logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

วัยรุ่นยุคใหม่ ลงทุนอย่างไรดี ?

โดย ศุภิสรา อโณทยานนท์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
IWS Wealth Advisory Limited

คนเราต้องใช้เงินในทุกช่วงของชีวิต จึงควรเรียนรู้วิธีจัดการเงิน เพื่อให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงระยะเวลา ซึ่งระยะเวลาในการใช้เงินของคนเราแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ สั้น กลาง และ ยาว โดยในแต่ละระยะ เราต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนไม่เท่ากัน

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

เพราะอะไร ? ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ เช่น คุณ A มีเงินส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทน 8% โดยวางแผนว่าจะนำกำไรหรือเงินปันผล มาจ่ายค่าผ่อนบ้าน แต่ปรากฎว่าหุ้นดันตกและอยู่ในช่วงที่จะต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านพอดี ซึ่งแน่นอนว่า เราคงไม่อยากขายในขณะที่ยังขาดทุน หรือไปนั่งเจรจากับธนาคารหรือเจ้าหนี้ว่า “ขอผัดผ่อนไปก่อนได้มั้ย ไว้หุ้นขึ้นแล้วเดี๋ยวมาจ่ายเลย” ซึ่งเป็นไปได้ยาก

แต่ในทางกลับกัน ถ้าตั้งแต่ต้น คุณ A ไม่เลือกลงทุนในหุ้น แล้วเลือกฝากในธนาคารที่ได้ผลตอบแทน 0.25% ที่ดึงเงินออกมาใช้ได้ตลอดเวลา คุณ A และทุกคนคงรู้สึกไม่จูงใจที่จะลงทุนในลักษณะนั้น

งั้นเราควรจะเอาเงินไปลงทุนตรงไหนดี ?

ในเมื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูง ความผันผวนก็สูงตาม จะลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนต่ำ ก็ไม่จูงใจ

ตอบคือ แบ่งเงินออกเป็น 4 พอร์ต เพื่อลงทุนให้เหมาะกับการใช้เงินในแต่ละระยะดีกว่า

พอร์ตที่ 1 เงินสำรองฉุกเฉิน เผื่อไว้ยามที่มีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด หรือ ขาดรายได้ ตกงาน อยากเปลี่ยนงาน ก็ยังใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้โดยไม่ต้องกังวลที่ขาดรายได้มากนัก ซึ่งจากหลักการการวางแผนการเงิน เราควรมีเงินส่วนนี้เท่ากับ ค่าใช้จ่าย 3 - 6 เดือน เช่น ปกติใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองเก็บไว้ในธนาคารสักประมาณ 30,000 - 60,000 บาท

พอร์ตที่ 2 กองทุนรวมตลาดเงิน หรือ กองทนุตราสารหนี้ระยะสั้น สำหรับเป้าหมายระยะสั้นที่ต้องใช้เงินในช่วง 1-3 ปี เช่น เก็บเงินดาวน์รถ ดาวน์บ้าน คาดหวังผลตอบแทนประมาณ 0.5-2% เพื่อให้แน่ใจว่าจะรักษาเงินต้นไว้ มาจ่ายสิ่งจำเป็นพวกนี้ได้

พอร์ตที่ 3 กองทุนรวมตราสารหนี้หรือตราสารผสม สำหรับเป้าหมายระยะกลาง ที่ต้องใช้เงินในอีก 3-7 ปี ตอนนั้นเราอาจจะเริ่มสร้างครอบครัวแล้ว จึงอาจจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อแต่งงานหรือดาวน์บ้าน กำหนดเป็นพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 3-4% ไม่ได้มีสภาพคล่องมากเท่าพอร์ตที่ 2 และไม่ได้มีผลตอบแทนสูงมากนักเพื่อให้ความเสี่ยงไม่สูงมากจนเกินไป

พอร์ตที่ 4 กองทุนรวมตราสารทุนหรือกองทุนหุ้น สำหรับเป้าหมายระยะยาว ที่ต้องใช้เงินในอีก 7 ปีขึ้นไป ที่จะเป็นพอร์ตเพื่อการเกษียณ ซึ่งคนในวัยนี้มักมีคำถามว่าเราควรจะเริ่มเลยหรือไม่ ตอบเลยว่า ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งดี ได้เปรียบมาก เพราะยิ่งอายุน้อย ยิ่งมีเวลาในการลงทุนยาวนานมากกว่าวัยอื่น ทำให้ความเสี่ยงในการขาดทุนลดลง และได้ประโยชน์สูงมากจากผลตอบแทนแบบทบต้นทบดอก หรือดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง

ดอกเบี้ยทบต้น เป็นตัวช่วยเพิ่มพลังชั้นดีในการลงทุน 

ยกตัวอย่างเช่น หากเราเลือกให้ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าได้ อะไรจะทำให้เรามีเงินมากที่สุดระหว่าง

  • 1) เพิ่มเงินลงทุนต่อเดือน จากเดือนละ 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท
  • 2) เพิ่มอัตราผลตอบแทนจาก 10% เป็น 20%
  • 3) เพิ่มระยะเวลาการลงทุนจาก 10 ปี เป็น 20 ปี

จะได้ตารางดังนี้

กรณี เงินออมต่อเดือน (บาท) อัตราดอกเบี้ยต่อปี ระยะเวลา (ปี) เงินที่ได้รวม (บาท)
ปกติ 1,000 10% 10 204,845
1) เพิ่มเงินลงทุนต่อเดือน 2,000 10% 10 406,960
2) เพิ่มอัตราผลตอบแทน 1,000 20% 10 376,095
3) เพิ่มระยะเวลาลงทุน 1,000 10% 20 759,369

จากตารางพบว่า การเพิ่มระยะเวลาการลงทุนทำให้มีเงินมากที่สุด เป็นที่มาของคำว่า “ออมก่อน รวยกว่า” นั่นเอง

นอกจากนี้จะเห็นว่า เราแนะนำการลงทุนในกองทุนรวมทั้งหมดเลย เพราะมันเหมาะกับมือใหม่หัดลงทุน ที่ไม่ค่อยมีเวลาศึกษาการลงทุนด้วยตัวเอง เนื่องจากกองทุนรวมมีผู้จัดการกองทุนและทีมงานเป็นคนดูแลกองให้แทน อีกทั้งกองทุนรวมยังมีการกระจายการลงทุนที่ดีว่าการซื้อหุ้นรายตัวอีกด้วย นอกจากนี้หากซื้อกอง RMF หรือ SSF ก็ใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

ดังนั้นสำหรับสมาคมวัยรุ่นสร้างตัว ใช้วิธี 3 ระยะเวลา 4 พอร์ตการลงทุน จะเป็นตัวช่วยให้สามารถพิชิตเป้าหมายในทุกช่วงชีวิต

บรรณานุกรม
จักรกฤษณ์ กิจการรัฐบุตร. ดอกเบี้ยทบต้น ตัวช่วยเพิ่มพลังชั้นดีในการลงทุน. [ระบบออนไลน์ ]. แหล่งที่มา https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/investments/investment-knowledge/compound-interest. (13 ธันวาคม 2565).

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th