logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

ทำไมถึงต้องลงทุน

โดย พรชัย แม้นธนาวงศ์สิน ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™

ปัจจุบันเชื่อว่าคนส่วนใหญ่มักจะมีประสบการณ์ หรือ ได้ยินคำกล่าวถึงคำว่า “ลงทุน” ค่อนข้างมาก บางท่านก็เป็นไปในทางที่ดี เช่น ประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาวจนมีอิสรภาพทางการเงิน หรือ เกิดเศรษฐีใหม่ในระยะเวลาอันสั้นจากการลงทุนในสินทรัพย์บางส่วน บางท่านก็เป็นไปในทางที่สูญเสียเงิน เช่น เจ๊งจนหมดตัวจากการกู้หนี้ยืมสินมาลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงจนเกินไป หรือ ลงทุนในสินทรัพย์ที่ดีแล้ว แต่จังหวะการเข้าลงทุนผิดจังหวะก็ทำให้พอร์ตสามารถติดลบได้ 30-50% ก็มี ผู้เขียนจึงอยากจะเน้นย้ำถึงแก่นหลักสำคัญว่าทำไมเราจึงต้องลงทุน และเทคนิคในการลงทุนให้ประสบความสำเร็จในทุกมิติในระยะยาวกันครับ

เห็นด้วยไหมครับว่าในยุคนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวเราในอัตราเร่ง จะมีผลสืบเนื่องมายังการใช้ชีวิตในด้านต่างๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจัยหลักที่เราต้องเผชิญ และเราควรจะใช้การลงทุนมาแก้ปัญหาเหล่านี้ จะประกอบไปด้วยเรื่องหลักๆ 3 ข้อ นั่นก็คือ อัตราเงินเฟ้อ อายุขัยเฉลี่ยของคนเราที่เพิ่มขึ้น และกฎระเบียบข้อบังคับของภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไป เรามาทำความเข้าใจเพิ่มเติมในแต่ละปัจจัยกันครับ

  • 1) อัตราเงินเฟ้อ ปัจจัยตัวนี้เป็นปัจจัยที่ใกล้ตัวเราที่สุดและเห็นได้ชัดที่สุด กล่าวคือ เงินเฟ้อเป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการมีการปรับสูงขึ้น ในมุมหนึ่งสามารถมองได้ว่าสินค้าที่เราต้องกินต้องใช้แพงขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งก็สามารถมองได้ว่าเงินสดที่เราถืออยู่มีมูลค่าด้อยลงนั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยย้อนหลังมักจะอยู่ที่ราวๆ 2-3% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ไม่ปกติอย่างปัจจุบัน (ก.ค.65) อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่กว่า 7.66% เลยทีเดียว ดังนั้นหากเราอยู่เฉยๆเอาเงินเราไปฝากธนาคารอย่างเดียวซึ่งได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 0.25%-1% (อิงจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และฝากประจำปี 2565) แปลว่าเราจะมีกำลังซื้อที่ลดลงและจนลง เราจึงจำเป็นต้องมองหาสินทรัพย์การลงทุนที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนขั้นต่ำที่ชนะเงินเฟ้อในระยะยาวเพื่อจะสามารถรักษาความมั่งคั่งของเราเอาไว้ให้ได้ จะเห็นได้ว่าการลงทุนไม่ใช่เป็นทางเลือก แต่คือ “ทางรอด” ในระยะยาวครับ

  • 2) อายุขัยเฉลี่ยของประชากร ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำหน้าขึ้นในปัจจุบันส่งผลเชิงบวก นั่นก็คือ ทำให้มนุษย์เรามีอายุที่ยืนขึ้น โดยปัจจุบันคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 75 ปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเราพิจารณาในด้านดีคือเราจะได้อยู่กับคนในครอบครัวที่เรารักยาวนานขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่ง หากเราไม่ได้เตรียมเงินเก็บให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายทั้งการกินอยู่รวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลละครับ จะมีกระทบกับการใช้ชีวิตทั้งครอบครัวอย่างไรบ้าง ดังนั้นการวางแผนเกษียณในระยะยาวจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยการที่จะทำให้แผนเกษียณประสบความสำเร็จได้นั้น แน่นอนว่าคุณต้องวางแผนการนำเงินเก็บมาลงทุนต่อยอด เพื่อให้เงินงอกเงยมาเพียงพอกับค่าใช้จ่าย โดยควรจะคำนึงถึงช่วงชีวิตที่ยืนยาวกว่าค่าเฉลี่ยในปัจจุบันด้วยครับ

  • 3) กฏระเบียบข้อบังคับและมาตรการของภาครัฐ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการออกมาตรการต่างๆซึ่งมีผลกระทบต่อบุคคลหลายกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดิน ภาษีมรดก พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งทำให้เราจำต้องมีการวางแผนให้ทันเหตุการณ์ นอกจากนี้ในอนาคตอาจจะมีมาตรการอื่นๆที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการจากภาครัฐอย่างประกันสังคม สวัสดิการสำหรับข้าราชการหรือเงินออมสำหรับราชการอย่างกบข. หรือมาตรการทางภาษีต่างๆ ดังนั้นอีกทางเลือกที่ดี คือ เราควรจะทำการออมเงินและฝึกบริหารเงินออมของเราด้วยการนำมาลงทุนเผิ่อไว้แต่เนิ่นๆเพื่อที่จะได้ลดการพึ่งพิงจากภาครัฐและเสริมสร้างวินัยไปในตัวครับ คำถามถัดมา คือ หากพร้อมที่จะลงทุนแล้ว เทคนิคของการลงทุนให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างไรบ้าง ผู้เขียนขอฝากข้อคิดไว้ 4 ข้อ ดังนี้ครับ

