logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

LMTs เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องของกองทุนรวม ดีอย่างไร?

โดย เธียรทยะ ฌอสกุล CFP®

เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องของกองทุนรวม หรือ Liquidity Management Tools (LMTs) นักลงทุนในกองทุนรวมอาจเคยได้ยินผ่านหู ได้เห็นผ่านตามาบ้างจากประกาศ หรือ จดหมายแจ้งโดย บลจ. และจากประกันควบการลงทุน หรือ สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ แต่น้อยคนนักที่จะได้เริ่มอ่านและพยายามทำความเข้าใจว่า แท้จริงแล้วเครื่องมือเหล่านี้มีหน้าที่อย่างไร และเหตุใด บลจ. ต้องประกาศบังคับใช้ ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องมือแต่ละชนิดนั้นมีความสำคัญไม่น้อย ในยามที่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องมือเหล่านี้ นักลงทุนจึงควรศึกษาให้เข้าใจถึงผลกระทบต่อตัวนักลงทุนเองเป็นสำคัญ

แรกเริ่มเดิมที LMTs ถูกนำมาใช้โดย บลจ. ในต่างประเทศเพื่อเข้ามาช่วยควบคุมความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุน ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าหากกองทุนเปรียบเสมือนธนาคารพาณิชย์ เวลาคนไปฝากเงินที่ธนาคาร ทางธนาคารจะนำเงินไปปล่อยกู้ต่อบางส่วน นำไปซื้อพันธบัตรบางส่วน นำไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำผลกำไรมาจ่ายคืนผู้ฝากเงินในรูปแบบของดอกเบี้ย ดังนั้นหากมีข่าวร้ายหรือสถานการณ์ผิดปกติ ไม่ว่าจากตัวธนาคารเอง หรือสภาวะเศรษฐกิจภายนอก ย่อมส่งผลให้คนขาดความเชื่อมั่นและแห่ถอนเงินจากธนาคาร เมื่อคนเริ่มแห่ถอนเงิน ธนาคารจึงขาดสภาพคล่อง เพราะไม่สามารถเรียกคืนเงินที่ปล่อยกู้กลับมาได้ในทันที หรืออาจจำเป็นต้องขายเงินลงทุนจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลให้รายการขายเหล่านั้นโดนกดราคา จนไม่มีเงินเพียงพอหมุนมาให้ประชาชนถอน และมีความเสี่ยงต้องล้มละลายในที่สุด

ภาพของกองทุนนั้นไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนประเภทใด ตราสารหนี้หรือตราสารทุน เมื่อวิกฤติมาเยือน หากผู้ถือหน่วยขายคืนหน่วยลงทุนจำนวนมากพร้อมๆกัน กองทุนอาจไม่สามารถขายเงินลงทุนที่กระจายอยู่หลายแห่งได้ทันท่วงที บ้างเป็นเงินฝากประจำ การถอนเงินฝากประจำออกมาระหว่างทางที่ยังไม่ครบกำหนด ส่งผลให้กองทุนไม่ได้ดอกเบี้ย บ้างเป็นหุ้นกู้ที่มีสภาพคล่องต่ำ ต้องตัดใจขายทุกราคาทำให้เกิดผลขาดทุนขึ้น และสะท้อนผลขาดทุนนั้นเข้าไปในมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ณ สิ้นวัน ซึ่งยิ่ง NAV ลดลงไปเยอะเท่าไร ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ถือหน่วยมากขึ้นเท่านั้น และพากัน “แห่ถอน” จนกองทุนไม่สามารถดำรงอยู่ได้และอาจต้องเลิกกองไปในที่สุดถึงแม้ว่าวิกฤตินั้นอาจเป็นวิกฤติสั้นๆ ที่ถ้าหากผ่านไปได้ ทุกอย่างก็จะเป็นปกติ

สถานการณ์ COVID-19 ที่สร้างความผันผวนให้สินทรัพย์ในกองทุนรวมถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการใช้ LMTs ในกรณีที่นักลงทุนแห่ไถ่ถอนหน่วยลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยการซื้อขายของนักลงทุนจะถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขที่มากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับกองทุนและผู้ถือหน่วยลงทุน

LMTs สามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม (ได้เงินขายคืนน้อยลงหรือซื้อในราคาแพงขึ้น) และ กลุ่มที่จำกัดการทำธุรกรรมของผู้ถือหน่วย (ห้ามซื้อขายหรือขายได้บางส่วน)

กลุ่มคิดค่าธรรมเนียมเพิ่ม
Liquidity Fee / Swing Pricing / Anti-Dilution Levies (ADLs)
กรณีมีการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนมากเกินจำนวนที่หนังสือชี้ชวนกำหนดต่อวัน นักลงทุนที่ซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนนั้นจะถูกคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม เปรียบเหมือนการผลักภาระต้นทุนการซื้อขายสินทรัพย์ให้ผู้ถือหน่วยรายที่ซื้อหรือขายในวันนั้น ส่งผลให้ผู้ขายหน่วยลงทุนได้เงินน้อยลง หรือผู้ซื้อหน่วยลงทุนต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้น ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยรายอื่นที่ยังถือหน่วยกองทุนดังกล่าวอยู่จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ โดยการเลือกใช้เครื่องมือกลุ่มนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน เพื่อป้องกันมิให้ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนในปัจจุบันเสียประโยชน์จากการมีเงินลงทุนใหม่เข้ามาหรือมีการขายคืนออกไปเป็นจำนวนมากซึ่งทำให้ผลตอบแทนรวมในกองทุนลดลง  

กลุ่มจำกัดการทำธุรกรรม
Redemption Gate = กำหนดเพดานการขายคืนต่อวันของแต่ละกองทุนไม่ให้ขายคืนมากจนเกินไป โดยถ้าหาก บลจ. ได้รับคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนเกิน Redemption Gate บลจ. จะชำระเงินค่าขายคืนแก่ผู้ถือหน่วยแต่ละรายตามสัดส่วนเทียบกับ Redemption Gate

Notice Period = หากผู้ถือหน่วยต้องการขายคืนหน่วยลงทุนปริมาณมาก จะต้องแจ้ง บลจ. ก่อนล่วงหน้า

Side Pocket = กรณีมีตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระ หรือตราสารขาดสภาพคล่อง ตราสารเหล่านี้ต้องถูกแยกออกไปไม่นำมาคำนวณใน NAV ทำให้มูลค่า NAV ลดลง แต่ถ้ามีการจ่ายคืนเงินจากตราสารดังกล่าว ผู้ถือหน่วยก็จะได้เงินคืนเช่นกัน

Suspension of Dealings = มีการระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนชั่วคราวจนกว่าจะผ่านช่วงวิกฤติ ซึ่งเป็นเครื่องมือกรณีฉุกเฉินรุนแรงที่สุดถึงจะนำมาใช้

เมื่อรู้ถึงกลไกการทำงานของ LMTs ประเภทต่างๆ แล้ว นักลงทุนคงเข้าใจแล้วว่า บลจ. มีเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อ NAV ที่เกิดขึ้นจากปริมาณการซื้อขายผิดปกติที่เกิดขึ้นในยามวิกฤติ และสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th