logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

แตกต่างหรือเหมือนกัน! กับ “กองทุนปันผล” “กองทุนไม่ปันผล” และ “กองทุนขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ”

โดย จิณณรักษ์ เจตน์รังสรรค์ นักวางแผนการเงิน CFP®

แม้ว่าการลงทุนทุกประเภทจะมีความเสี่ยง แต่การรู้จักวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบก็สามารถเปิดโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการวางแผนและสร้างกลยุทธ์เพื่อรับมือทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในการลงทุน การพิจารณาเลือกประเภทการลงทุนให้เหมาะสมกับความต้องการเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสำหรับใครที่กำลังวางแผนขยายฐานเงินเก็บด้วยการลงทุน หรือกำลังชั่งใจอยู่ว่าควรจะเลือกการลงทุนแบบใดให้เหมาะสมกับตัวเอง วันนี้เราจะขอพาทุกคนไปรู้จักกับอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนอย่าง “กองทุนปันผล” และ “กองทุนไม่ปันผล” ซึ่งจะมีความแตกต่างกันอย่างไร เหมาะสำหรับใครบ้างนั้น มาพิจารณาไปพร้อมกันได้เลย
แต่ก่อนที่จะตัดสินใจได้ว่าควรเลือกลงทุนกับกองทุนปันผลหรือแบบไม่ปันผลนั้น นักลงทุนทุกคนจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงความแตกต่าง ข้อดี รวมถึงข้อควรระวังของการลงทุนทั้ง 2 แบบกันก่อน

“กองทุนปันผล” คืออะไร?
กองทุนปันผล (Divided Fund) คือ กองทุนที่มีนโยบายจ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุนที่ร่วมลงทุนในกองทุน โดยเงินปันผลที่นักลงทุนจะได้รับนั้นจะแตกต่างกันไปตามจำนวนเงินต้นที่ลงทุน และผลประกอบการของกองทุนทั้งหมด ซึ่งจะรวมถึงผลประกอบการจากสินทรัพย์ที่กองทุนไปร่วมลงทุนด้วย
เมื่อกองทุนมีมูลค่าและผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น กองทุนจะนำกำไรที่ได้มาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่นักลงทุน ซึ่งเงินปันผลที่ได้นี้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% โดยการคำนวณเงินปันผล และความถี่ของการจ่ายปันผลของแต่ละกองทุนนั้นอาจแตกต่างกันไปตามประเภทและนโยบายที่กองทุนกำหนดไว้

ข้อดีและข้อควรระวังของ “กองทุนปันผล”
กองทุนแบบปันผลนั้นเป็นอีกหนึ่งประเภทการลงทุนที่ได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุน เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นแล้ว นักลงทุนยังสามารถใช้กองทุนประเภทนี้ในการสร้างผลตอบแทนประจำ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ หรือ นำกลับไปลงทุนต่อเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนในขณะที่ตลาดผันผวนหรืออยู่ในขาลง และสามารถนำเงินปันผลที่ได้รับมาเป็นกระแสเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ เป็นต้น

กรณีการแจ้งหรือไม่แจ้งให้กองทุนหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% นักลงทุนควรพิจารณาฐานภาษีของตัวเอง ซึ่งหากพบว่าเมื่อรวมรายได้สุทธิที่จะนำมาคำนวณภาษีแล้วฐานภาษีน้อยกว่า 10% ก็ให้พิจารณาระบุไม่ให้กองทุนหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งจะได้ไม่ยุ่งยากในเรื่องการขอคืนภาษี

อย่างไรก็ดี กองทุนปันผลก็มีข้อควรระวังเช่นกัน เพราะเมื่อกองทุนจ่ายเงินปันผลเรียบร้อยแล้ว มูลค่าหน่วยลงทุน (Net Asset Value : NAV) ก็อาจจะลดลง ทำให้ได้ Capital Gain ลดลง ส่งผลให้นักลงทุนอาจไม่สามารถสะสมความมั่งคั่งของสินทรัพย์ที่ลงทุนไปได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจเอาไว้ 

รู้ไว้ใช่ว่า!
กองทุนที่ปันผลมากอาจไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนปันผลน้อยเสมอไป เนื่องจากกองทุนแต่ละกองมีกลยุทธการลงทุนที่แตกต่างกัน เช่น กองทุนบางตัวแม้จะมีเงินปันผลที่น้อย แต่อาจมีกำไรในการลงทุนสินทรัพย์อื่นๆ ที่สูง ทำให้ค่า NAV ไม่ต่ำลง หรือลดลงเล็กน้อยหลังปันผลออกมา ส่งผลให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนเพื่อสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวได้มากกว่า