1.เริ่มก่อนรวยกว่า เคยได้ยินคำกล่าวของไอน์สไตน์ที่ว่า ดอกเบี้ยทบต้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก สิ่งที่ 8 ไหมครับ หากเราเริ่มลงทุนได้ก่อนคนอื่น เช่นตามตัวอย่างในภาพที่ 1 นาย A และนาย B เป็นเพื่อนและมีอายุ 20 ปีเท่ากัน หากนาย A ตัดสินใจเริ่มลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทน 8% ด้วยเงินปีละ 100,000 บาทเท่าๆกันเป็นเวลา 10 ปี แล้วหยุดเติมเงินลงทุนเพิ่มแต่ยังคงเงินลงทุนไว้เพื่อรับผลตอบแทน 8 %เท่าเดิมต่อไป กับนาย B ที่เริ่มลงทุนหลังนาย A 10 ปี แต่ลงทุนในรูปแบบเดียวกัน แน่นอนว่าในช่วงแรกผลอาจจะไม่เห็นชัดเจน แต่เมื่อเวลาผ่านไปในช่วงที่ทั้งคู่อายุ 60, 70, 80 ปี จะเห็นได้ชัดเจนว่าเงินจำนวนเดียวกันจะเติบโตได้แตกต่างกันเป็นอย่างมากด้วยพลังแห่งดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งส่งผลต่อความมั่งคั่งและคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันของทั้ง 2 คนในระยะยาวครับ

ภาพที่ 1 ตารางเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนจากผลของดอกเบี้ยทบต้น

2.จงกระจายความเสี่ยง สิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งสำหรับการลงทุนก็คือ "การกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ (Asset Allocation)" เนื่องจากอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อราคาสินทรัพย์ก็สามารถปรับเปลี่ยนตลอดเวลา การวางแผนรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการลงทุนในระยะยาว ดังนั้นนักลงทุนจึงไม่ควรทุ่มเงินทั้งหมดลงทุนในสินทรัพย์ใดเพียงอย่างเดียว แต่ควรประเมินความเสี่ยง เลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง และกระจายความเสี่ยงโดยแบ่งเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายเพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาสินทรัพย์ในวงจรเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ลงทุนในตราสารหนี้ 50% หุ้น 50% ผ่านกองทุนต่างๆ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาหุ้นเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว ยังให้ผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้เพียงอย่างเดียวด้วย

3.วางแผนการเงินให้ตรงตามโจทย์ของชีวิต แม้ว่าเราตัดสินใจจะเริ่มลงทุนแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเราจะเอาเงินทั้งหมดของเราทุ่มไปกับการลงทุนเพียงอย่างเดียวจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ การวางแผนการเงินให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของเราก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากว่าโจทย์การใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลมีแผนที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแผนการศึกษาบุตร แผนเกษียณ แผนการปิดความเสี่ยงด้วยการประกัน หรือการเตรียมเงินเพื่อซื้อบ้าน ทางเลือกนึงที่จะสะดวกกับคุณมากขึ้นคือปรึกษากับนักวางแผนการเงินที่ไว้ใจได้ จัดลำดับความสำคัญของแผนและมีการแบ่งเงินมาลงทุนอย่างถูกวิธีครับ

4.อย่าลืมวางแผนภาษี สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีฐานรายได้ค่อนข้างสูง แน่นอนว่าการลงทุนเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยต่อยอดให้เติบโต แต่จะดีกว่าไหมครับหากเงินลงทุนก้อนนั้นสามารถช่วยเราประหยัดภาษีได้ด้วย ดังนั้นเงินลงทุนส่วนหนึ่งของเราควรแบ่งส่วนมาซื้อกองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย ไม่ว่าจะเป็น SSF, RMF โดยเราควรพิจารณาเปรียบเทียบเงื่อนไขของระยะเวลาการถือครองกองทุน เปรียบเทียบกับความจำเป็นต้องใช้เงินของเรา รวมถึงสิทธิประโยชน์และฐานภาษีของเราครับ หากคุณสามารถบริหารจัดการในส่วนนี้ได้ดีแล้ว ก็จะทำให้สามารถประหยัดภาษีได้ปีละหลายหมื่นหรือหลายแสนเลยทีเดียวครับ
ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ เหตุผลที่คุณควรจะเริ่มตัดสินใจลงทุนครับ ทั้งนี้เวลาที่ดีที่สุดที่คุณควรจะเริ่มลงทุน ก็คือ วันนี้ให้ลงมือทำทันที โดยอาจจะค่อยๆเริ่มลงทุน เริ่มศึกษาด้วยเงินจำนวนน้อยๆ ดูก่อน แล้วในจังหวะที่พร้อมก็เริ่มลงทุนในปริมาณที่เหมาะสมกับรูปแบบการใช้ชีวิตต่อไป แน่นอนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง แต่อย่ากลัวจนเกินไป เพราะหากเข้าใจในระดับความเสี่ยงและมีกลยุทธ์ในการลงทุนที่ดีแล้ว คุณก็ประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาวได้แน่นอน ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการลงทุนครับ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th