logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

ออกแบบการลงทุนผ่านกองทุนรวม

โดย ราชันย์ ตันติจินดา นักวางแผนการเงิน CFP®

 

เมื่อพูดถึงการลงทุน มักนึกถึงผลตอบแทนที่ช่วยให้เงินลงทุนงอกเงยเป็นความมั่งคั่งในอนาคต แต่เส้นทางการลงทุนจะสวยงามได้ต้องอาศัยการออกแบบที่เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละราย รวมถึงต้องใช้ตัวเลือกการลงทุนที่ดีเช่นกัน ซึ่งกองทุนรวมเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ใช้ออกแบบการลงทุน เนื่องจากมีข้อจำกัดค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนทางเลือกอื่น อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลให้แน่ใจก่อนตัดสินใจลงทุน

 

ทำไมต้องกองทุนรวม

 

กองทุนรวม เป็นตัวเลือกเริ่มต้นที่สะดวก ด้วยเงินลงทุนน้อย เช่น 500 - 1,000 บาท หรือบางกองทุนสามารถเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียง 1 บาท และสำหรับผู้ที่ไม่เคยลงทุนกองทุนรวมมาก่อน การเปิดบัญชีกองทุนในปัจจุบันถือว่าสะดวกมาก เพราะสามารถเปิดบัญชีกองทุนรวมได้ทันทีผ่านแอปพลิเคชันของ บลจ. บล. บลน. หรือธนาคารพาณิชย์ และยังเลือกลงทุนกองทุนรวมได้หลากหลาย บลจ. ในแอปพลิเคชันเดียวแบบไม่จำกัดค่ายอีกด้วย

 

นอกจากความสะดวกในการเปิดบัญชี / ซื้อ / ขาย / สับเปลี่ยนแล้ว กองทุนรวมยังมีให้เลือกตามระดับความเสี่ยง เริ่มตั้งแต่กองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลาง และความเสี่ยงสูง อีกทั้งประเภทกองทุนก็มีหลากหลาย เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ทองคำ น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และยังมีการลงทุนให้เลือกแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายภูมิภาค รายอุตสาหกรรม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่สนใจ

 

อีกหนึ่งข้อดีของกองทุนรวม คือ กระจายการลงทุน เพราะเงินทุกบาทที่ลงทุนในกองทุนรวม จะถูกกระจายการลงทุนไปในหลากหลายหลักทรัพย์ตามนโยบายการลงทุนที่ประกาศไว้ เป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุนและการกระจุกตัวในหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งมากเกินไป ทำให้แม้มีผู้ออกหลักทรัพย์บางแห่งประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ ก็จะส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนในกองทุนรวมไม่มากนัก

 

อยากเห็นผลเร็ว เลือกกองทุนรวมอย่างไร

 

ผลตอบแทน คือ ความคาดหวังหลักของนักลงทุน ยิ่งเห็นกำไรได้เร็วยิ่งช่วยเติมเต็มความสุขในการลงทุน แต่การลงทุนแบบนี้นักลงทุนจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูล ติดตามข่าวสาร รวมถึงเปรียบเทียบความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ซึ่งเป็นความเห็นที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ มาแล้ว เช่น ข่าวสาร สถานการณ์ ตัวเลขทางเศรษฐกิจ รวมถึงสัญญาณทางเทคนิคด้วยว่ามีสินทรัพย์ใดได้รับกระทบเชิงบวก และผลตอบแทนมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าสินทรัพย์อื่น เพื่อตัดสินใจเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านั้น

 

การติดตามข่าวสาร ไม่ได้ใช้เฉพาะกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนรวมหุ้นหรือกองทุนรวมผสม แต่ยังรวมไปถึงกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มักใช้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยในการตัดสินใจลงทุน เช่น ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยกำลังเป็นขาขึ้น นักลงทุนอาจเลือกลดการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว และเพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นแทน เพื่อลดความผันผวนของมูลค่าเงินลงทุน เป็นต้น

 

นอกจากผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว สิทธิประโยชน์ทางภาษีก็เป็นอีกหนึ่งผลตอบแทนระยะสั้นที่หลายคนมักนึกไม่ถึง ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนต้องรู้อัตราที่แน่นอนตามฐานภาษีของตัวเอง คือ 5 - 35% ของยอดเงินลงทุน โดยนักลงทุนสามารถเลือกซื้อกองทุนรวม SSF และ RMF ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับความเห็นของบทวิเคราะห์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนระยะสั้น ทั้งจากการลงทุนและเงินคืนภาษีในการลงทุนครั้งเดียวกัน

 

อยากเห็นผลตอบแทนระยะยาว เลือกลงทุนอย่างไร

 

ควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีพื้นฐานการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะยาว แม้ในระยะสั้นอาจมีความผันผวนจากสถานการณ์ที่เข้ามากระทบบ้าง เช่น กองทุนรวมที่เน้นหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี กองทุนรวมหุ้นกลุ่มเมกะเทรนด์ กองทุนรวมหุ้นกลุ่มยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งกองทุนรวมเหล่านี้มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับวิถีโลกที่เปลี่ยนไป หรือเลือกกระจายการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลกหรือภูมิภาค เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน เป็นต้น เพื่อให้เงินลงทุนได้เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจโลกได้

 

นอกจากการเลือกกองทุนรวมแล้ว การจัดสัดส่วนเงินลงทุนหรือจัดพอร์ตลงทุน ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เงินลงทุนเติบโตได้ในระยะยาว ด้วยความผันผวนและความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถยอมรับได้ เช่น

 

  • ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรมีสินทรัพย์เสี่ยงสูง 10 – 15% ของเงินลงทุน
  • ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ควรมีสินทรัพย์เสี่ยงสูง 40 – 50 % ของเงินลงทุน
  • ผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง ควรมีสินทรัพย์เสี่ยงสูง 60 – 70 % ของเงินลงทุน

 

โดยสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมผสม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และเงินส่วนที่เหลือควรเป็นสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

 

เงินลงทุนในส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงสูง อาจมีทั้งการเน้นถือยาวและเน้นสับเปลี่ยนการลงทุนตามความเห็นของบทวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่ต้องรักษาสัดส่วนเงินลงทุนส่วนนี้โดยรวมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ ส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ หากเป็นการลงทุนระยะยาว ผลตอบแทนกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาวมักจะสูงกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เพียงแต่ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุน (Portfolio Duration) สอดคล้องหรือสั้นกว่าระยะเวลาการลงทุนที่ตั้งใจ และเป็นกองทุนที่มีการลงทุนส่วนใหญ่ในตราสารหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือระดับ Investment Grade ด้วย

 

แผนการลงทุนที่ดี ไม่ได้อยู่ที่ผลตอบแทนสูงเสมอไป แต่ผลตอบแทนนั้นต้องสอดคล้องกับเป้าหมายและข้อจำกัดการลงทุนของแต่ละคน ตัวช่วยที่ทำให้แผนการลงทุนดีได้และนักลงทุนสามารถนำไปใช้ได้ทันที ได้แก่ การควบคุมความเสี่ยงของเงินลงทุน ด้วยการจัดสัดส่วนพอร์ตลงทุนที่เหมาะสม ค่อย ๆ เริ่มต้นและเรียนรู้ ด้วยเงินลงทุนไม่ต้องมากหรือเป็นเงินส่วนที่รับความเสี่ยงได้ และกระจายการลงทุนไม่ให้กระจุกตัว ด้วยการลงทุนผ่านกองทุนรวม

 

ที่มา: www.setinvestnow.com, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th