logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

นักลงทุนสไตล์ไหนที่ฝ่าวิกฤติได้

โดย ศุภิสรา อโณทยานนท์ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT™
บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนฟินโนมีนา จำกัด

นักลงทุนที่พบได้มี 2 ประเภท

  • DIY เป็นนักลงทุนที่สามารถศึกษาหาข้อมูล จัดการเลือกซื้อหลักทรัพย์ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งในปัจจุบันก็มีอยู่หลากหลายสไตล์ เช่น สายวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (VI), สายเทคนิค (Technical) หรือผสมผสานของทั้งคู่ (Hybrid)

  • PORT เป็นนักลงทุนที่ใช้บริการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือสถาบันการเงินที่มีกองทุนหรือพอร์ตลงทุนสำเร็จเตรียมไว้แล้ว โดยอาจมีการระบุอัตราผลตอบแทนคาดหวัง กลยุทธ์ลงทุน ผู้จัดการกองทุน และเงินลงทุนเริ่มต้น

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนทั้ง 2 ประเภท บางส่วนเน้นลงทุนเพื่อเก็งกำไร มากกว่าลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน และหากนักลงทุนไม่ได้ศึกษาจนเชี่ยวชาญในการวางแผนการเงิน อาจไม่รู้ว่าควรลงทุนเท่าไร อย่างไร และนานแค่ไหน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ ซึ่งเป้าหมายทางการเงินของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป เช่น การเกษียณอายุ การศึกษาบุตร มีบ้านหรือมีรถ

นอกจากนี้ นักลงทุนทั้ง 2 ประเภท ยังมักติดกับดักที่เรียกว่า “วงจรสภาวะอารมณ์ของนักลงทุน”

โดยวงจรสภาวะอารมณ์ของนักลงทุนแบ่งออกเป็น 4 ช่วง

ช่วงที่ 1 เข้าซื้ออย่างตื่นเต้น บนยอดดอย
นักลงทุนเข้ามาในตลาดด้วยความตื่นเต้นและมองโลกในแง่ดี แม้ว่าตอนแรกจะยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อ แต่พอราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น คนในวงการเริ่มเชียร์ เรายิ่งอยากเข้าซื้อ เพราะกลัวตกรถ และยิ่งหากเข้าซื้อแล้วราคาพุ่งถึงจุดสูงสุดก็จะมีความสุขมาก และมั่นใจว่าตัวเอง คือ ผู้ชนะตลาด ทั้งที่ยืนอยู่บนดอยที่เสี่ยงและอันตรายที่สุด

ช่วงที่ 2 มีขึ้นย่อมมีลง อารมณ์เราก็กังวลตามไปด้วย
เมื่อตลาดไม่เป็นไปตามที่คิด ราคาหุ้นเริ่มปรับตัวลง แต่ก็คิดว่าแค่ย่อ คงไม่เป็นไร แต่พอเวลาผ่านไปมันกลับตกลงเรื่อย ๆ จากที่แค่กังวลก็กลายเป็นกลัวมากขึ้น ขอแค่ไม่ขาดทุนก็ยังดี รู้สึกลังเลว่าจะตัดสินใจยังไงต่อไป ซึ่งในจุดนี้นักลงทุนบางคนก็เลือกย้ายสินทรัพย์เสี่ยงไปสินทรัพย์ปลอดภัยแทน หรืออาจจะยังคงถือพอร์ตที่เริ่มขาดทุนต่อไปด้วยความหวังว่ามันคงจะดีขึ้น

ช่วงที่ 3 ท้อแท้และผิดหวัง
ข่าวร้ายทำให้ตลาดกลายเป็นขาลงเต็มตัว นักลงทุนที่ถือมาจนมันขาดทุนมากแล้ว ยอมตัดใจขายออกเพราะหมดหวัง โดยคิดว่าได้เงินกลับมาบ้างก็ยังดี บางคนรับความผิดหวังนี้ไม่ไหวก็จะออกจากตลาด โดยหารู้ไม่ว่านี่เป็นจุดที่มีโอกาสในการลงทุนสูงสุด เพราะเป็นจุดต่ำสุดของตลาดแล้ว

