logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

เรื่องต้องรู้ก่อนซื้อกองทุน IPO

โดย ฉัตรี ชุติสุนทรากุล นักวางแผนการเงิน CFP®

มีนักลงทุนหลายคนอาจเข้าใจว่าถ้าไม่ซื้อกองทุนรวมที่เปิดขายวันแรก หรือที่เรียกว่า กองทุน IPO อาจจะสายเกินไป คำตอบคือ การลงทุนไม่มีคำว่าสายเกินไป ขอเพียงแค่ศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ ถามตัวเองให้ดี ๆ เพราะหากกระโดดเข้าไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้าอาจได้รับความเสียหาย

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงและทำให้แผนการลงทุนบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ ก่อนตัดสินใจซื้อกองทุน IPO ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วน โดยอันดับแรกต้องถามตัวเองก่อนว่า กองทุนที่จะซื้อ “ใช่ที่ต้องการหรือไม่” เช่น ต้องการลงทุนหุ้นก็ต้องซื้อกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น ต้องการลงทุนตราสารหนี้ก็ต้องซื้อกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ เป็นต้น  

โดยข้อมูลที่นักลงทุนสามารถศึกษาได้เบื้องต้น คือ เอกสารที่เรียกว่า Fund Fact Sheet หรือหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ซึ่งจะให้ข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ที่ควรทราบเกี่ยวกับกองทุนรวมนั้น ๆ เพื่อนำมาใช้พิจารณาว่าการลงทุนในกองทุน IPO ตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนหรือไม่ มีดังนี้

Theme การลงทุน หรือกรอบในการคัดเลือกสินทรัพย์ลงทุน เช่น กลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มตราสารหนี้ กลุ่มตลาดกำลังพัฒนา เป็นต้น โดยนำมาพิจารณาว่า Theme ดังกล่าวอยู่ในความสนใจของตัวเองหรือไม่ แตกต่างหรือเหมือนกับกองทุนรวมที่มีอยู่แล้วในพอร์ตอย่างไร จากนั้นก็อ่านข้อมูลสินทรัพย์ลงทุนนั้น ๆ ว่ามีแนวโน้มการเติบโตเป็นอย่างไร

นโยบายการลงทุน โดยศึกษาว่ากองทุน IPO นั้นลงทุนในสินทรัพย์อะไร เช่น หุ้น ตราสารหนี้ หรือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองเดียว (Master Fund) หรือหลายกอง และมีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทเท่าไร กลุ่มสินทรัพย์ที่กองทุนจะถืออยู่ในพอร์ตมีอะไรบ้าง ทำให้สามารถติดตามสถานการณ์ข้อมูลของสินทรัพย์ลงทุนได้อย่างถูกต้อง รวมถึงติดตามการดำเนินงานของกองทุนเมื่อลงทุนไปแล้ว

กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกหรือเชิงรับ หากเป็นกองทุนเชิงรุก (Active Fund) คือ กองทุนที่ต้องการเอาชนะตลาดหรือดัชนีชี้วัด (Benchmark) ด้วยการหาสินทรัพย์ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาด โดยใช้ทักษะฝีมือของผู้จัดการกองทุนมาเป็นตัวตัดสิน ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนได้ง่ายตามสภาวะของตลาดในขณะนั้น ๆ ส่วนกองทุนเชิงรับหรือกองทุนอิงดัชนี (Index Fund) เป้าหมาย คือ พยายามเลียนแบบให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ให้มากที่สุด

ระดับความเสี่ยงของกองทุน ควรนำมาเปรียบเทียบว่ามากหรือน้อยกว่าระดับความเสี่ยงที่ตัวเองสามารถยอมรับได้ ด้วยการทำแบบประเมินความเสี่ยง หมายความว่า ก่อนซื้อกองทุน IPO ต้องรู้ระดับความเสี่ยงของตัวเองก่อน เช่น ถ้ารับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูงก็สามารถลงทุนกองทุนหุ้นได้ แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้ต่ำก็ควรเน้นลงทุนกองทุนตราสารหนี้

ผลตอบแทนย้อนหลังเทียบกับ Benchmark เนื่องจากกองทุน IPO เป็นการระดมทุนไปลงทุนสินทรัพย์ลงทุนที่มีอยู่แล้วในตลาด โดยสามารถดูผลตอบแทนย้อนหลังของสินทรัพย์ลงทุนนั้น ๆ จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ซึ่งจะมีการแสดงผลตอบแทนย้อนหลัง

ข้อมูลประกอบอื่น ๆ เช่น เป็นกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลหรือไม่ เป็นกองทุนเปิดทั่วไปหรือกองทุนปิด มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือไม่ หรือหากไปลงทุนต่างประเทศ ลงทุนด้วยสกุลเงินอะไร และมีการป้องกันอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ เป็นต้น

ข้อดีของการซื้อกองทุน IPO

  • ทันโลก : กองทุน IPO มักจะมี Theme การลงทุนที่ตอบโจทย์เทรนด์เศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบันและอาจมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต

  • ทันโปร : บริษัทผู้ออกกองทุน มักจะมีส่วนลดค่าธรรมเนียมกองทุนให้หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมกองทุนในช่วง IPO ทำให้นักลงทุนมีต้นทุนที่ถูกลงและมีโอกาสในการได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้น

  • ทันเพื่อน : ในการยื่นขอออกกองทุน IPO บริษัทผู้ออกกองทุนจะมีการกำหนดจำนวนเงินลงทุนของโครงการเอาไว้ ดังนั้น กองทุนที่ได้รับความนิยมเพราะประเมินว่าจะสร้างผลตอบแทนได้ดีในอนาคตอาจถูกจองซื้อหมดไปตั้งแต่ช่วง IPO และหากมีนโยบายลงทุนที่สอดคล้องกับสไตล์การลงทุนของตัวเองก็ไม่ควรพลาดการลงทุนในช่วง IPO

ข้อเสียกองทุน IPO

หลายคนมักเข้าใจผิดว่าราคากองทุน IPO 10 บาทต่อหน่วย “เป็นราคาที่ถูก” เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกันที่ซื้อขายอยู่ในตลาดแล้วและมีราคามูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ต่อหน่วยที่สูงกว่า 10 บาท ซึ่งความเป็นจริงเมื่อกองทุน IPO ดำเนินงานมาเรื่อย ๆ ราคา NAV ต่อหน่วยอาจสูงหรือต่ำกว่า 10 บาทต่อหน่วยก็ได้ โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ NAV นั้นมีหลากหลาย เช่น คุณภาพของสินทรัพย์ลงทุน ความสามารถของผู้จัดการกองทุน หนี้สินและค่าใช้จ่าย หรือการจ่ายเงินปันผล

ดังนั้น การซื้อกองทุน IPO ไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ง่าย เพราะต้องศึกษาข้อมูลไม่ต่างจากการซื้อกองทุนที่ขายอยู่ในตลาด เพราะการตัดสินใจซื้อกองทุนสักกองก็ต้องเลือกให้ถี่ถ้วน เพราะถ้าเลือกกองผิดตั้งแต่เริ่มต้น อาจทำให้พอร์ตลงทุนโดยรวมรวนเรได้

ที่มา: www.setinvestnow.com, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th