภทผู้ป่วยนอก จ่ายเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท
  • ประเภทผู้ป่วยใน จ่ายเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท
  • ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพกรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ เหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท
  • ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเมื่อมีมติให้เป็นผู้ทุพพลภาพ
  • ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพและเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานของสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ทุพพลภาพตามหลักเกณฑ์ประกาศฯกำหนด

3.  ค่าทำศพ

  • กรณีผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพถึงแก่ความตาย ผู้จัดการศพมีสิทธิได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท
  • เงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพถึงแก่ความตายผู้มีสิทธิได้รับดังนี้ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยสองเดือน ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป  จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน

ค่าลดหย่อนจากกรมสรรพากร
กรมสรรพากร4 ได้กำหนดค่าลดหย่อนคนพิการหรือทุพพลภาพแบบเหมาได้คนละ 60,000 บาท ต่อปี สำหรับผู้มีเงินได้ที่ดูแลคนพิการหรือทุพพลภาพ ที่เป็นคู่สมรส บุตร (หรือบุตรบุญธรรม) หรือบิดามารดา (ของผู้มีเงินได้หรือคู่สมรส) แต่ถ้าเป็นบุคคลอื่น จะใช้สิทธิได้เพียงคนเดียวเท่านั้น โดยมีเงื่อนไขสำหรับคนพิการว่าจะต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการและระบุชื่อผู้ดูแลเป็นคนเดียวที่ใช้สิทธิลดหย่อนดูแลผู้พิการและผู้ทุพพลภาพ (กรณีผู้ทุพพลภาพ ต้องมีแพทย์ให้การรับรองภาวะจำกัดหรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพ หรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน) ผู้พิการหรือทุพพลภาพต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท ต่อปี ผู้พิการหรือทุพพลภาพหรือตัวเราคนใดคนหนึ่งอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วัน ในปีภาษีนั้น

ประกันคุ้มครองทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง
ธุรกิจประกันชีวิต/ประกันภัย ได้ออกแบบประกันคุ้มครองทุพพลภาพไว้หลากหลาย ซึ่งพบได้ในประกันอุบัติเหตุ พ.ร.บ รถยนต์/รถจักรยานยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันทุพพลภาพ รายละเอียดอาจแตกต่างกันในแต่ละแบบประกัน แต่ในที่นี้ขอมุ่งเน้นที่ประกันคุ้มครองทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นความเสี่ยงภัยที่สร้างความเสียหายสูงที่สุด โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้กำหนดนิยามของทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง5 (Total and Permanent Disability Benefit-TPD) ว่าหมายถึง ผู้เอาประกันภัยเกิดทุพพลภาพทั้งหมดอย่างถาวร อันเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บโดยไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองอย่างถาวร ตั้งแต่ 3 อย่างขึ้นไป หรือไม่สามารถทำงานหรือประกอบอาชีพใดๆ เพื่อรับค่าตอบแทนหรือกำไรได้ โดยการทุพพลภาพดังกล่าวต้องเป็นต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 180 วัน เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยได้เสียชีวิตลงก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวหรือเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากคำนิยามนี้ หรือเกิดการสูญเสียที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน หรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจนว่าผู้เอาประกันภัยตกเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง

ทั้งนี้ให้รวมถึง การสูญเสียหรือการทุพพลภาพอันเป็นผลมาจากการได้รับบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยซึ่งเป็นผลทำให้เกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

  • สูญเสียสายตาทั้งสองข้าง
  • สูญเสียมือสองข้าง หรือเท้าสองข้าง หรือมือหนึ่งข้างและเท้าหนึ่งข้าง
  • สูญเสียสายตาหนึ่งข้างและสูญเสียมือหนึ่งข้าง หรือสูญเสียสายตาหนึ่งข้างและเท้าหนึ่งข้าง

โดยบริษัทประกันฯ จะคุ้มครองการทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง อันเป็นผลจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยซึ่งเกิดขึ้นภายหลังวันเริ่มมีผลคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติม

ในการวางแผนประกันคุ้มครองทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง6 การประมาณการทุนประกันคุ้มครองสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยใช้หลักการดังต่อไปนี้

