บทความ: ประกันภัย
ทางเลือกควรรู้ เมื่อไม่มีเงินจ่ายเบี้ยประกัน
โดย ทศพร อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
กรมธรรม์ประกันชีวิตจะมีมูลค่าในตัว ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับประเภทของกรมธรรม์ จำนวนปีและจำนวนเบี้ยประกันที่ได้ส่งไป
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีในท้องตลาดประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ตัวประกันหลักและสัญญาเพิ่มเติม (ส่วนของสัญญาเพิ่มเติมอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้)
ในบทความนี้ จะพูดถึงส่วนของประกันหลัก เช่น ทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งไว้ จ่ายเบี้ยปีละ 30,000 บาท ในกรมธรรม์จะมีประกันหลักเป็นเบี้ยประกัน 10,000 บาท
เมื่อเราจ่ายเบี้ยประกันไปเรื่อยๆ ทุกปี ปีละ 10,000 บาท กรมธรรม์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รู้ว่ามีมูลค่าเท่าใด และใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง (พิจารณาตาราง)
หากนาง ข ทำประกันชีวิตแบบนี้ที่ทุนประกัน 400,000 บาท มูลค่าต่างๆ ในกรมธรรม์จะเป็นตัวเลข ดังนี้
...........ตารางตัวอย่างมูลค่ากรมธรรม์แบบทุนประกัน 400,000 บาท.......
มูลค่าต่างๆ ในกรมธรรม์ หมายความว่าอย่างไร ควรเลือกแบบไหน
ความหมายของตาราง : สิ้นปีกรมธรรม์ที่
ซื้อประกันครั้งแรกจ่ายเบี้ยไป ผ่านไป 1 ปี ครบกำหนดกำลังจะจ่ายเบี้ยปีที่สอง คือ จุดที่เรียกว่า สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 1 หากกำลังจ่ายเบี้ยปีที่ 6 หมายความว่าทำกรมธรรม์มาครบรอบ 5 ปีเต็ม ถือเป็นสิ้นปีกรมธรรม์ปีที่ 5 วิธีนับจำนวนสิ้นปีกรมธรรม์คือ ถ้าจ่ายเบี้ยกรมธรรม์นั้นๆ ไปกี่ปี ให้ลบออก 1 ปี ก็จะเป็นสิ้นปีกรมธรรม์นั้นๆ เช่น จ่ายเบี้ย 10 ครั้ง ก็คาดได้ว่าถ้าจะดูมูลค่าต่างๆ ในกรมธรรม์ ให้ดูที่ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 9
ความหมายของตาราง : เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย
การเวนคืนกรมธรรม์ คือ การยกเลิกกรมธรรม์ เมื่อเลือกวิธีนี้กรมธรรม์จะไม่มีผลคุ้มครองอีกต่อไป แต่จะได้เงินจากมูลค่ากรมธรรม์ที่เหลืออยู่กลับมา จากตัวอย่าง ทำไว้ที่ทุน 400,000 บาท เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 10 คือ 68,400 บาท[(400,000/1,000) *171] ก็จะได้เงินก้อนนี้มา กรมธรรม์สิ้นผลความคุ้มครอง
ความหมายของตาราง : มูลค่าเงินสำเร็จ
วิธีการนี้กรมธรรม์จะมีความคุ้มครองไปจนครบสัญญาของกรมธรรม์ เพียงแต่ทุนประกันจะลดลงตามมูลค่าที่ปรากฏอยู่ในตาราง จากตัวอย่าง ทำไว้ที่ทุน 400,000 บาท มูลค่าเงินสำเร็จ ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 9 คือ 226,000 หมายความว่าเมื่อเลือกวิธีใช้เงินสำเร็จ ทุนประกันลดเหลือ 226,000 บาท (จากเดิม 400,000) คุ้มครองไปตลอดชีพ (ตามชื่อแบบ) และไม่ต้องชำระเบี้ยประกันแล้ว
