logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

ปรับใช้พฤติกรรมการซื้อขายทองคำกับการลงทุนในตลาดหุ้น

โดย ปรารถนา จันทนสกุลวงศ์ นักวางแผนการเงิน CFP®

ที่ผ่านมาหากสังเกตพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้นกับตลาดทองคำของบ้านเรา จะเห็นได้ว่าผู้ลงทุนของทั้งสองตลาดมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน สังเกตได้ว่าโดยส่วนใหญเมื่อราคาทองปรับตัวลงมามาก ผู้คนก็จะยืนเต็มร้านทองเพื่อต่อคิวรอซื้อทองคำ และเมื่อราคาทองคำขึ้นมามากก็จะเห็นภาพเช่นเดิมแต่เป็นการต่อคิวหอบทองคำมาขาย แต่ตัดภาพมาที่ตลาดหุ้น ดูเหมือนจะสวนทางกับร้านทอง เพราะเมื่อหุ้นยิ่งขึ้นแรงๆ นักลงทุนมักจะชอบซื้อเพิ่ม และยิ่งขึ้นมากๆ ก็ยิ่งซื้อเพิ่มเข้าไปอีก แต่ในทางกลับกันเมื่อตลาดหุ้นตกลงแรง ก็ยอมที่จะขายขาดทุน ยิ่งตกแรงยิ่งขายแทบล้างพอร์ต และพฤติกรรมการลงทุนในตลาดหุ้นข้างต้นก็ทำให้นักลงทุนหลายท่านเข็ด และหยุดลงทุนจนสุดท้ายต้องออกจากตลาดหุ้นไป จนมีบางท่านก็ยังเข้าใจว่าการลงทุนในทองคำให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะที่ผ่านมา ซื้อทองไม่ขาดทุนเลย (เพราะไม่ขายตอนขาดทุน ยอมถือระยะยาวได้) แต่พอซื้อหุ้น หรือกองทุนหุ้น ซื้อแล้วก็ขาดทุน (เพราะไปขายตอนราคาลง ทนถือนานๆ ไม่ได้)

Source: Longtermtrends

ภาพที่ 1: กราฟเปรียบเทียบระหว่างดัชนี S&P500 vs Down jones vs Gold vs Silver
แต่หากดูจากภาพที่ 1 ไม่ว่าจะย้อนหลัง 10 ปี หรือ 30 ปี หรือ 50 ปี จะเห็นว่าการลงทุนในตลาดหุ้นของสหรัฐ (เส้นสีแดงและสีน้ำเงิน) ทำผลตอบแทนได้ดีกว่าการลงทุนในทองคำ(เส้นสีเหลือง) ซึ่งที่ผ่านมาทองคำก็ทำผลตอบแทนได้ดีเช่นกันถึงแม้จะได้ผลตอบแทนไม่มากเท่ากับลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ แต่ถึงอย่างนั้นก็มักจะเห็นผู้ลงทุนจำนวนหนึ่งที่ชื่นชอบการลงทุนในทองคำ และก็ถือว่ามีประสบการณ์ที่ดีในการลงทุนในทองคำ จึงขอยกตัวอย่างเพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ลงทุนในทองคำ เพื่อจะนำมาปรับใช้กับการลงทุนในตลาดหุ้นกันค่ะ

  • 1. การซื้อทองคำเกิดจากความเชื่อว่าทองคำยังเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการ และเป็นของมีค่าในทุกยุคทุกสมัย และเชื่อว่าราคาทองคำไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร ราคาก็จะปรับขึ้นอยู่ตลอด ดังคำกล่าวที่มักคุ้นชินกันว่า มีเงินเค้าเรียกเป็นน้อง มีทองเค้าเรียกเป็นพี่

  • 2. ผู้ลงทุนมักติดตามราคาทองคำอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งที่ผ่านมามักจะเห็นว่าเมื่อราคาทองคำลงมาต่ำกว่า 20,000 บาท ร้านทองคำจะเต็มไปด้วยผู้คนต่อคิวซื้อทองคำกันอย่างล้นหลาม และหากราคาใกล้ 30,000 บาท ร้านทองก็จะหนาแน่นไปด้วยผู้คนที่แบกทองคำมาขายกันอย่างต่อเนื่อง

