บทความ: ลงทุน
เข้าใจเศรษฐกิจ พิชิตชัยการลงทุน
โดย ธีรวัตร์ นรอิงคสิทธิ์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
“เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป” สัจธรรมข้อนี้ สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต รวมไปถึงในเรื่องของวัฎจักรของการลงทุน ซึ่งการเลือกประเภทการลงทุนให้เหมาะสมตามวัฎจักรเศรษฐกิจก็จะทำให้นักลงทุนค้นพบช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทและสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดในการจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการลงทุนได้
ทฤษฎีที่จะกล่าวถึงนี้เรียกว่า The Six Stages of Business Cycle ของคุณ Martin J. Pring ซึ่งทฤษฎีนี้ได้มีการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาสู่การเป็นตัวชี้วัดทางการเงินและเศรษฐกิจเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาเลือกสินทรัพย์ในการลงทุน โดยแบ่งสินทรัพย์เพื่อการลงทุนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพันธบัตร กลุ่มหลักทรัพย์ และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ตาม 6 วัฎจักรเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสุด ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ภาวะเศรษฐกิจขยายตัว ภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรื่อง และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งภาพรวมของแต่ละลักษณะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา จะถูกอธิบายในลำดับถัดไป
ระยะที่ 1 ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูง ควรลงทุนในตราสารหนี้
ในสภาวะนี้ เศรษฐกิจจะมีการเติบโตที่ลดลง การค้าเริ่มซบเซา ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มลดกำลังในการผลิต และลดต้นทุนต่างๆ การว่างงานสูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ประชาชนมีอำนาจในการซื้อลดลง เป็นช่วงเวลาที่ควรลงทุนในพันธบัตร เพราะมูลค่าตราสารหนี้จะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย โดยที่เมื่ออัตราดอกเบี้ยขึ้น ราคาพันธบัตรจะลดลง ประกอบกับการที่มีรัฐบาลค้ำประกัน จึงมีความปลอดภัยมาก เหมาะกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย แต่หากนักลงทุนต้องการจะลงทุนในหลักทรัพย์ ก็ควรลงทุนในกลุ่มสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ระยะที่ 2 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสุด เป็นจังหวะในการลงทุนหลักทรัพย์
สภาวะนี้เปรียบเสมือนมีเมฆดำปกคลุม มองไปทางไหนก็ไม่เห็นโอกาส ไม่มีสภาพคล่องในการค้าขาย และบางธุรกิจอาจเกิดปัญหาสินค้าค้างสต็อกเป็นจำนวนมาก การว่างงานสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และประชาชนไม่มีกำลังซื้อเพราะรายได้ลดลง ซึ่งในช่วงเวลานี้ควรลงทุนในหลักทรัพย์ เน้นลงทุนในกลุ่มชี้นำการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หรือ กลุ่มสินค้าบริโภค เพราะจะซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และสัญญาณที่จะทำให้แน่ใจว่าเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะนี้ก็คือ อัตราดอกเบี้ยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและราคาพันธบัตรยังคงสูงขึ้น
ระยะที่ 3 ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น
ในสภาวะนี้ เศรษฐกิจโดยทั่วไปเริ่มดีขึ้น ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น ธุรกิจเริ่มกลับมามีกำไร ธนาคารและสถาบันทางการเงินเริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อ เพื่อกระตุ้นการผลิตและการลงทุนของผู้ประกอบการ ในจังหวะนี้ สามารถเริ่มเข้าไปลงทุนในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ได้ เพราะสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยในการผลิต ดังนั้นหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการของสินค้ากลุ่มนี้จะมากขึ้น และราคาจะปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ และหากประสงค์จะลงทุนในหลักทรัพย์ ควรเลือกหุ้นที่มีฟื้นฐานดี หรือกลุ่มวัฎจักร
