logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

สร้างเข็มทิศการลงทุนด้วย Goal Based Investing

โดย ภก.ธริญญ์รัฐ ปิยะศิริโสฬส AFPT™ ที่ปรึกษาการเงินอิสระ

จะซื้อกองทุนรวม จะเอาแบบที่จ่ายปันผล หรือไม่จ่ายปันผลดี?

เมื่อสนใจเริ่มต้นลงทุน แต่อาจมีคำถามว่า “เราจะลงทุนในอะไร” หากตั้งคำถามกับตัวเองแบบนี้ มักเกิดจากการไม่มีเป้าหมายการลงทุนและผลที่ตามมามักพุ่งเป้าที่ผลตอบแทนเป็นหลัก จนลืมความเสี่ยง

ความเสี่ยงของการลงทุน หมายถึง ความผันผวนของผลตอบแทนที่ส่งผลกระทบให้เป้าหมายการลงทุนหรืออาจกระทบต่อเป้าหมายการเงินอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น หากพุ่งเป้าไปที่ผลตอบแทนเป็นอันดับแรก อาจเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงเกินความจำเป็น

ดังนั้น ก่อนเริ่มลงทุนควรเปลี่ยนคำถามจาก “เราจะลงทุนในอะไรดี” เป็น “ทำไมเราต้องลงทุน” อาจพบคำตอบของแผนการลงทุนที่ไม่เสี่ยงจนเกินไป สามารถลงทุนตามแผนที่วางเอาไว้ และถึงเป้าหมายได้ในระยะเวลาที่กำหนด  

สำหรับการวางแผนการลงทุนแบบมีเป้าหมาย (Goal Based Investing) หมายถึง เมื่อเริ่มลงทุน ควรสำรวจตัวเองว่า เป้าหมายการลงทุน คืออะไร ระยะเวลาที่ต้องการไปให้ถึงเป้าหมาย และทรัพยากรการลงทุนเป็นอย่างไร จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการเลือกสินทรัพย์ลงทุนและสร้างแผนการลงทุน

จะเห็นได้ว่า Goal Based Investing ไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นอันดับแรก แต่จะคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนและระยะเวลาในการลงทุน และเงินลงทุนที่ตัวผู้ลงทุนสามารถจัดสรรมาสำหรับแต่ละเป้าหมาย ซึ่งหมายถึงเงินลงทุนตั้งต้น และเงินลงทุนสมทบรายงวด

ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายการลงทุน
ปัจจุบันอายุ 30 ปี ต้องการเริ่มต้นลงทุนเดือนละ 15,000 บาท โดยมีเป้าหมายมีเงินก้อนจำนวน 10 ล้านบาทสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอายุที่ 55 ปี

จากข้อมูลนี้ สามารถคำนวณหาอัตราผลตอบแทนคาดหวังได้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6% ต่อปี ตลอดระยะเวลา 25 ปีของแผนการลงทุน หลังจากนั้น เราจึงจะไปเริ่มจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามความคาดหวัง

ในทางกลับกัน หากไม่ทราบว่าเป้าหมายการลงทุนคืออะไร มักจะพุ่งความสนใจไปที่ผลตอบแทนเป็นอันดับ แรก ด้วยการเริ่มต้นเลือกสินทรัพย์ลงทุน ทำให้ไม่ทราบว่าเงินลงทุนที่ใช้ควรจะมีมากน้อยเพียงไร และอาจทำให้เราต้องเผชิญกับความเสี่ยงหรือความผันผวนสูงเกินความจำเป็น เช่น นำเงิน 500,000 บาท ไปลงทุนในหุ้นรายตัวเพื่อให้ได้เงิน 10 ล้านบาท โดยไม่ทราบถึงความเสี่ยงของแผนการลงทุน เช่น ต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้


ภาพที่ 1 ข้อมูลจาก Vanguard’s framework for constructing globally diversified portfolios, June 2021

จากภาพที่ 1 ในระหว่างปี 1900 2020 หากเลือกลงทุนในตราสารทุน 100% ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะอยู่ที่ 9.6% ต่อปี แต่ในบางปีอาจขาดทุนสูงถึง 27.9% ในทางกลับกัน หากเลือกลงทุนในตราสารหนี้ 100% ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะอยู่ที่ 5% แต่ในบางปีก็อาจขาดทุน 6.1%

ดังนั้นหากกำหนดเป้าหมายการลงทุน จากนั้นก็จัดสรรสินทรัพย์การลงทุน โดยลงทุนในตราสารหนี้ 70% ตราสารทุน 30% ซึ่งให้ผลตอบเฉลี่ย (ภาพที่ 1) ที่ 6.8% ต่อปี ก็จะมีโอกาสได้รับเงิน 10 ล้านบาท ในเวลา 25 ปี โดยใช้เงินลงทุนเดือนละ 15,000 บาท ตลอดระยะเวลาของแผนการ ขณะที่ความผันผวนที่ได้รับก็น้อยกว่าการนำเงินไปลงทุนในตราสารทุน 100%

อย่างไรก็ตาม การวางแผนการลงทุนแบบ Goal Based Investing ไม่ได้มีเพียงการตั้งเป้าหมายการลงทุนเพียง เท่านั้น แต่ต้องให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้เป็นสำคัญด้วย เพราะถึงแม้แผนการลงทุน จะได้รับผลตอบแทนตามคาดหวังแต่กลับมีความเสี่ยงสูงเกินไป หรือผู้ลงทุนอาจเปลี่ยนแผน การลงทุนในระหว่างทาง เป็นต้น ดังนั้น ก่อนตัดสินใจใช้แผนการลงทุนดังกล่าวควรพิจารณาข้อมูลให้ครบถ้วน

เมื่อมีเข็มทิศทางการลงทุนจะช่วยให้มีเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน ทราบระยะเวลาและจำนวนเงินที่ต้องใช้สำหรับแผนการลงทุน ซึ่งแผนการลงทุนแบบ Goal Based Investing เป็นอีกทางเลือกที่จะนำไปสู่เป้าหมายทางการลงทุนที่ตั้งใจไว้

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th