  • 3. ยินดีที่จะถืออย่างยาวนาน เพราะอย่างน้อยก็ยังมีทองคำที่สามารถจับต้องได้

  • 4. ไม่ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะวิกฤตขนาดไหน ทองคำก็ยังเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ และราคายิ่งเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างพฤติกรรมของนักลงทุนที่ชื่นชอบทองคำอาจมีมากกว่านี้ แต่พฤติกรรมที่ยกตัวอย่างมานี้ก็เพียงพอที่จะนำมาปรับใช้กับผู้ลงทุนในตลาดหุ้นได้ ดังนี้

  • 1. สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน เพราะเราถูกปลูกฝังตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่ว่าราคาทองคำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องหาข้อมูลเพื่อสนับสนุนความเชื่อว่าหุ้นหรือกองทุนในอนาคตจะมีราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาวเช่นกัน โดยการดูผลตอบแทนย้อนหลังในอดีตประกอบ และการค้นหาข้อมูล งบการเงิน ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท เพื่อให้เข้าใจถึงโครงสร้างความแข็งแกร่งของบริษัทนั้นๆ และจะได้เชื่อมั่นและมั่นใจว่าอนาคตบริษัทเหล่านี้จะสามารถสร้างผลกำไรได้ และทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้ต่อไป ขอยกตัวอย่าง หุ้น AOT (Airports of Thailand PCL) หรือท่าอากาศยานของไทย เมื่อพบว่าเกิดวิกฤตโควิดเข้ามา หลายประเทศล๊อคดาวน์ และผู้คนกลัวการติดเชื้อ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ จึงคาดว่าจะกระทบต่อผลประกอบการ ทำให้ราคาลงมาอย่างหนัก ซึ่งจังหวะนั้นถ้าหากเป็นทองคำ ผู้คนจะต้องต่อคิวซื้ออย่างยาวเหยียด แต่พอเป็นหุ้น กลับมีคนขายทุกราคาที่ปรับตัวลงมา หากเรามองมุมกลับ และมีความเชื่อมั่นต่อหุ้น AOT ว่าจะสามารถทำผลประกอบการที่ดีกลับมาได้ โดยการศึกษาสถิติที่ผ่านมา วิกฤตต่างๆ หุ้น AOT ก็ผ่านมาได้ อย่างเช่นการปิดสนามบินประท้วงครั้งก่อนทำให้ราคาร่วงลงไปมากแต่ราคาก็กลับขึ้นมาและปรับตัวขึ้นได้มากกว่าเดิม ส่วนครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่เจอวิกฤตโควิด จึงเป็นโอกาสในการลงทุนในราคาที่ถูกลง ซึ่งหากเราศึกษาราคา และผลตอบแทนย้อนหลัง รวมถึงโครงสร้างงบการเงิน และความสามารถในการกลับมาทำกำไรได้ในอนาคตของบริษัท ก็จะทำให้เรามีความเชื่อมั่นและกล้าที่จะซื้อในราคาที่ถูกมากๆ และเช่นกันกับการลงทุนในกองทุน หากเราดูองค์ประกอบการลงทุนในกองทุน และวิสัยทัศน์ของผู้จัดการกองทุน รวมถึง ผลตอบแทนที่ผู้จัดการกองทุนทำได้ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนว่าราคาจะสามารถปรับตัวขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้นหากราคาที่ปรับตัวลงมามากๆ จะทำให้เรากล้าซื้อในวันที่คนอื่นๆ เทขาย

