logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

เทคนิคการขายกองทุนรวม

โดย นิชฌานี ฉันทศาสตร์ นักวางแผนการเงิน CFP®

สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนหรือกำลังลงทุนในกองทุนรวม อาจเกิดคำถามขึ้นว่า “เมื่อไหร่ควรขายกองทุนรวมที่ถืออยู่” ซึ่งคำถามนี้ไม่มีสูตรสำเร็จหรือกฎเกณฑ์ที่แน่นอน อยู่ที่ความพึงพอใจของแต่ละบุคคล ที่สำคัญไม่มีใครคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำว่ากองทุนรวมที่ลงทุนอยู่จะมีมูลค่าสูงขึ้นหรือลดลง ซึ่งนักลงทุนที่เจอสถานการณ์เดียวกัน อาจตัดสินใจแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ก่อนตัดสินใจขายควรพิจารณาใน 3 ประเด็น ดังนี้

“ขาย” เมื่อกำไรถึงเป้าหมาย

การวางแผนการลงทุน นักลงทุนควรกำหนดเป้าหมายว่าลงทุนเพื่ออะไร หมายความว่า หากกองทุนรวมนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายแล้ว ก็สามารถพิจารณาขายได้ เช่น ตั้งเป้าหมายขายกองทุนรวมเมื่อมีกำไร 5% โดยอาจขายทั้งหมดหรือขายเฉพาะส่วนที่เป็นกำไรเพื่อเก็บเงินที่เป็นต้นลงทุนไว้หากมองว่ายังมีแนวโน้มการเติบโตต่อไป

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายผลตอบแทนควรสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนหรือระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม หากกองทุนรวมนั้นมีนโยบายลงทุนในหุ้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูง มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูง ก็สามารถตั้งเป้าหมายผลตอบแทนสูงกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น

“ขาย” เพื่อปรับพอร์ตลงทุน

การลงทุนที่ดีควรจัดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระจายความเสี่ยง ด้วยการจัดสัดส่วนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หากรับความเสี่ยงได้สูงก็สามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้นในสัดส่วนที่สูงได้ แต่หากไม่ต้องการรับความเสี่ยงมากนักก็ลดสัดส่วนหุ้นลง

ทั้งนี้ เมื่อลงทุนไประยะหนึ่งแล้ว สัดส่วนการลงทุนอาจเปลี่ยนแปลง นักลงทุนควรทำการปรับสัดส่วน (Rebalancing) เช่น ราคาหุ้นปรับสูงขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนหุ้นเพิ่มขึ้นก็สามารถขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นแล้วนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งระยะเวลาในการปรับสัดส่วนดังกล่าวอาจทำทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญและกระทบต่อพอร์ตลงทุน

ขาย” เมื่อกองทุนทำผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีชี้วัด

เป็นเรื่องปกติที่ระหว่างทางการลงทุนอาจมีปัจจัยที่เข้ามากระทบและส่งผลให้ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ซึ่งนักลงทุนสามารถปรับเปลี่ยนกองทุนรวมที่ลงทุนอยู่ โดยเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนรวมกับดัชนีชี้วัด (Benchmark) ของกองทุนรวมนั้น ๆ รวมถึงเปรียบเทียบกับกองทุนรวมอื่น ๆ ที่อยู่ในประเภทเดียวกัน โดยดูข้อมูลผลการดำเนินงานได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet)

กองทุนรวมส่วนใหญ่จะกำหนดดัชนีชี้วัดที่ใช้ในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน โดยขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน เช่น กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ กำหนดดัชนีชี้วัดเป็นดัชนีผลตอบแทนรวมของตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET TRI) ซึ่งดูว่ากองทุนรวมที่ลงทุนนั้น มีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัด ทั้งนี้ ควรพิจารณาผลการดำเนินงานของกองทุนรวมหลาย ๆ ช่วงเวลาประกอบกัน

ตัวอย่างเช่น กองทุนรวมหุ้นไทย ระยะเวลาย้อนหลัง 1 ปี ดัชนีชี้วัดมีผลการดำเนินงาน 8.00% แต่กองทุนรวมสร้างผลการดำเนินงานได้ 10.00% แสดงว่ากองทุนรวมมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าดัชนีชี้วัด ขณะที่ระยะเวลาย้อนหลัง 3 เดือน ดัชนีชี้วัดมีผลการดำเนินงาน 4.00% ส่วนกองทุนรวมสร้างผลการดำเนินงานได้ 3.00% กรณีดังกล่าวอาจไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการลงทุน เนื่องจากการลงทุนในหุ้น ความผันผวนสามารถเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น ในทางกลับกัน หากกองทุนรวมที่ลงทุนอยู่ทำผลการดำเนินงานได้ต่ำกว่าดัชนีชี้วัดอย่างต่อเนื่องหรือเกือบทุกช่วงเวลา อาจพิจารณาขายกองทุนรวมที่ลงทุนอยู่เพื่อไปลงทุนกองทุนรวมใหม่ที่มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่า

เมื่อนักลงทุนขายกองทุนแล้ว นอกจากจะได้รับเงินที่ขายเข้าบัญชีเงินฝากที่ผูกไว้กับกองทุนรวมแล้ว ยังมีทางเลือกที่จะสับเปลี่ยนกองทุนรวม (Switching) ไปพักไว้ที่กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นหรือกองทุนรวมตลาดเงิน ซึ่งวิธีนี้ มีข้อดีคือ ผลตอบแทนจากการพักเงินดังกล่าวมักสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์

นอกจากนี้ การสับเปลี่ยนกองทุนรวมสามารถใช้ในกรณีที่ต้องการปรับเปลี่ยนกองทุนรวมแต่ยังติดเงื่อนไขการลงทุน สำหรับกองทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้ง กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เช่น กองทุน SSF ที่ต้องถือครอง 10 ปีเต็มนับตั้งแต่วันที่ลงทุน สมมติว่าปัจจุบันลงทุนในกองทุนรวม SSF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทย เมื่อระยะเวลาผ่านไป ราคากองทุนรวมปรับตัวสูงขึ้น นักลงทุนต้องการขายทำกำไรแต่ติดเงื่อนไขการลงทุนก็สามารถสับเปลี่ยนไปยังกองทุนรวม SSF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นหรือกองทุนรวม SSF ที่ลงทุนในตลาดเงินได้

ทั้งนี้ การสับเปลี่ยนกองทุนรวม SSF และ RMF ก่อนครบกำหนดเงื่อนไขการลงทุนเพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไข ต้องสับเปลี่ยนไปยังกองทุนรวมประเภทเดียวกัน คือ กองทุนรวม SSF ต้องสับเปลี่ยนไปยังกองทุนรวม SSF เช่นเดียวกับกองทุนรวม RMF ต้องสับเปลี่ยนไปยังกองทุนรวม RMF

แม้ว่าการลงทุนระยะยาวจะช่วยให้นักลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนที่ดี แต่เพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามแผน ระหว่างทางต้องติดตามข้อมูลข่าวสารและผลตอบแทนของกองทุนรวมที่ลงทุนว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

ที่มา: www.setinvestnow.com, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th