ระยะที่ 4 ภาวะเศรษฐกิจขยายตัว ให้ขายพันธบัตร และลงทุนในหลักทรัพย์
บรรยากาศโดยรวมในสภาวะนี้ถือว่าดี ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการลงทุน รวมไปถึงผลตอบแทนจากการลงทุน ทำให้การลงทุนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นมาก ประชาชนมีสภาพคล่องในการซื้อสินค้าและบริการ ทำให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตในอัตราสูง เป็นช่วงเวลาเหมาะสมในการขายพันธบัตร เพราะดอกเบี้ยจะเริ่มเป็นขาขึ้น เพื่อลดความร้อนแรงในระบบเศรษฐกิจลง ซึ่งจะทำให้ราคาพันธบัตรปรับตัวลดลง แต่ราคาหลักทรัพย์และ สินค้าโภคภัณฑ์ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถเลือกลงทุนได้ทุกกลุ่มหลักทรัพย์
ระยะที่ 5 ภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรือง ทยอยขายหลักทรัพย์
ในจุดที่ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อสูง และเป็นช่วงที่มีการจ้างงานอย่างเต็มที่ แรงงานก็สามารถที่จะเลือกงานและเรียกร้องค่าจ้าง ได้อย่างที่ต้องการ มีสภาพคล่องในการค้าขาย การจับจ่ายสินค้าบริโภคอุปโภคและการท่องเที่ยวสูงสุด ทำให้สินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจนอาจจะก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ประกอบกับผู้บริโภคไม่ได้จับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นเท่าเดิม เนื่องจากเริ่มนำเงินไปออมมากขึ้น ทำให้กำไรของบริษัทเริ่มลดลง ในช่วงนี้จะเป็นช่วงจุดสูงสุดของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเมื่อพ้นตรงนี้ไปแล้วก็จะทำให้มีการปรับราคาลง ทำให้เป็นจังหวะที่ดีที่จะเริ่มทยอยขายหลักทรัพ์ที่สะสมไว้
ระยะที่ 6 ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ถือเงินสดเป็นหลัก
ในภาวะเศรษฐกิจนี้จะมีอัตราเงินเฟ้อที่สูง จากการลงทุนและการบริโภคเกินกำลังการผลิตของประเทศ อัตรา GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นน้อยมาก ผู้ประอบการลดความเชื่อมั่นใจการลงทุน ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้นจากการแข่งขันที่สูงขึ้น สิ่งที่ตามมา อาจเกิดการลดกำลังการผลิตและอัตราจ้างงาน ก่อให้เกิดสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว จะเห็นได้ว่าภาวะนี้จะตรงกันข้ามกับระยะที่ 3 ซึ่งจะส่งผลให้สินทรัพย์การลงทุนไม่ว่าจเป็น กลุ่มพันธบัตร กลุ่มหลักทรัพย์ และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาตกลงอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงเวลานี้จึงแนะนำให้ถือเงินสดเป็นหลัก
หลังจากจบระยะที่ 6 แล้วก็จะเข้าสู่สภาวะวิกฤต หลังจากนั้นก็จะเป็นการกลับไปเริ่มต้นที่ระยะที่ 1 ใหม่ วนเวียนอย่างนี้เรื่อยไป ซึ่งหากนักลงทุนเข้าใจว่าในหนึ่งรอบวัฎจักรจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง อะไรเป็นจุดที่จะบ่งบอกว่าตอนนี้ประเทศอยู่ใน สภาวะใด ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในขณะนั้น เช่นถ้าตอนนี้นักลงทุนมองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่งชี้ไปว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวก็จะเริ่มย้ายสินทรัพย์จากสินทรัพย์เสี่ยงไปถือเงินสด หรือถ้าเป็นการลงทุนในกองทุนรวมก็สามารถที่จะสับไปยังกองทุนตลาดเงินที่ลงทุนในเงินสดได้นั่นเอง
นอกจากการจัดสรรพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจแล้วนักลงทุนก็ควรเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับเรื่องอื่นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การมีเงินสำรองฉุกเฉินไม่น้อยกว่า 12 เดือน การมีรายได้หลายช่องทางและสม่ำเสมอ การให้ความสำคัญกับการออมเงิน การมีประกันสุขภาพ ซึ่งหากจัดการวางแผนการเงินได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในสภาวะใด นักลงทุนก็สามารถลงทุนได้อย่างมีความสุข
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th