บทความ: ประกันภัย
โรคร้ายแรง (อาจ) รักษาหาย แต่เงิน (อาจ) มลายหายเกลี้ยง
โดย ธนภัทร จินดาหลวง ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
ถ้าให้ยกตัวอย่างชื่อโรคร้ายแรงมาสักหนึ่งชื่อ หลายท่านอาจจะนึกถึงโรคมะเร็ง มาเป็นอันดับต้น ๆ แต่ในปัจจุบันมีโรคร้ายแรงอีกมากมาย บางชื่อโรคก็คุ้นหูหรือไม่เคยได้ยินมาก่อน ที่สำคัญโรคร้ายแรงบางโรคอาจรักษาหายในเวลาไม่นาน แต่บางโรคอาจจะต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ค่ารักษารวมทั้งหมดอาจเป็นหลักแสนหรือทะลุหลักล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คนไทยแต่ละคนมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลแตกต่างกันไป เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือได้วางแผนทำประกันสุขภาพส่วนบุคคลกับบริษัทประกันภัยหรือบริษัทประกันชีวิต
ซึ่งสิทธิ์การรักษาพยาบาลข้างต้น อาจครอบคลุมค่ารักษาโรคร้ายแรงบางส่วนหรือทั้งหมด บางคนเลือกไปรักษานอกสิทธิที่มีอยู่ เพราะต้องการความรวดเร็วหรือความสะดวกสบายกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการใช้เงินค่อนข้างสูง
นอกเหนือจากค่ารักษาแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก เช่น ค่ายานอกบัญชีที่ใช้ในการรักษา ค่าเครื่องมือแพทย์ วิธีการรักษาด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยกว่าเดิมหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของผู้ป่วยเอง รวมถึงคนในครอบครัวที่ต้องดูแลผู้ป่วย อาทิ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่ากิน เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ ล้วนต้องใช้เงินทั้งสิ้น
ผู้เขียน มีเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งคุณแม่ของเพื่อนท่านนี้ ตรวจพบว่าเป็นโรคไต ต้องทำการฟอกไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทุกวันจันทร์และ วันพฤหัสบดี โดยขับรถเดินทางจากบ้านที่อำเภอเชียงแสนไปโรงยาบาลเอกชน เป็นระยะทางไปและกลับ เกือบ 130 กม.
โดยจ่ายค่าฟอกไตด้วยตนเอง ครั้งละ 1,500 บาท คิดเป็นต่อสัปดาห์ละ 3,000 บาท เดือนละ 12,000 บาท ปีละ 144,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี สุดท้ายเพื่อให้มีเงินมารักษาจึงต้องแบ่งขายที่นา แต่เพื่อลดค่าใช้จ่าย ปัจจุบันต้องเปลี่ยนมาฟอกไตโดยใช้สิทธิจากบัตรทอง ที่โรงพยาบาลของรัฐ
อีกตัวอย่างหนึ่งของการมีวงเงินรักษาพยาบาล กรณีเกิดโรคร้ายแรง คือ การทำประกันโควิด 19 แบบ เจอ จ่าย จบ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีหลายคนได้เคลมสินไหมฯ จากการทำประกันโควิด 19 แบบ เจอ จ่าย จบ ไว้ ได้รับวงเงินเป็นจำนวน หลักหมื่นหรือหลักแสนบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ได้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยและการขาดรายได้จากการทำงานหากติดโควิด
ประกันภัยโรคร้ายแรงก็เช่นเดียวกัน หากผู้เอาประกันภัยตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรง ก็จะสามารถเคลมสินไหมฯ เป็นเงินก้อน (คล้ายประกันโควิด แบบเจอ จ่าย จบ) ซึ่งเงินที่ได้จากประกันภัยโรคร้ายแรงจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิตต่อไปได้ หากผู้เอาประกันภัยต้องหยุดทำงาน เช่น อาชีพค้าขาย หรือต้องลาออกจากงานประจำเพื่อไปรักษาตัวเอง ทำให้ไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายประจำในครอบครัวยังคงมีเช่นเดิม
ในระยะยาว หากการรักษาโรคร้ายแรงยังไม่หายหรือต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่มีรายได้เข้ามาหรือรายได้ลดลง หลายครอบครัวจำเป็นจะต้องขายทรัพย์สินที่มี เช่น แบ่งขายที่ดิน ขายบ้าน คอนโดมีเนียม ทองคำ ขายหุ้น ขายกองทุน หรือเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีมูลค่ากรมธรรม์ ทำให้ความมั่งคั่งที่เคยเป็นอยู่ลดลงหรือบางครอบครัวอาจจะต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่าย กลายเป็นภาระที่ตามมาในการคืนชำระหนี้
ดังนั้น การวางแผนประกันภัยโรคร้ายแรง เป็นการเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ซึ่งสามารถวางแผนทำทุนประกันที่เหมาะสมได้ 3 วิธี
- 1. คำนวนจากรายได้ใน 1 ปี แล้วประมาณการระยะเวลาไปอีก 10 ปี หรือ 20 ปี หากเราไม่เป็นโรคร้ายแรงเสียก่อนเราจะสามารถทำงานมีรายได้ เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่
- เช่น นายเอ ปัจจุบันมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท ใน 1 ปีจะมีรายได้ 240,000 บาท และหาก 10 ปีจะมีโอกาสทำงานได้เงินถึง 2,400,000 บาท ซึ่งเรียกว่า ค่าความสามารถในการทำงาน
