บทความ: เกษียณ
รู้สิทธิประโยชน์เพื่อใช้จ่ายวัยเกษียณ
โดย นิชฌานี ฉันทศาสตร์ นักวางแผนการเงิน CFP®
รู้หรือไม่ว่า ... มนุษย์เงินเดือน หรือพนักงานประจำ หลังจากเกษียณอายุการทำงาน มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้างที่สามารถนำมาเป็นเงินทุนเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ บทความนี้มีคำตอบ
สิทธิประโยชน์หลังเกษียณที่ผู้ทำงานประจำ หรือเป็นมนุษย์เงินเดือนจะได้รับ หลักๆ มี 3 แหล่งด้วยกัน
- 1. เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
- 2. เงินชราภาพจากประกันสังคม
- 3. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
เงินชดเชยจะคิดตามระยะเวลาที่ทำงานกับนายจ้างและเงินเดือนสุดท้าย โดยจะได้รับเมื่อเกษียณอายุ หมดสัญญาจ้าง ถูกเลิกจ้าง โดยลูกจ้างไม่ได้เป็นฝ่ายผิด
อายุงาน (ต่อเนื่อง) | เงินชดเชย |
120 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี | 30 วัน |
1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี | 90 วัน |
3 ปีแต่ไม่เกิน 6 ปี | 180 วัน |
6 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี | 240 วัน |
10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี | 300 วัน |
20 ปีขึ้นไป | 400 วัน |
ยกตัวอย่าง เงินเดือนสุดท้าย 90,000 บาท ทำงานกับนายจ้างรายล่าสุดก่อนเกษียณเป็นระยะเวลา 20 ปี เมื่อเกษียณอายุ จะได้รับเงินชดเชย 400 วัน คิดเป็นเงินประมาณ 90,000 x 400/30 = 1,200,000 บาท ทั้งนี้ จำนวนเงินชดเชยในตัวอย่าง เป็นการคำนวณเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งการคำนวณเงินชดเชยจะนับตามจำนวนวันย้อนหลังจากวันที่เกษียณหรือออกจากงาน
เงินชราภาพจากประกันสังคม
พนักงานประจำ หรือ มนุษย์เงินเดือน มีข้อกำหนดว่า ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สูงสุดอยู่ที่เดือนละ 750 บาท ซึ่งเงินที่จ่ายไปทุกเดือน ไม่ได้สูญเปล่า โดยได้รับกลับมาในรูปของสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากประกันสังคม เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าคลอดบุตร ค่าสงเคราะห์บุตรรายเดือน และอีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ คือ เงินชราภาพ โดยจะได้รับเมื่อเกษียณอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และไม่ได้เป็นผู้ประกันตนของประกันสังคมแล้ว
เงินชราภาพที่ได้รับ จะอยู่ในรูปของบำเหน็จเงินก้อน หรือบำนาญรายเดือน ขึ้นอยู่กับ จำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพ ถ้าจ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน หรือไม่ถึง 15 ปี จะได้รับเป็นบำเหน็จเงินก้อน แต่ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน หรือตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จะได้รับเป็นเงินบำนาญรายเดือนไปตลอดชีวิต
ยกตัวอย่าง เงินบำนาญรายเดือนที่ได้รับจากประกันสังคมตามจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ
จำนวนเดือนจ่ายเงินสมทบ (ต่อเนื่องหรือไม่ก็ได้) |
เงินบำนาญ จากประกันสังคม* |
180 เดือน (15 ปี) | 3,000 บาทต่อเดือน |
240 เดือน (20 ปี) | 4,125 บาทต่อเดือน |
300 เดือน (25 ปี) | 5,250 บาทต่อเดือน |
360 เดือน (30 ปี) | 6,750 บาทต่อเดือน |
*คำนวณจากฐานเงินสมทบของประกันสังคม ไม่เกิน 15,000 บาท
สูตรคำนวณเงินบำนาญ
กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน ได้รับเงินบำนาญ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
กรณีจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ได้รับเพิ่ม 1.5% ต่อระยะเวลาจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
จากตัวอย่างการคำนวณเงินบำนาญจากประกันสังคม กรณีที่จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 15 ปี อัตราบำนาญอยู่ที่ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ดังนั้น ได้รับเงินบำนาญเดือนละ 20% x 15,000 = 3,000 บาท กรณีที่จ่ายเงินสมทบเป็นเวลา 20 ปี อัตราบำนาญจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อัตราบำนาญ 15 ปีแรก เท่ากับ 20% และ 5 ปีหลัง เท่ากับ 1.5% x 5 = 7.5% รวมอัตราบำนาญ 20 ปี เท่ากับ 20% + 7.5% = 27.5% ดังนั้น เงินบำนาญรายเดือน จะอยู่ที่ 15,000 x 27.5% = 4,125 บาทต่อเดือน หรือถ้าคิดเป็นต่อปี ก็เกือบๆ 5 หมื่นบาท
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เมื่ออายุ 60 ปี มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายเดือนไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ คือ ผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ โดยเบี้ยยังชีพที่ได้รับจะเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ
อายุ | เบี้ยยังชีพ |
60 – 69 ปี | 600 บาทต่อเดือน |
70 – 79 ปี | 700 บาทต่อเดือน |
80 – 89 ปี | 800 บาทต่อเดือน |
90 ปีขึ้นไป | 1,000 บาทต่อเดือน |
เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เงินชราภาพภาพจากประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นสิทธิที่ผู้เกษียณอายุมีสิทธิได้รับ อย่างไรก็ตาม อาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณ เพราะหลังเกษียณก็คงอยากใช้ชีวิตสบายๆ เช่น มีเงินไปท่องเที่ยวพักผ่อนตามต้องการ
ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องวางแผนเก็บเงินเพิ่มเติมให้พร้อมก่อนเกษียณ เช่น สะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนบำเนหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) ตั้งแต่เริ่มทำงาน รวมทั้งการลงทุนเพิ่มในกองทุนที่สามารถนำเงินลงทุนลดหย่อนภาษีด้วย กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) และสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการขาดรายได้ประจำด้วยประกันแบบบำนาญเพิ่มเติม จะได้มีเพิ่มเติมเงินเก็บ เพื่อใช้ชีวิตในบั้นปลายได้อย่างมีความสุข
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th