“กองทุนไม่ปันผล” คืออะไร?
กองทุนประเภทนี้จะเป็นกองทุนที่จะไม่จ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุน แต่ตัวกองทุนจะนำกำไรจากการลงทุนไปลงทุนต่อ ทำให้มูลค่าของกองทุนมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นกว่ากองทุนที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล เปรียบเหมือนกับผลตอบแทนแบบดอกเบี้ยทบต้น (กรณีที่การลงทุนมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง)

รู้ไว้ใช่ว่า!
หากเป้าหมายของคุณคือการสะสมสินทรัพย์ลงทุนให้เติบโตมากที่สุดในระระยาว กองทุนรวมไม่ปันผลคือคำตอบที่ใช่สำหรับคุณ เพราะไม่โดนทอนกำลังดอกเบี้ยทบต้นด้วยการปันผล และภาระทางภาษีที่ต้องจ่าย

ข้อดีและข้อควรระวังของ “กองทุนไม่ปันผล”
ข้อดีแรกสุดของกองทุนไม่ปันผล คือ เรื่องผลตอบแทนที่จะได้รับ เพราะนอกจากจะไม่เสียภาษี Capital Gain ที่ได้แล้ว นักลงทุนยังสามารถนำกำไรที่ได้รับไปลงทุนต่อเนื่องได้เรื่อยๆ โดยไม่เสียเวลาในการนำกำไรกลับไปลงทุนเองถ้าได้รับเงินปันผล ส่งผลให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนแบบทบต้นไปเรื่อยๆ ได้อัตโนมัติ

อย่างไรก็ดี มูลค่าหน่วยลงทุน หรือ NAV ยังปรับตัวตามราคาสินทรัพย์ที่กองทุนไปลงทุน ทำให้กองทุนไม่ปันผลมักมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเมื่อกองทุนรวมสะสมผลตอบแทนมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น นักลงทุนจึงอาจต้องปรับแผน และคอยดูแลสัดส่วนการลงทุนอยู่เสมอ ๆ เพื่อคุมความเสี่ยงรวมของพอร์ต นอกจากนี้ กองทุนไม่ปันผลยังไม่มีกระแสเงินสดมาให้นักลงทุนไว้ใช้หมุนเวียนเหมือนกับกองทุนปันผล

“กองทุนขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ” คืออะไร?
กองทุนชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ หรือ Auto Redemption เป็นกองทุนที่นักลงทุนจะขายคืนหน่วยลงทุนเองตามความต้องการของตนเองไม่ได้ กองทุนจะเป็นผู้ขายคืนหน่วยลงทุนให้กับผู้ถือหน่วยตามที่ระบุไว้ในโครงการหรือหนังสือชี้ชวนเท่านั้น จึงเป็นกองทุนที่นักลงทุนต้องพิจารณาถึงช่วงระยะเวลาของความต้องการใช้เงินว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ ข้อดีคือกองทุนประเภทนี้จะได้ผลตอบแทนเต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่นเดียวกับกองทุนที่มีนโยบายไม่จ่ายเงินปันผล เพราะผู้ลงทุนไม่ต้องเสียภาษี

สรุป! ควรเลือกลงทุน “กองทุนปันผล” หรือ “กองทุนไม่ปันผล” ?

จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างของกองทุนปันผลและกองทุนไม่ปันผลนั้นขึ้นอยู่กับ “เงินปันผล” “วิธีการลงทุน” และ “เป้าหมายการลงทุน” ซึ่งสำหรับใครที่มีเงินก้อนใหญ่ และต้องการมี “รายได้ประจำ” เป็นกระแสเงินสด การเลือกลงทุนกับกองทุนแบบปันผลอาจเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า แต่สำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการการะแสเงินสดออกมาและต้องการผลตอบแทนแบบเต็มๆ ไม่ต้องเสียภาษี กองทุนประเภทไม่จ่ายเงินปันผล และกองทุนแบบขายคืนหน่วยลงทุนแบบอัตโนมัติจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า

แต่สำหรับผู้ที่มีเงินก้อนในการลงทุนไม่สูงมาก หรือต้องการสะสมให้เงินลงทุนงอกเงย โดยไม่ต้องการ “รายได้ประจำ” การลงทุนในกองทุนปันผลอาจไม่ตอบโจทย์ ด้วยเหตุนี้ การลงทุนกับกองทุนแบบไม่ปันผลจึงเปิดโอกาสให้เพิ่มพูนเงินก้อน และต่อยอดการลงทุนไปได้เรื่อยๆ แต่นักลงทุนเองก็ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะกองทุนไม่ปันผลส่วนใหญ่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การเลือกลงทุนในกองทุนปันผลและไม่ปันผลก็ไม่ได้มีกฎตายตัวเสมอไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบ ความสามารถในการบริหารจัดการพอร์ต ความจัดการความเสี่ยงที่ตัวเองรับไหว รวมไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งใจเอาไว้ 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th