- 2. คำนวณทุนประกันภัยจากค่าใช้จ่ายต่อเดือน แล้วประมาณการรวมเป็น 1 ปี, 10 ปีหรือ 20 ปี ถ้าหากต้องหยุดทำงานและไม่มีรายได้ควรจะมีเงินจำนวนหนึ่งเป็นจำนวนเท่าไหร่ ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเหล่านี้
เช่น นายเอ มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท รวมปีละ 120,000 บาท หาก10 ปี เป็นเงิน1,200,000 บาท - 3. วางแผนทำทุนประกัน โดยอ้างอิงกับค่ารักษาโรคร้ายแรงในปัจจุบัน เช่น โรคมะเร็ง ค่ารักษาโดยประมาณ 500,000 - 2,000,000 บาท* เป็นต้น
ดังนั้น นายเอ สามารถวางแผนประกันภัยโรคร้ายแรงด้วยทุนประกัน แนะนำเบื้องต้นที่ 500,000 – 2,400,000 บาท
ปัจจุบัน บริษัทประกันมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยโรคร้ายแรงให้เลือกหลากหลาย ซึ่งมีรายละเอียดที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างกัน จึงควรเลือกพิจารณา ดังนี้
- 1. ชนิดหรือจำนวนโรคร้ายแรงที่ระบุในความคุ้มครอง บางบริษัทประกัน คุ้มครอง 30 โรคร้ายแรง บางบริษัทประกันคุ้มครอง 36 โรคร้ายแรงหรือ 50 โรคร้ายแรง
ตัวอย่าง** รายการโรคร้ายแรง ได้แก่ 1. โรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ 2. โรคโลหิตจางจากไขกระดูกไม่สร้างเม็ดโลหิต 3. โรคเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย 4. เนื้องอกในสมอง ชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง 5. ตาบอด 6. โรคมะเร็ง 7. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ 8. ตับวาย 9. โรคหลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรง/โรคปอดระยะสุดท้าย 10. ภาวะโคม่า 11. การผ่าตัดเส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ 12.กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด 13. การผ่าตัดลิ้นหัวใจ 14. ไตวายเรื้อรัง 15. การสูญเสียการได้ยิน 16. การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 17.การสูญเสียความสามารถในการพูด 18. แผลไหม้ฉกรรจ์ 19. การบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง 20. การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะหรือปลูกถ่ายไขกระดูก 21. โรคของเซลล์ประสาทควบคุมการเคลื่อนไหว 22.โรคระบบประสาทมัลติเพิลสะเคลอโรสิส 23. โรคกล้ามเนื้อเสื่อม 24. โรคไวรัสตับอักเสบขั้นรุนแรง 25. อัมพาตของกล้ามเนื้อแขนหรือขา 26. โรคพาร์กินสัน 27. โรคแรงดันในหลอดเลือดแดงปอดสูงแบบปฐมภูมิ 28. โรคหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน 29. การผ่าตัดเส้นเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า 30. ไตอักเสบลูปูส จากโรคซิสเต็มมิค ลูปูส อิริเธมาโตซูส 31. สมองอักเสบจากเชื้อไวรัส 32. ภาวะอะแพลลิก 33. โรคโปลิโอ 34. โรคถุงน้ำในไต 35. โรคหนังแข็งชนิดลุกลาม 36. การเจ็บป่วยระยะสุดท้าย
- 2. เงื่อนไขการเคลมสินไหมฯ อาจแบ่งเป็นช่วงระยะของโรค เช่น โรคร้ายแรงระยะเริ่มต้นจ่าย 25% โรคร้ายแรงระยะกลางจ่าย 50% โรคร้ายแรงระยะรุนแรงจ่าย 100% ของทุนเอาประกัน*** หรือบางบริษัทฯ คุ้มครองเฉพาะระยะรุนแรงจ่าย 100% ของทุนเอาประกัน เป็นต้น
สมมุติ นายเอ ทำประกันโรคร้ายแรงด้วยทุนประกัน 2,000,000 บาท หากตรวจพบเป็นโรคมะเร็งลำไส้ระยะลุกลาม บริษัทประกันก็จะจ่ายค่าสินไหมฯให้นายเอ 2,000,000 บาท
- 3. เงื่อนไขการพิจารณารับประกัน บางบริษัทฯ อาจจะพิจารณาจากประวัติสุขภาพที่ผ่านมา หรือบางบริษัทฯ ต้องตรวจสุขภาพใหม่ ประกอบด้วย
- 4. เบี้ยประกันภัย มีปัจจัยเรื่องเพศ อายุ อาชีพ ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยแต่ละบุคคล บางบริษัทฯ มีส่วนลดหรือโปรโมชั่นในการทำประกัน
หากท่านสนใจวางแผนและออกแบบประกันภัย โรคร้ายแรงให้เหมาะสมกับตนเองและครอบครัว การเลือกขอรับคำปรึกษาจากตัวแทนประกันหรือนักวางแผนการเงินมืออาชีพจะทำให้ท่านได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุมตามความจำเป็น และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระเบี้ยที่เหมาะสมที่สุด
ท้ายสุดนี้ มีประกันแล้วไม่ได้เป็น (โรคร้ายแรง ) ก็ดีกว่าเป็น (โรคร้ายแรง) แล้วไม่มีประกัน เพราะโรคร้ายแรง (อาจ) รักษาหาย แต่เงิน (อาจ) มลายหายเกลี้ยงไปด้วยเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง
*บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
** บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
***บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th