logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

มารู้จัก Inflation Linked Bond กันเถอะ

โดย อภิเชษฐ เอกวัฒนพันธ์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™

หากตั้งคำถามว่า “ปัจจัยสำคัญที่อาจจะทำให้การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จมีอะไรบ้าง” คำตอบที่ได้รับน่าจะต้องมี “อัตราเงินเฟ้อ” ด้วยอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทหนึ่ง เรียกว่า พันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond : ILB) ซึ่งให้ผลตอบแทนตามอัตราเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป หมายความว่าจะช่วยให้แผนทางการเงินมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

ก่อนอื่นมาทำควมรู้จัก อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon) ของพันธบัตรซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักกำหนดเป็นอัตราคงที่จนครบอายุไถ่ถอน เช่น 3%, 4% หรือ 5% ต่อปี ดังนั้น หากต้องการทราบถึง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) ที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าว ต้องทำการหักลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ  

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) =   อัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ (Nominal Yield) – อัตราเงินเฟ้อ (Inflation)

ซึ่งอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยของพันธบัตรทั่วไปนั้นจะมีความแตกต่างจาก ILB เนื่องมาจาก ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยของ ILB จะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ดังนี้

  • 1. อัตราดอกเบี้ยที่หน้าตั๋ว (Coupon) ซึ่งจะถูกกำหนดไว้คงที่จนครบอายุไถ่ถอน (ส่วนนี้จะไม่ต่างกับพันธบัตรทั่วไป)
  • 2. ดอกเบี้ยส่วนชดเชยตามอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลานั้น โดยอ้างอิงกับดัชนีเงินเฟ้อทั่วไป (ส่วนนี้เป็นส่วนที่ต่างจากพันธบัตรทั่วไป)

นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่ได้มีการชดเชยตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว ในส่วนของเงินต้น ILB ก็มีการชดเชยตามอัตราเงินเฟ้อให้กับผู้ลงทุน ดังนั้น เมื่อครบอายุไถ่ถอน ILB ผู้ลงทุนจะได้รับทั้งเงินต้นแต่เริ่มออกพันธบัตรพร้อมกับเงินต้นส่วนที่ได้ทำการปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ (แผนภาพด้านล่าง) ทั้งนี้ ในกรณีที่เงินเฟ้อปรับลดลง ผู้ลงทุนก็ยังได้รับเงินต้นคืนตามมูลค่าหน้าตั๋ว โดยไม่มีการหักลดอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ

แผนภาพแสดงการปรับเพิ่มของเงินต้นที่จะแปรผันไปตามอัตราเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า ILB มีความน่าสนใจ แต่ควรประเมินความเหมาะสมก่อนลงทุน โดยเฉพาะคำว่า Break-even inflation

ค่า Break-even Inflation คือ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon) ของพันธบัตรรัฐบาล และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) ของพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อในรุ่นอายุเดียวกัน โดยส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยทั้งสองจะสะท้อนถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยของนักลงทุนในช่วงอายุคงเหลือของพันธบัตร เช่น Break-even inflation ของพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี อยู่ที่ 2% นั่นหมายความว่านักลงทุนมีมุมมองว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย ในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 2%

ดังนั้น หากคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อ (Expected Inflation) สูงกว่า Break-even Inflation ก็ควรเลือกลงทุนใน ILB ในทางกลับกันหากคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อ (Expected Inflation) ต่ำกว่า Break-even Inflation ควรเลือกลงทุนพันธบัตรทั่วไป

โดยสรุป การลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้ แต่การเลือกลงทุนในพันธบัตรชนิดใดก็ควรพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์กับค่า Break-even inflation นอกจากนี้ควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบ เช่น ความต้องการใช้เงินในอนาคต เพื่อให้แผนการลงทุนไม่สะดุดและสามารถไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่วางเอา

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th