logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

Robo Advisor เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนกองทุนรวม

โดย กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา นักวางแผนการเงิน CFP®

ทุกวันนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น บางอย่างกลายมาเป็นที่นิยม เช่น การซื้อขายออนไลน์ การชำระเงินแบบดิจิทัลหรือแบบไร้สัมผัส การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องเข้ามาที่สำนักงาน สามารถสื่อสารและประชุมออนไลน์ได้ มีระบบเก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud) ผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

ในส่วนของธุรกิจการเงินการลงทุนก็เช่นกัน ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มาช่วยในการตัดสินใจลงทุน ปัจจุบันมีหลายกองทุนรวมในต่างประเทศที่ใช้ AI ในการบริหาร หรือแม้แต่พัฒนาให้ AI เขียนบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ ใช้ในการพยากรณ์ราคาหุ้นหรือดัชนี และช่วยตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์

ในประเทศไทย เริ่มมีบางสถาบันการเงินที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักในการบริหารจัดการเงินลงทุนของลูกค้าในรูปแบบของกองทุนส่วนบุคคล มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) หลายแห่งที่หันมาใช้ AI ในการช่วยจัดการบริหารพอร์ตลงทุน มีการนำเสนอบริการ Robo Advisor หรือการใช้หุ่นยนต์ AI มาช่วยจัดพอร์ตกองทุนรวมอัตโนมัติ จึงถือเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผู้ช่วยและเป็นมือใหม่ในการลงทุน หรือนักลงทุนที่ไม่มีเวลา

Robo Advisor ทำงานอย่างไร
Robo Advisor หรือที่เรียกว่า หุ่นยนต์ที่ปรึกษาทางการเงิน หุ่นยนต์ผู้แนะนำ หรือผู้แนะนำการลงทุนอัตโนมัติ ล้วนทำหน้าที่ให้บริการช่วยเหลือด้านการลงทุนผ่าน Digital Platform ก่อนเริ่มต้นลงทุน โดยนักลงทุนต้องกรอกข้อมูลที่จำเป็น เช่น วัตถุประสงค์ในการลงทุน ระยะเวลาในการลงทุน จำนวนเงินที่ต้องการลงทุนครั้งแรก ความต้องการลงทุนต่อเนื่อง (ลงทุนแบบ DCA) และความสามารถในการรับความเสี่ยง เป็นต้น จากนั้นระบบ AI จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความต้องการและประเมินว่านักลงทุนเหมาะกับแผนการลงทุนแบบใด

เมื่อเลือกแผนการลงทุนได้แล้ว นักลงทุนสามารถสร้างพอร์ตลงทุนได้ไม่ยาก ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันทำการ และสามารถตัดเงินลงทุนจากบัญชีธนาคารของนักลงทุนได้เลย โดยเมื่อเวลาผ่านไปพอร์ตที่ดูแลด้วยระบบ Robo Advisor จะถูกปรับสัดส่วนการลงทุนโดยอัตโนมัติให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนเดิมที่แนะนำหรือปรับสมดุลพอร์ต (Rebalancing) หากสัดส่วนของพอร์ตลงทุนเบี่ยงเบนไปมากจนถึงค่าที่กำหนด หรืออาจเป็นการปรับสัดส่วนตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ เช่น ทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือน หรือทุก 1 ปี เป็นต้น

ข้อดีของ Robo Advisor  

  • เข้าถึงการลงทุนได้ง่าย
    หลายคนเมื่อมีเงินเก็บก็อยากเริ่มต้นลงทุน แต่ไม่มีเวลาศึกษา ไม่รู้จะถามใครดี หากต้องใช้บริการที่ปรึกษาการลงทุนก็มีเงินลงทุนขั้นต่ำหรือมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ทำให้ไม่ได้ลงทุนสักที การใช้บริการ Robo Advisor ในปัจจุบันสามารถทำผ่าน Application ได้โดยง่าย จึงสามารถลงทุนและติดตามพอร์ตลงทุนได้ทุกที่ทุกเวลา และเริ่มต้นลงทุนได้ด้วยเงินเพียงหลักพันบาท

  • กระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท หากต้องตัดสินใจเลือกลงทุนเอง ในบางครั้งนักลงทุนมักเลือกลงทุนเฉพาะสินทรัพย์ที่ตัวเองสนใจหรือเล็งเห็นว่าน่าจะทำกำไรได้ เช่น อาจเลือกลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว (หรือแม้แต่ตัวเดียว) โดยไม่ได้กระจายอุตสาหกรรมหรือเลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงเพราะหวังว่าจะได้ผลตอบแทนดีและเร็ว โดยไม่คำนึงถึงการกระจายการลงทุน แต่บริการ Robo Advisor เป็นการจัดสรรการลงทุนผ่านกองทุนรวมในหลากหลายสินทรัพย์ (Asset Allocation) ได้แก่ หุ้น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

  • ปรับสมดุลพอร์ตอัตโนมัต การลงทุนระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินเพื่อเกษียณหรือเพื่อสร้างผลกำไร ในระหว่างทางก่อนถึงเป้าหมายควรมีการตรวจสอบสัดส่วนของพอร์ตลงทุนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อให้พอร์ตลงทุนอยู่ในสัดส่วนของสินทรัพย์เดิมที่ตั้งใจลงทุนในตอนแรกหรือให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของนักลงทุน เพื่อให้พอร์ตลงทุนไม่เสี่ยงสูงจนเกินไป และไม่เสี่ยงต่ำจนเกินไปเช่นกัน การลงทุนผ่าน Robo Advisor จะปรับสมดุลให้อัตโนมัติ นับเป็นความสะดวกสบายและเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

  • ใช้ระบบตรรกะในการตัดสินใจ
    Robo Advisor ถูกสร้างขึ้นให้มีความฉลาด สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจได้เองเหมือนมนุษย์ โดยใช้ความหลากหลายของข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ และยังสามารถเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาตัวเองไปพร้อมกันได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีความเป็นกลาง ไม่ตัดสินใจโดยมีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ผลของการตัดสินใจนั้นอาจมีประสิทธิภาพหรือเที่ยงตรงมากกว่าของมนุษย์ที่อาจเผลอตัดสินใจด้วยอารมณ์

ข้อเสียของ Robo Advisor

  • แผนการลงทุนไม่ได้เฉพาะเจาะจงรายบุคคล
    ส่วนใหญ่แล้วแผนการลงทุนที่นำเสนอแก่นักลงทุน มักจะเป็นแผนสำเร็จรูปหรือเป็นพอร์ตการลงทุนที่มีอยู่แล้วในระบบ จำนวนของพอร์ตการลงทุนที่ให้บริการจะแตกต่างกันไปขึ้นกับสถาบันการเงิน (บลจ. / บลน.) นั่นคือ เป็นแผนสำหรับคนกลุ่มใหญ่ที่มีข้อมูล (Profile) คล้ายคลึงกัน เช่น ผู้ที่ต้องการรายได้ประจำ (Income Oriented) หรือกลุ่มคนที่รับความเสี่ยงได้สูง (Aggressive Growth) เป็นต้น

  • ขาดความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยน
    ในระหว่างที่ลงทุน หากต้องการขายกองทุนบางกองออกไปหรือต้องการซื้อกองทุนบางกองเข้ามาในพอร์ตลงทุน จะไม่สามารถทำได้ รวมถึงไม่สามารถเพิ่มหรือลดสัดส่วนการลงทุนของแต่ละกองทุนได้ด้วยตัวเอง

