logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

เทคนิคผ่อนบ้านให้หมดก่อนเกษียณ

โดย ศิริรัตน์ ตานะเศรษฐ นักวางแผนการเงิน CFP®

การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นประโยคที่แสนจะคุ้นเคย แต่สำหรับหลายๆ คนก็จะพูดว่า มีเงินเดือนหลักหมื่น แต่อยากมีบ้านหลักล้าน ไม่ผ่อนแล้วจะมีบ้านได้อย่างไร

“หนี้บ้าน” สามัญชนคนธรรมดาอย่างเราหลังจากที่เริ่มมีงานการเป็นหลักแหล่ง ก็จะเริ่มตัดสินใจซื้อบ้าน เริ่มจากดาวน์บ้าน แล้วก็ยังต้องมีภาระผ่อนไปอีกหลายสิบปี โดยหวังว่า ซักวัน ภาระนี้ก็จะหมดไป แต่หลายครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสให้คำปรึกษากับคนวัยใกล้เกษียณ หรือเพิ่งเกษียณ ปัญหาใหญ่ที่ยังคงหนักอกปกคลุมหัวใจชาวเกษียณหลายๆ ท่านคือ ยังมีภาระผ่อนบ้านไม่จบ ทั้งๆ ที่โอกาสในการหารายได้ในอนาคตน้อยลงเรื่อยๆ ตามวัย หลายท่านไปต่อไม่ไหวต้องผลักภาระกลายมาเป็นภาระของลูกหลาน หรือ สถานการณ์บังคับอาจต้องตัดสินใจขายบ้านที่เรารักไป วันนี้ผู้เขียนเลยมีแรงบันดาลใจไม่อยากให้เรื่องเศร้านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงอยากมาแชร์เทคนิคให้แก่ทุกท่านที่ยังมีเวลา เพิ่งเริ่มผ่อน หรือ กำลังจะตัดสินใจผ่อนบ้าน ทำอย่างไรให้หมดหนี้ก่อนเกษียณ จะได้ไม่มีปัญหารุมเร้าในช่วงวัยที่ควรจะเป็นเวลาพักผ่อน และสนุกกับชีวิต

  • สตาร์ทดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ก่อนเซ็นต์สัญญาผ่อนบ้าน คำนวณยอดผ่อนบ้านต่อเดือนให้ดีว่าเกินกำลังรายได้หรือไม่ โดยคำนวณจากรายได้รวม หักด้วยรายจ่ายรายเดือนที่จำเป็นออก โดยปกติ ธนาคารจะกำหนดอัตราผ่อนผ่อนบ้านไม่ควรเกิน 40% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจำเป็น ที่สำคัญต้องคำนวณให้ดีว่า ด้วยกำลังการผ่อนต่อเดือนที่วางแผนเอาไว้จะทำให้เราสามารถผ่อนบ้านหมดภายในกี่ปี แล้วจำนวนปีนั้นเหมาะสมกับอายุที่เราตั้งใจจะเกษียณหรือไม่ หลายคนมองโลกในแง่ดีอาจคิดว่าพออายุมากขึ้น รายได้ก็ต้องมากขึ้นตามความสามารถน่าจะผ่อนได้สบายขึ้น อย่างไรก็ตาม ตามสถิติเมื่อรายได้มากขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่ยกัน ผู้เขียนแนะนำให้ประเมินตามความสามารถจริงก่อน อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ถ้ารายได้รวม หักด้วยรายจ่ายรายเดือนที่จำเป็นออก ดีกว่าเดิมก็ถือว่าภาระก็มีโอกาสจบได้ไวขึ้น

  • ผ่อนเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน สมมติเราผ่อนชำระเพิ่มเป็นสองเท่าของค่าผ่อนชำระในแต่ละเดือน เช่น เป็นหนี้อยู่ 1,800,000 บาท ดอกเบี้ย 5% ธนาคารให้ผ่อนเดือนละ 12,600 บาท หากเราผ่อนเพิ่มเป็น 25,200 บาท ต่อเดือน เราจะสามารถผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้นจาก เดิม 16.2 ปี เหลือเพียง 6.8 ปี แถมดอกเบี้ยจ่ายรวมจะลดจากเดิม 648,645 บาท เหลือแค่ 258,864 บาท สามารถประหยัดดอกเบี้ยได้ เกือบ 400,000 บาท (389,781) บางท่านอาจบอกว่าแค่จะผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาก็แสนจะลำบาก อันนี้ผู้เขียนเข้าใจอย่างดี แต่ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนี้ทุกเดือนก็ได้ มีมากผ่อนมาก มีน้อยผ่อนเพิ่มน้อย ท่านจะภูมิใจ เมื่อเห็นยอดเงินต้นลดลงได้เร็วขึ้น คำแนะนำนี้เหมาะกับท่านที่มีโอกาสเพิ่มรายได้ต่อเดือนจากรายได้พิเศษ เช่นขายของออนไลน์ ขายตรง ฯลฯ

