logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

ทำความเข้าใจสินค้าโภคภัณฑ์ ก่อนเริ่มต้นลงทุน

โดย กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา นักวางแผนการเงิน CFP®

จากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาน้ำมันและทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบประเภทต่างๆ จนมีผลทำให้หุ้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนจำนวนไม่น้อยเริ่มสนใจการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าในกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นอย่างไร น่าลงทุนหรือไม่ มาติดตามกันค่ะ

สินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) คือ ผลิตภัณฑ์ หรือวัตถุดิบ ที่ถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของการผลิตสินค้าหรือบริการต่างๆ มีลักษณะจับต้องได้ สามารถซื้อขายได้ มีคุณสมบัติใช้แทนกันได้อย่างสมบูรณ์ (Fungibility) เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แม้จะมาจากผู้ผลิตคนละราย เช่น ข้าวโพด โกโก้ ถั่วเหลือง น้ำมัน ทองคำ เป็นต้น ราคาของสินค้ามักถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลก (Demand and Supply) และมักเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อ นักลงทุนส่วนใหญ่มักมีสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน

 

สินค้าโภคภัณฑ์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
  1. Hard Commodity เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป มนุษย์ไม่สามารถผลิตเองได้ เช่น เงิน ทองแดง ทองคำ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
  1. Soft Commodity เป็นสินค้าทางการเกษตร หรือเกิดจากการผลิตของมนุษย์ เช่น เมล็ดกาแฟ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด น้ำตาล เนื้อโค เป็นต้น

 

ลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์

แม้สินค้าโภคภัณฑ์จะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตามสินค้าแต่ละชนิดจะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด ภัยธรรมชาติ ฤดูกาล หรือสงคราม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาข้าวโพด ข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้น ภายหลังรัสเซียประกาศหยุดส่งออก และยูเครนลดพื้นที่ปลูกลงหลังเสียพื้นที่ให้ทหารรัสเซียยึดครอง การขาดแคลนหรือมีมากจนเกินไปก็ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของราคา เช่น หากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(OPEC) ประกาศว่าจะลดกำลังการผลิต ราคาน้ำมันดิบก็จะปรับตัวขึ้น หรือ สภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งทำให้ผลผลิตตกต่ำก็จะส่งผลให้ราคาสินค้ามีราคาสูงขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปก็ส่งผลต่อราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น การที่ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูป เลือกอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากพืชที่ให้คุณค่าโปรตีนสูง (plant-based food) ทำให้ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ช่องทางการลงทุน

การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ปัจจุบันมี 3 วิธี

  1. ลงทุนทางตรง หากนักลงทุนสนใจในทองคำ คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ก็สามารถเดินทางไปซื้อที่ร้านทองได้เลย แต่ก็มีความเสี่ยงเรื่องเก็บรักษา เสี่ยงต่อการสูญหายได้ จึงอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการเช่าตู้นิรภัยของธนาคาร แต่การลงทุนตรงในสินค้าประเภทอื่น เช่น น้ำมัน อาจทำได้ยาก หรือไม่สะดวก (ไม่สามารถซื้อเก็บไว้ในบ้านได้)

  2. ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) นักลงทุนสามารถทำกำไรผ่านการถือครองตราสารอนุพันธ์ที่มีราคาสินค้าโภคภัณฑ์อ้างอิงอยู่ได้ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินไม่มากในการเปิดสัญญา แต่อาจไม่เหมาะกับมือใหม่ เพราะเป็นการซื้อขายที่ค่อนข้างซับซ้อน มีความเสี่ยงสูง แม้จะทำเงินได้มากอย่างรวดเร็ว ก็มีโอกาสสูญเงินได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

  3. ลงทุนทางอ้อม เป็นการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวม นักลงทุนสามารถลงทุนในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น การขุดเจาะ ธุรกิจเหมืองโลหะ กิจการด้านปิโตรเลียม เป็นต้น หรือลงทุนใน ETF (Exchange-Traded Fund) ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกมากมายทั้ง ETF ทองคำ น้ำมันดิบ เงิน ทองแดง อาจเป็นการลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์ส หรือลงทุนตามดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์

 

เนื่องจากการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ ผ่าน ETF เป็นการลงทุนที่สะดวกสำหรับนักลงทุน เพราะใช้เงินลงทุนไม่มาก มีความคล่องตัวในการซื้อขายมากกว่าลงทุนในสินทรัพย์นั้นโดยตรง ทั้งในแง่การส่งมอบและการเก็บรักษา มีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลสินทรัพย์แทนให้ (มีค่าธรรมเนียมเล็กน้อย) จึงอยากขอแนะนำตัวอย่าง ETF เพื่อประกอบความเข้าใจ ดังนี้

 

  1. ETF ทองคำ: SPDR Gold Shares (GLD US) เป็น ETF ที่ลงทุนในทองคำแท่ง เน้นสร้างผลตอบแทนกองทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนราคาทองคำแท่งในตลาดลอนดอน (ตามดัชนี GOLDLNPM) จดทะเบียนอยู่ในหลายตลาดหลักทรัพย์ทั้งในนิวยอร์ค สิงคโปร์ โตเกียว และฮ่องกง มี มีขนาดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM)* $69.9bn และ expense ratio 0.4% ต่อปี ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe heaven asset) ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ถือเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ

  2. ETF เงิน: iShares Silver Trust (SLV US) เป็น ETF ที่ลงทุนในโลหะเงิน โดยผลการดำเนินงานจะขึ้นอยู่กับราคาซื้อขายในขณะนั้น มีขนาดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM)* $14.6bn และ expense ratio 0.5% การลงทุนในโลหะเงินได้รับความนิยมมากขึ้น มีการเคลื่อนไหวของราคาที่สอดคล้องกับราคาทองคำค่อนข้างสูง ถือเป็นการกระจายการลงทุน หรือเพื่อปกป้องความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับทองคำ

  3. ETF น้ำมันดิบ: United States Oil Fund (USO US) เป็น ETF ที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาน้ำมันดิบโลก West Texas Intermediate-Leight Sweet Crude Oil (WTI) โดยเน้นลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ส่งมอบเดือนที่ใกล้ที่สุด เหมาะกับการลงทุนระยะสั้นมากกว่าถือลงทุนระยะยาว มีขนาดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM)* $3.2bn และexpense ratio 0.79%

 

นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนใน ETF ตามประเภทของสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตนเองสนใจได้ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (Asset Allocation) เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนโดยรวม ไม่ลงทุนกระจุกตัวในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง สินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนสูง ไม่เหมาะกับการลงทุนเป็นพอร์ตหลัก (Core portfolio) ไม่ใช่การลงทุนเพื่อเน้นสร้างผลตอบแทน แต่มักเป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องเงินเฟ้อ เพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระยะยาวมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มความหลากหลายให้พอร์ตลงทุน

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th