logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

ส่องกองทุนรวม ปันผล VS ไม่ปันผล แบบไหนใช่สไตล์เรา

โดย จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™

จะซื้อกองทุนรวม จะเอาแบบที่จ่ายปันผล หรือไม่จ่ายปันผลดี?

          นี่เป็นคำถามในใจนักลงทุนมือใหม่ที่มักเกิดอาการรักพี่เสียดายน้องเวลาเจอกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนคล้ายกัน แต่มีความแตกต่างกันคือ กองทุนแรกจ่ายเงินปันผล อีกกองทุนไม่จ่ายเงินปันผล แล้วแบบไหนกันแน่ที่เหมาะกับเรา

           ดังนั้นผู้เขียนขอชวนนักลงทุนมือใหม่มาทำความรู้จักกันดีกว่าว่ากองทุนจ่ายปันผลหรือไม่จ่ายปันผลแบบไหนเหมาะกับใคร

เริ่มแรก สิ่งที่มือใหม่ต้องรู้ คือ ความแตกต่างของกองทุนรวมที่จ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผล

           สำหรับกองทุนรวมที่จ่ายปันผล ก็คือ กองทุนรวมที่ระหว่างทางที่ลงทุนจะมีการจ่ายเงินปันผลออกมาให้ผู้ถือหน่วยลงทุน โดยแต่ละกองทุนก็จะระบุเอาไว้ในนโยบายว่า จะจ่ายกี่ครั้งต่อปี แปลว่า ถ้าเรานำเงินไปลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทนี้ ระหว่างทางที่ลงทุนไป เราก็มีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลกลับมา 

           ส่วนผลตอบแทนจะมากหรือน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุนด้วย และผลตอบแทนที่เราจะได้อีกครั้งนอกเหนือจากเงินปันผลก็คือ ผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหน่วยลงทุนในช่วงที่เราขายหน่วยลงทุนออกไป

           ส่วนกองทุนรวมที่ไม่จ่ายปันผล ก็คือ กองทุนที่ระหว่างทางที่เราลงทุนจะไม่มีการจ่ายผลตอบแทนใดๆ กลับมาให้ผู้ลงทุน เรามีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนเพียงครั้งเดียว ก็คือส่วนต่างของราคาเมื่อเราขายหน่วยลงทุนออกไป แล้วมีกำไร

           ดูเผินๆ แบบนี้แล้ว บางคนอาจจะรู้สึกว่า กองทุนรวมที่จ่ายปันผลดีกว่าแน่นอน เพราะเราจะได้ผลตอบแทนกลับมาระหว่างทางที่ลงทุน ในขณะที่กองทุนที่ไม่จ่ายปันผลไม่มีตรงนี้ให้เรา

           แต่จริงๆ แล้ว มีข้อสังเกตที่น่าสนใจที่เราต้องรู้เพิ่มเติม ก็คือ เงินปันผลที่เราได้มาระหว่างทางลงทุน ถือเป็นรายได้ที่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ด้วย

           และโดยปกติแล้ว เวลาที่จ่ายเงินปันผลออกมา มูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ของกองทุนจะลดลง นึกภาพง่ายๆ ก็คล้ายๆ กับบริษัทที่ทำกำไรได้ดี แล้วแบ่งกำไรส่วนหนึ่งที่ได้มาจ่ายปันผล ก็จะทำให้กำไรที่หลงเหลืออยู่เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจลดลงไป

           ในขณะที่กองทุนรวมที่ไม่จ่ายเงินปันผลไม่มีการเอากำไรที่ทำได้ออกมาจ่ายปันผล ก็จะสามารถนำกำไรส่วนเกินนี้ไปลงทุนต่อเพื่อเพิ่มโอกาสในการหาผลตอบแทนได้อีก

           เรียกง่ายๆ ก็คือ เงินได้ทำงาน ต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้เงินไปอีกรอบ ซึ่งนักลงทุนอย่างเราจะรู้สึกได้ถึงอานุภาพของมูลค่าเงินที่เติบโตก็ต่อเมื่อเราขายหน่วยลงทุนออกมาทีเดียวแล้วได้ส่วนต่างราคา ซึ่งเงินส่วนนี้ไม่ต้องนำไปเสียภาษีด้วย ก็แปลว่า ได้กลับคืนมาเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลย

           ถึงตรงนี้ ขอให้นักลงทุนหันกลับมาดูสไตล์ของตัวเอง ว่าเหมาะกับกองทุนแบบไหน โดยเริ่มต้นที่เป้าหมายการเงินก่อนว่า เราจะลงทุนในกองทุนรวมนี้ไปเพื่อเป้าหมายอะไร

           หากเป็นเป้าหมายระยะยาวไปเลย ใช้เงินอีก 5-10 ปีข้างหน้า กองทุนรวมที่ไม่จ่ายปันผลอาจจะตรงกับความต้องการมากกว่า เพราะเราไม่ได้ต้องการนำเงินลงทุนออกมาใช้ระหว่างทาง แต่คาดหวังผลปลายทางอีกยาวไกลไปเลย

           แต่ถ้าเป็นการลงทุนที่อยากเห็นผลตอบแทนระหว่างทาง เพื่อให้มีกำลังใจ นำเงินปันผลที่ได้มา ไปลงทุนต่อในสินทรัพย์ที่อยากลงทุน หรือนำไปเป็นกระแสเงินสดใช้จ่ายในช่วงเวลานั้น โดยไม่จำเป็นต้องขายทำกำไรกองทุนออกมา กองทุนรวมที่จ่ายปันผล ก็อาจจะเป็นคำตอบที่ใช่มากกว่า

           อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดจะลงทุนในกองทุนที่จ่ายปันผลเพื่อนำเงินไปลงทุนต่อ ก็อาจจะเหมาะกับคนลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่หน่อย เพราะถ้าลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่มาก เงินปันผลที่ออกมาก็อาจจะน้อยมากเสียจนได้มาแล้วไม่รู้จะไปเริ่มต้นลงทุนใหม่ยังไง หรืออาจจะน้อยจนไม่ใส่ใจ และลืมเอาไปลงทุนต่อก็ได้

           สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเลือกลงทุนกองทุนรวมที่จ่ายปันผล หรือไม่จ่ายปันผล ก็ขึ้นอยู่ที่เป้าหมายการเงิน และความชอบส่วนตัวของตัวเอง

           แต่สิ่งที่สำคัญกว่าเลือกกองทุนก็คือ เลือกได้แล้ว อย่าลืมเริ่มต้นลงทุนด้วย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายการเงินที่วางไว้ได้ตามเวลาที่ตั้งใจ ก็มาจากการเริ่มต้น “วันนี้” ไม่ผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ นั่นเอง

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th