  • นำเงินก้อนใหญ่โปะเพิ่ม หากเรามีเงินก้อนที่ได้เพิ่มมาจากรายได้ปกติ เช่น โบนัส คอมมิชชั่น ขายบ้านเก่าได้ ฯลฯ เราควรนำเงินนั้นแบ่งไปโปะบ้านทุกครั้งที่มีโอกาส จากตัวอย่างเดิม ถ้าโปะเพิ่มปีละ 100,000 บาท และยังคงผ่อนเท่าเดิมเดือนละ 12,600 บาท และทำทุกสิ้นปี เราจะสามารถผ่อนบ้านได้เร็วขึ้นจากเดิม 16.2 ปี เหลือเพียง 8 ปี และดอกเบี้ยจะลดลงเหลือ 363,333 บาท ซึ่งประหยัดดอกเบี้ยไป 285,812 บาท แน่นอนว่าวิธีนี้ปลดหนี้ได้ช้ากว่าวิธีแรก เพราะการโป๊ปีละ 100,000 บาท ตกประมาณเดือนละ 8,333.33บาท แต่ถ้าท่านสามารถโป๊ได้ปีละ 151,200 บาท หรือประมาณเดือนละ 12,600 บาท ยอดหนี้ก็จะลดได้เร็วกว่าเพราะเงินต้นลดลงมากทันทีที่ท่านโป๊ะ อาจมีคำถามว่าแล้วโปะเมื่อไหร่ดี...วันไหนของเดือนดี...แนะนำว่ามีเมื่อไหร่จ่ายไปเลย เพราะดอกเบี้ยคิดทุกวันอยู่แล้ว บางท่านบอกให้จ่าย ณ วันแรกของเดือน เงินที่จ่ายจะได้ไม่โดนคิดดอกเบี้ย แต่จริงๆแล้ว เราก็โดนคิดดอกเบี้ยบนยอดจ่ายปกติอยู่ดี
  • โปะตอนช่วงปีแรกๆดอกเบี้ยต่ำ เวลาที่เรากู้ธนาคารซื้อบ้าน ช่วงปีแรกๆ ของสัญญากู้มักจะมีโปรโมชั่นให้ดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ หลังจากนั้นดอกเบี้ยก็จะพุ่งสูงตาม MRR ฉะนั้นช่วงที่เราควรโปะให้ได้มากที่สุดคือช่วงปีแรกๆ เพื่อจะได้ประหยัดดอกเบี้ย เงินที่โปะลงไปส่วนใหญ่จะไปลดเงินต้นมากกว่าไปจ่ายดอกเบี้ย ถ้าเทียบกับช่วงที่ดอกเบี้ยสูงเงินที่เราโปะไปจะทำให้เงินต้นลดได้น้อยกว่า เพราะต้องแบ่งบางส่วนไปจ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มด้วย
  • รีไฟแนนซ์บ้าน การทำรีไฟแนนซ์คือ การย้ายสินเชื่อบ้านที่เรากู้อยู่กับธนาคารเดิม ไปธนาคารใหม่ เพื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดต่ำลง ซึ่งโดยปกติสามารถทำได้ทุกๆ 3 ปี แต่ทั้งนี้ต้องดูรายละเอียดในสัญญาของแต่ละธนาคารซึ่งอาจแตกต่างกัน หากเรารีไฟแนนซ์ก่อนกำหนดในสัญญาเงินกู้ เราก็จะต้องเสียค่าปรับ ในการขอรีไฟแนนซ์แต่ละครั้งเราก็ต้องดูคำนวณค่าธรรมเนียมที่จะเกิดขึ้น เช่นค่าจดจำนอง ค่าประเมินทรัพย์ใหม่ ซึ่งอาจจะไม่คุ้มกับดอกเบี้ยที่จะประหยัดได้ ทั้งนี้ หากเรามีประวัติการผ่อนจ่ายชำระดี ไม่เคยเบี้ยวหนี้ย้อนหลัง 3 ปี เราก็อาจจะสามารถยื่นขอกับทางธนาคารเจ้าหนี้เดิมให้ลดดอกเบี้ย บางครั้งอาจจะต่ำกว่าธนาคารที่ยื่นข้อเสนอให้รีไฟแนนซ์ก็ได้

    จะเห็นได้ว่าทุกวิธีที่เล่ามา เป็นแนวทางที่ช่วยให้ท่านผ่อนหนี้บ้านให้หมดได้เร็วยิ่งขึ้น แต่จะเลือกวิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละคนซึ่งอาจทำแบบผสมผสานหลายๆ วิธีก็ได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือไม่ว่าจะเลือกวิธีใด เราต้องไม่ลืมรีไฟแนนซ์ทุกๆ 3 ปี เพราะจะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สูงจนเกินไป โดยเฉพาะในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

    ทั้งนี้ การที่จะเร่งโปะหนี้บ้าน จะต้องวางแผนการเงินอย่างดี ต้องไม่ลืมที่จะต้องแบ่งเงินไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน และแบ่งเงินออมและเงินลงทุนสำหรับเป้าหมายอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่ทุ่มหมดตัวจนไม่เหลือสภาพคล่องไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือเป้าหมายอื่นๆ พอเกิดเหตุฉุกเฉินต้องกลับไปขอกู้เพิ่มซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะสูงกว่าการกู้เพื่อที่อยู่อาศัยมาก ที่สำคัญถึงแม้ว่าบ้านหรือคอนโดจะเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นได้ แต่สภาพคล่องค่อนข้างต่ำ ฉะนั้นการวางแผนการผ่อนจ่าย ถือว่าสำคัญมากๆ สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่า เทคนิคเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านทุกๆ ท่าน ขอให้ผ่อนบ้านได้หมดไวๆ หมดก่อนเกษียณกันทุกคนนะคะ

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th