ช่วงที่ 4 ความหวังครั้งใหม่ แต่ใจเรายังเหมือนเดิม
แปลกแต่จริง จุดที่ขายมักจะเป็นจุดใกล้ ๆ ต่ำสุดของรอบ แต่พอหุ้นวิ่งขึ้นมาใหม่ ช่วงแรกจะระวังก่อน ยังไม่กล้าเข้าซื้อ แต่ยิ่งดูยิ่งมีความหวัง เพราะราคาขึ้นต่อ บางทีขึ้นมาเทียบเท่ากับราคาเดิมที่เคยซื้อ ก็จะมองโลกในแง่ดีและกลับเข้าไปลงทุนใหม่อีกครั้ง หวังว่าครั้งนี้จะเป็นฟ้าหลังฝน ย่อมสดใส

แต่มักกลับเข้าสู่ช่วงที่ 1 เป็นวงจรทางอารมณ์ที่บั่นทอนจิตใจได้ไม่รู้จบ เพราะกลับไปซื้อบนดอย อย่างมั่นใจอีกแล้ว

ซึ่งปัญหาทางอารมณ์ที่ว่ามานี้ มักจะไม่เกิดกับนักลงทุนที่มีนักวางแผนการเงินประกบ

เพราะนักวางแผนการเงินจะทำให้นักลงทุนเข้าใจ Concept ว่าลงทุนเพื่ออะไร ช่วยกำหนดเป้าหมายและวิธีการไปสู่เป้าหมายร่วมกัน

เช่น นักลงทุน A อายุ 30 ปี ต้องการเกษียณอายุ ตอนอายุ 55 ปี โดยมีเงินใช้หลังเกษียณ 30,000 บาทต่อเดือนไม่รวมเงินเฟ้อ เพื่อให้รู้ว่านักลงทุน A สามารถเกษียณได้ตามเป้าหมาย นักวางแผนการเงินจะช่วยคำนวณก่อน หากไม่พอ จะปรับงบการเงินและวางแผนการลงทุนใหม่ให้เหมาะสมกับเป้าหมาย โดยนักวางแผนการเงินมักจะแนะนำวิธีการลงทุนเป็นรูปแบบของการ DCA หรือการซื้อแบบถัวเฉลี่ยทุกเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้นักลงทุนตกเข้าไปในกับดักวงจรทางอารมณ์ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไร สินทรัพย์นั้นจะขึ้นหรือลง จะมีวิกฤติเกิดขึ้นหรือไม่ หรือเกิดสงครามระหว่างประเทศ ทำให้นักลงทุนกังวลแล้วถอนเงินลงทุนออกมาก่อนจะประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ นักวางแผนมักแนะนำให้เราลงทุนกระจายความเสี่ยง โดยอ้างอิงจาก Asset class returns ตั้งแต่ปี 2008 - 2022 จะพบว่าการซื้อโดยกระจายการลงทุนไปในหลายหลักทรัพย์ (Asset Allocation) จะมีความผันผวนของผลตอบแทนน้อยกว่า กล่าวคือ ผลตอบแทนอยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่หวือหวา

นักลงทุนทุกสไตล์สามารถฝ่าวิกฤติไปได้หากคุณรู้เท่าทันทางอารมณ์ ในเชิงทฤษฎีมันพูดง่ายแต่ปฏิบัติจริงได้ยาก ฉะนั้นการมีผู้เชี่ยวชาญอย่างนักวางแผนการเงินคอยให้คำปรึกษา เวลาเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ทำให้สภาพจิตใจอ่อนไหวไม่มั่นคง ย่อมรู้สึกอุ่นใจมากกว่า    

บรรณานุกรม
วิตามินหุ้น. 2562. วงจรอารมณ์ จัดการได้ด้วย QVI. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://web.facebook.com/stock.vitamins/posts/2314759915456060/?_rdc=1&_rdr. (13 ธันวาคม 2565).

จักรกฤษณ์ กิจการรัฐบุตร. ดอกเบี้ยทบต้น ตัวช่วยเพิ่มพลังชั้นดีในการลงทุน. [ระบบออนไลน์ ]. แหล่งที่มา https://www.krungsri.com/th/krungsri-the-coach/investments/investment-knowledge/compound-interest. (13 ธันวาคม 2565).

Novel Investor. 2565. Asset Class Returns. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://novelinvestor.com/asset-class-returns/. (8 กุมภาพันธ์ 2566).

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th