  • ไม่สามารถพูดคุยหรือปรึกษาได้
    ในบางครั้งนักลงทุนอาจรู้สึกไม่สบายใจหรือมีความกังวลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของพอร์ตที่ลงทุน รวมถึงมีคำถามเกี่ยวกับการลงทุน การลงทุนผ่าน Robo Advisor จะไม่สามารถโต้ตอบ ปลอบประโลม หรืออธิบายนักลงทุนเกี่ยวกับสภาวะตลาดได้ ในทางกลับกัน การลงทุนโดยใช้บริการที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นมนุษย์ สามารถรับฟังหรือให้ความรู้ที่นักลงทุนต้องการได้ และโดยทั่วไปที่ปรึกษาทางการเงินหรือนักวางแผนการเงิน ยังสามารถให้คำแนะนำทางการเงินในด้านอื่นที่ครอบคลุมมากกว่า เช่น การคำนวณเงินเกษียณ เงินเพื่อการศึกษาบุตร หรือด้านภาษี เป็นต้น


  •  

จัดพอร์ตเอง หรือ Robo Advisor แบบไหนดีกว่ากัน
นักลงทุนต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ว่าจะเป็นการจัดพอร์ตลงทุนด้วยตัวเองหรือใช้บริการ Robo Advisor ก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีใดจะปลอดภัยกว่าหรือมีโอกาสสูญเสียเงินลงทุนได้น้อยกว่า การลงทุนทั้งสองวิธียังคงมีความเสี่ยงในการลงทุนและมีโอกาสขาดทุนเช่นกัน

ดังนั้น หลักในการเลือกเบื้องต้น คือ พิจารณาจากตัวเอง หากมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนอยู่แล้วหรือต้องการเลือกกองทุนเอง มีเวลาในการศึกษาหาความรู้และติดตามพอร์ตลงทุน รวมถึงสามารถปรับสมดุลพอร์ต (Rebalancing) ได้เอง ก็สามารถเลือกจัดพอร์ตเองได้

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนไม่ได้ทำ Rebalancing หรือไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร และหากมองว่าต้องการรับบริการในส่วนนี้ รวมถึงยังต้องการคำแนะนำด้านการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูง ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มากนัก และไม่มีเวลาในการจัดการหรือยังมีประสบการณ์ในการลงทุนน้อย อยากค่อย ๆ เรียนรู้ การเลือกใช้ Robo Advisor อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

ในแง่ผลการดำเนินงาน มีข้อมูลการวิเคราะห์ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 จนถึงกลางปี 2563 พบว่า ในจำนวน Robo Advisors 20 ราย มีผู้ให้บริการที่ทำผลตอบแทนสูงสุดที่ 4.71% ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 ในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 9.53% ต่อปี หมายความว่า หากลงทุนในกองทุนดัชนี S&P 500 จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าลงทุนใน Robo Advisor ถึงสองเท่า

บทความของ ScienceDirect ยังกล่าวอย่างน่าสนใจว่า กองทุนรวมที่บริหารโดยใช้ AI แม้ไม่ได้ชนะตลาด แต่ก็เอาชนะกองทุนที่บริหารโดยมนุษย์ได้ นั่นเพราะมีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่ต่ำกว่า มีความสามารถในการเลือกหุ้นได้ดีกว่า รวมถึงมีอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยกว่า

ไม่ว่าจะเลือกวิธีใด นักลงทุนควรเข้าใจวัตถุประสงค์ของการลงทุน แม้การลงทุนผ่าน Robo Advisor จะไม่ต้องตัดสินใจเลือกแผนการลงทุน ไม่ต้องเลือกสัดส่วนของพอร์ตลงทุน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องศึกษาเรื่องการลงทุน หรือไม่ต้องติดตามพอร์ตเลย อย่าลืมว่านี่คือเงินลงทุนของตัวเอง ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง หากมีความรู้ความเข้าใจก็จะช่วยให้ลงทุนได้อย่างสบายใจ ไม่เป็นกังวล สามารถลงทุนต่อได้อย่างสม่ำเสมอ เลือกลงทุนเพิ่มเติมในยามที่ตลาดเป็นขาลงเพื่อสะสมหน่วยลงทุน ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจได้เร็วขึ้นด้วย

ที่มา: www.setinvestnow.com, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th