  • 2. หากเราศึกษาปัจจัยพื้นฐานของหุ้น และกองทุนอย่างเชื่อมั่นแล้ว ต่อมาคือการติดตามราคา ผู้ลงทุนทองคำมักจะติดตามราคาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการติดตามราคาของหุ้น กองทุน หรือสินทรัพย์ที่เราต้องการลงทุนก็เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของสินทรัพย์และประเมินได้ว่าน่าลงทุนหรือไม่เมื่อราคาปรับลงมา หรือราคาที่ปรับขึ้นมามากๆ แพงไปสำหรับเราหรือไม่ ถ้าหากยังไม่มีก็จะได้ไม่ซื้อ หรือหากมีแล้วก็จะได้มีโอกาสขายทำกำไรออกบ้างได้เช่นกัน

  • 3. หากมองว่าสินทรัพย์ที่เราลงทุนมีความผันผวนมาก การจัดพอร์ตการลงทุน และการกระจายการลงทุนให้มากพอ จะช่วยเสริมสร้างพอร์ตการลงทุนให้มีความผันผวนที่ลดลงมาได้

  • 4. แม้สินทรัพย์ที่เราลงทุน อย่างหุ้น หรือกองทุน จะไม่มีสิ่งของที่จับต้องได้มาให้ เพราะเมื่อเราลงทุนไปแล้วสิ่งที่เราเห็นต่อมาคือพอร์ตการลงทุนและตัวเลขกำไรขาดทุนเท่านั้น จึงอยากให้ลองมองอีกมุม แม้จะไม่มีสิ่งที่จับต้องได้เหมือนทองคำให้ดูต่างหน้า แต่สิ่งที่เราสามารถจับต้องได้เพิ่มเติม คือบริษัทต่างๆ ที่เราร่วมลงทุน ก็เหมือนการที่เราได้เป็นหนึ่งในเจ้าของกิจการ อย่างเช่น หากลงทุนในหุ้น AOT ก็สามารถไปเดินเที่ยวสนามบินดูกิจการของเราได้ ดูลูกค้าของเราที่มาใช้สนามบิน ดูร้านค้าที่อยู่ในสนามบิน มีความคึกคักมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการศึกษางบการเงินต่างๆ ของบริษัทเพิ่มเติม โดยสามารถหาดูได้ในเว็บไซต์ ก็จะทำให้เรามีอีกทางเลือกที่จะมองหาสิ่งของที่สามารถจับต้องได้นั่นเอง

  • 5. ข้อนี้ เป็นจุดวัดสำคัญเช่นกัน เพราะทองคำที่ผ่านมาทุกวิกฤตเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีในวิกฤตต่างๆ ซึ่งตรงข้ามกับหุ้นโดยสิ้นเชิง แต่ถึงอย่างนั้นพอผ่านวิกฤตมาก็พบว่าหุ้นปรับตัวขึ้นได้มากเช่นกัน ประกอบกับวิกฤตไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี และอาจไม่เกิดบ่อยมาก จึงทำให้ช่วงปีปกติตลาดหุ้นก็ทำผลตอบแทนได้ดีมากเช่นกัน

สรุปแล้วการซื้อทองคำ หรือ หุ้น คงไม่ได้มีอะไรดีกว่ากัน เพราะหากเทียบกับปัจจัยต่างๆ ก็มีข้อดีที่แตกต่างกัน หากมองว่าเป็นตัวช่วยลดความผันผวน และช่วยปกป้องพอร์ตการลงทุนในช่วงวิกฤต ทองคำก็จะดีกว่า หากมองทางด้านผลตอบแทนระยะยาว หุ้นและกองทุนก็ดีกว่า ดังนั้นผู้ลงทุนในทองคำหรือหุ้น ไม่จำเป็นต้องเลือกลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่สามารถจัดพอร์ตการลงทุน และกระจายความเสี่ยงให้มากขึ้นได้ ทองคำก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่กระจายความเสี่ยงได้ดี และจะพาพอร์ตการลงทุนของเราผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้ ดังนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะสามารถนำพฤติกรรมของผู้ลงทุนในทองคำ มาปรับใช้ในการลงทุนในหุ้นและกองทุนได้ เพื่อให้เรากล้าลงทุนในสภาพตลาดที่มีแต่ความกลัวนี้ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนนะคะ

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th