logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

5 เคล็ดลับบริหารเงินหลังเกษียณให้มีเงินใช้

โดย รัฐพล วชิรเมฆากุล นักวางแผนการเงิน CFP®

ถึงจะเกษียณอายุแต่ก็มีเงินใช้ เพียงบริหารเงินหลังเกษียณให้ถูกวิธี ใช้ชีวิตได้คล่องตัวแน่นอน!

การเกษียณอายุอาจดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะยังมองไม่เห็นภาพว่าจะสามารถบริหารจัดการด้านการเงินให้ลงตัวได้อย่างไร หากใครที่กำลังเริ่มวางแผนปลดตัวเองออกจากการทำงานประจำอยู่ หรือเข้าใกล้วัยที่ต้องเริ่มเกษียณอายุ แต่ยังไม่รู้ว่าควรจะบริหารเงินหลังเกษียณอย่างไรให้มีเงินใช้ไม่ขาดมือ แถมยังมีเหลือเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินด้วยล่ะก็ ขอเวลาคุณสัก 5 นาทีเพื่อทำความเข้าใจกับ 5 เคล็ดลับการบริหารด้านการเงินเมื่อต้องเกษียณอายุตามแบบฉบับนักวางแผนการเงินกัน

เคล็ดลับที่ 1 :  อย่าเพิ่งต่อยอดเงิน! มาดู “รายจ่าย” ก่อน
“รายจ่าย” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนไม่ยอมวางแผนเกษียณตัวเอง รู้ตัวอีกทีก็สูญเสียเวลาไปกับการทำงาน และไม่ได้วางแผนการเงินใด ๆ เอาไว้ ดังนั้นเพื่อที่จะสามารถวางแผนบริหารเงินหลังเกษียณได้อย่างไม่ต้องกังวลถึงสภาพคล่องทางการเงิน เรามาทำความเข้าใจประเภทของรายจ่ายที่จำเป็นกันก่อน โดยจะมีรายละเอียด ดังนี้

1. หนี้สิน 
หนี้สินถือเป็นรายจ่ายชิ้นใหญ่ในชีวิตของใครหลายคน อย่าลืมพิจารณาถึงแนวทางการชำระหนี้ที่ถูกต้องด้วย เช่น หากเป็นหนี้สินบ้านก็อย่าลืมพิจารณาเรื่องการรีไฟแนนซ์เพื่อลดดอกเบี้ยและเงินต้น เป็นต้น

2. รายจ่ายทั่วไป 
ไม่ว่าจะเกษียณอายุหรือไม่ รายจ่ายก็เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำทุกวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รายจ่ายทั่วไปนี้ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ภายในบ้านอย่างค่าแม่บ้านหรือค่าดูแลส่วนอื่น ๆ ด้วย

3. รายจ่ายเพื่อดูแลสุขภาพ
รองจากหนี้สินแล้ว ปัญหาสุขภาพถือเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น หากคุณเริ่มมีสุขภาพที่อ่อนแอ ดังนั้น เพื่อให้สามารถบริหารเงินหลังเกษียณได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนสุขภาพผ่านประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการดูแลสุขภาพก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลงได้

4. รายจ่ายอื่นๆ
  เพื่อเติมชีวิตให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น การวางแผนเกษียณเองก็ควรคำนึงถึงรายจ่ายเพื่อความบันเทิง ค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยว หรือทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายอย่างการซ่อมแซมบ้าน รถยนต์ หรือส่วนอื่น ๆ ภายในที่อยู่อาศัยหากเกิดการทรุดโทรมลงด้วย 

หากอยากรู้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดคร่าวๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเก็บเงินใช้หลังเกษียณก็สามารถคำนวณได้ง่าย ๆ ดังนี้
ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ = รายจ่ายต่อปีเฉลี่ย x 80% x จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ

เคล็ดลับที่ 2 :  มองหาแหล่ง ‘รายได้’ ประจำ
เมื่อทราบรายจ่ายคร่าวๆ ที่ต้องมีเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณแล้ว การบริหารเงินหลังเกษียณที่มีประสิทธิภาพยังต้องคำนึงถึง ‘รายได้’ ด้วย รายได้หลังเกษียณนั้นมาใน 2 รูปแบบ ดังนี้