ความหมายของตาราง : ขยายระยะเวลา วิธีการนี้จะนำมูลค่ากรมธรรม์ที่มีอยู่ ไปคำนวณว่าจะสามารถคุ้มครองที่ทุนประกันเดิม ไปได้อีกวัน กี่ปี โดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยอีก
จากตัวอย่าง ทำไว้ที่ทุน 400,000 บาท ขยายระยะเวลา ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 10 คือ 21 ปี 14 วัน หมายความว่า หากเลือกจะใช้แบบขยายระยะเวลา หยุดจ่ายเบี้ย จะมีความคุ้มครอง 400,000 บาท ต่อไปอีก 21 ปีกับอีก 14 วัน
สมมุติว่าหากประสบปัญหาทางการเงิน ไม่มีเงินจ่ายเบี้ยต่อ มี 3 ทางออกหลัก
การเวนคืนกรมธรรม์มีข้อดี คือ ได้เงินคืนทันที แต่ความคุ้มครองที่มีอยู่ก็หมดไปด้วย หากเลือกวิธีนี้ควรชั่งน้ำหนักดูว่าความคุ้มครองที่หายไปจากยกเลิกกรมธรรม์จะมีความเสี่ยงอะไรบ้างกับเงินที่ได้มาในทันที ข้อสำคัญควรระมัดระวังหากระยะเวลาของกรมธรรม์ยังไม่ถึง 10 ปีเต็ม หากใช้สิทธิ์ลดหย่อนไป จึงไม่แนะนำที่จะเวนคืนกรมธรรม์เอง ควรปรึกษานักวางแผนการเงิน
สำหรับทางออกที่ 2 และ 3 เหมาะสำหรับผู้ที่ยังมีความจำเป็นด้านประกันชีวิต แต่ไม่สามารถหาเบี้ยประกันมาจ่ายได้
นอกจาก 3 วิธีข้างต้น ยังสามารถมีวิธีพิเศษโดยการที่มีเงินก้อนหมุนมาใช้ และขณะเดียวกันความคุ้มครองยังมีอยู่ด้วยการกู้กรมธรรม์
การกู้กรมธรรม์ โดยใช้มูลค่าเงินสดที่มีอยู่ในกรมธรรม์
จำนวนเงินที่จะกู้ได้เท่าไร คิดเป็นประมาณ 80% ของมูลค่าเงินสดในตาราง ณ ปีกรมธรรมนั้นๆ อัตราดอกเบี้ยรายปีที่ใช้คิดกับเงินกู้ก้อนนี้สามารถเปิดดูจากเล่มกรมธรรม์ และคำนวณ ดังนี้
............ภาพตารางกรมธรรม์หน้าแรก..............
จากตัวอย่างการประกันชีวิตใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.0 ต่อปีในการคำนวณเบี้ยประกันภัย เงินที่กู้ออกมาจะถูกคิดด้วยร้อยละของอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันภัย + 2 ซึ่งก็คือ 5.0+2 = 7% ต่อปี
ดอกเบี้ยดังกล่าวมักจะมีอัตราต่ำกว่าสินเชื่อแบบอื่นๆ หรือกู้นอกระบบ ที่สำคัญการคืนหนี้สินจะคืนเมื่อไรก็ได้ แต่อย่าลืมว่ายังต้องจ่ายเบี้ยประกันเช่นเดิม จึงควรระมัดระวังว่าหากไม่มีการจ่ายเบี้ยประกันต่อไป เลยระยะเวลาผ่อนผัน ซึ่งมูลค่ากรมธรรม์อาจมีไม่มากพอที่จะกู้ชำระเบี้ยอัตโนมัติ กรมธรรม์อาจขาดอายุได้ หมายความว่า ความคุ้มครองที่ต้องการก็จะหมดไปด้วย
กรมธรรม์ นอกจากจะทำหน้าที่มอบความคุ้มครองให้กับตัวเองโดยตรงแล้ว อาจช่วยในทางอ้อมได้เมื่อเกิดขัดสน อย่าทิ้งขว้างกรมธรรม์เพราะนึกว่าไม่มีเงินแล้วก็ไม่ต้องสนใจอีก อย่าลืมหยิบกรมธรรม์ขึ้นมาดูว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th