  • 1) คำนวณรายได้จากการทำงาน ณ ปัจจุบันต่อปี
  • 2) หัก เงินออม (เงินออมปกติและเงินออมเพื่อวัยเกษียณ) และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทำงาน (ภาษีเงินได้ เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสมทบประกันสังคม เบี้ยประกันชีวิต) เพื่อกำหนดเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับตัวเองและครอบครัวในกรณีทุพพลภาพ (PMT)
  • 3) กำหนดระยะเวลาที่ต้องการคุ้มครอง (n)
  • 4) กำหนดอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนต่อปี (r)
  • 5) กำหนดอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อปี (g)
  • 6) ปรับอัตราในข้อ 4) ด้วย ข้อ 5) ดังสมการ i = ((1+r)/(1+g)-1)*100
  • 7) คำนวณทุนประกันโดยใช้สมการมูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money) เพื่อคำนวณหาค่า PV โด

แทนค่า PMT ตามข้อ 2) n ตามข้อ 3) i ตามข้อ 6 และ FV=0 โดยกำหนดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะขายสินทรัพย์และนำเงินชดเชยมาหักออก เท่านี้ก็จะได้วงเงินคุ้มครองทุพพลภาพตามที่ควรจะเป็นของแต่ละบุุคคล

PV = PMT * ⎨(1+r)n -1/ r(1+r)n⎬

ตัวอย่าง
รายได้ต่อปี                 360,000 บาท
หัก เงินออมปกติ และเงินออมเพื่อการเกษียณ                 72,000 บาท
เท่ากับ ค่าใช้จ่ายสำหรับตัวเองและครอบครัว (PMT)            288,000 บาท
ระยะเวลาที่ต้องการคุ้มครอง (n)                  50 ปี
อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนต่อปี (r)                  8 %
อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อปี (g)                 5 %

i= ((1+0.08)/(1+0.05)-1)*100                2.9 %
PV = 288,000 * ⎨(1+0.029)50 -1/ 0.029(1+0.029)50⎬= 288,000*26.226=7,552,958 บาท

นอกจากนั้น ควรที่จะกำหนดจำนวนเงินส่วนเพิ่มเพื่อรองรับในด้านค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม หรือค่าพื้นฟูสภาพร่างกายอีกจำนวนหนึ่ง รวมเข้าไปกับประมาณการทุนประกันคุ้มครองทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงอีกเพื่อให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีก

สัญญาประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองในส่วนทุพลภาพ ได้แก่ สัญญาเพิ่มเติมประกันอุบัติเหตุชดเชยทุพพลภาพ ชดเชยอวัยวะสัญญาเพิ่มเติมประกันโรคร้ายแรงที่มีส่วนคุ้มครองทุพลภาพ สัญญาการยกเว้นเบี้ยกรณีเกิดทุพลภาพ

บทสรุป
แม้ว่าความเสี่ยงในการพิการหรือทุพพลภาพจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ต่ำ เมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรไทยในปัจจุบัน แต่พบว่าความรุนแรงของผลกระทบจากการพิการและทุพพลภาพอาจสูงมากจนเกิดการล้มละลายขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจรุมเร้า การวางแผนรองรับความเสี่ยงดังกล่าวจึงควรที่จะวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากการทำประกันตั้งแต่แรก โดยนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ยังช่วยลดความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธการทำประกัน เนื่องจากปัญหาสุขภาพอีกด้วย

นอกจากนั้น ยังควรต้องทำประกันฯ ให้ครอบคลุมทุกโรค ทุกอาการที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงประมาณการทุนประกันคุ้มครองทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงให้มากพอกับความต้องการของแต่ละบุุคคล เพียงเท่านี้ก็จะเป็นการบรรเทาภาระต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการพิการและทุพพลภาพได้ด้วยการ “วางแผน” โดยสามารถวางแผนกับที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM และนักวางแผนการเงิน CFP ที่มีความรู้ความสามารถรองรับการวางแผนเพื่อคุ้มครองทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงดังกล่าวได้

เอกสารอ้างอิง
1. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ม, รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย, 2565
2. สมพร เตชตะกร, ความเสี่ยงในการเกิดภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุไทย, วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สถิติประยุกต์) คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์, 2561
3. สำนักงานประกันสังคม, คู่มือผู้ประกันตน, 2562
4. https://www.rd.go.th/60057.html
5. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย, เอกสารเพิ่มเติมการประกันภัยทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงกลุ่ม, http://www.oic.or.th
6. ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ตลากทุน สถาบันกองทุนเพือ่พัฒนาตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, หลักสูตรวางแผนการเงิน ชุดวิชาที่ 3 การวางแผนการประกันภัย, 2553

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th