รูปแบบที่ 1 : รายได้ประจำ
รายได้ประจำ คือ รายได้ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลารายเดือนหรือปี เช่น เงินบำนาญ รายได้จากอสังหาริมทรัพย์อย่างการปล่อยเช่าบ้าน และคอนโด รายได้จากอาชีพเสริม ตลอดจนรายได้จากการลงทุน เช่น เงินปันผล และ ดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นต้น โดยเงินรายได้ประจำนี้ควรจะนำไปหมุนจ่ายเป็นค่าใช่จ่ายที่คำนวณไว้ หากเหลือก็ให้เก็บเข้าธนาคาร หรือหาแนวทางการลงทุนเพื่อต่อยอด

รูปแบบที่ 2 : เงินก้อน หรือ รายได้ครั้งคราว
รายได้ครั้งคราวส่วนใหญ่จะเป็นเงินก้อนที่ไม่ได้ประจำ เช่น เงินบำเหน็จ เงินครบประกันชีวิต เงินจากกองทุนรวมอย่าง LTF SSF และ RMF เป็นต้น และเพื่อบริหารเงินหลังเกษียณให้มีประสิทธิภาพ เราจึงควรนำเงินก้อนในส่วนนี้ไปเก็บเพื่อสำรองเป็นเงินฉุกเฉิน หรือแบ่งส่วนหนึ่งมาเพื่อลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่รับความเสี่ยงไหวเพื่อสร้างกระแสเงินสดเสริมรายได้ประจำ

เคล็ดลับที่ 3 :  วางแผนจัดการรายจ่ายทั้งหมด
การบริหารเงินในส่วนนี้สามารถเริ่มทำง่ายๆ โดยการทำบันทึกรายรับ - รายจ่ายเป็นประจำเพื่อทราบถึงรายได้ รายจ่าย ตลอดจนพฤติกรรมการใช้เงินของเรา ซึ่งจะทำให้เราเห็นรายการค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากมีรายการไหนที่คุณคิดว่ายังไม่จำเป็น ก็ให้ตัดออกไป และนำเงินมาหมุนเวียนเรื่องอื่นๆ หรือนำเงินไปออมแทน 

อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องบริหารเงินหลังเกษียณให้ดีก็คือ ‘ภาระหนี้สิน’ ซึ่งควรตั้งเป้าหมายชำระหนี้สินให้ครบก่อนเกษียณอายุ เพื่อการใช้ชีวิตก่อนเกษียณที่ไม่กดดัน และเพื่อชีวิตหลังเกษียณที่สุขสบาย

เคล็ดลับที่ 4 :  บริหารเงินสำรองฉุกเฉินให้ดี
การเก็บเงินในธนาคารเป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยก็มีดอกเบี้ยประจำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การฝากเงินกับธนาคารยังต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขการฝากเงิน ดอกเบี้ย และความมั่นคง หากเราเลือกฝากเงินกับธนาคารแบบระยะยาว การถอนเงินออกมาใช้ก่อนเพราะเหตุจำเป็นก็อาจทำให้ไม่ได้ดอกเบี้ยพิเศษ รวมถึงหากเกิดภาวะเงินเฟ้อสูง เงินที่อยู่ในธนาคารก็จะมีมูลค่าลดลง เพราดอกเบี้ยหลังหักเงินเฟ้อลดลง หรือติดลบ ดังนั้นหากต้องการบริหารเงินหลังเกษียณอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าลืมพิจารณาและวางแผนการบริหารเงินเก็บเพื่อเป็นเงินสำรองฉุกเฉินกันด้วย 

เคล็ดลับที่ 5 :  แบ่งลงทุนอย่างเข้าใจ
สุดท้าย เมื่อพิจารณาถึงรายรับ รายจ่าย และเงินสำรองฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว การบริหารเงินหลังเกษียณยังครอบคลุมไปถึงการแบ่งลงทุนเพื่อต่อยอดเงินไปอีกขั้นด้วย โดยพื้นฐานแล้ว เราสามารถแบ่งเงินสำหรับลงทุนออกเป็น 3 ระยะ ที่จะประกอบไปด้วย

ลงทุนระยะสั้น
เป็นการลงทุนที่เน้นสภาพคล่องเป็นหลัก มีอายุการลงทุนในช่วง 1 - 3 ปี อาจเลือกลงทุนผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่ำจนถึงปานกลางได้บ้างเพื่อให้มีผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอสำหรับค่าใช้จ่ายประจำหลังเกษียณ
ลงทุนระยะกลาง

เป็นการลงทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคต หรือค่าใช้จ่ายระยะยาว อาทิ การซ่อมแซมบ้าน การวางแผนรักษาโรคเรื้อรัง ตลอดจนการวางแผนซื้อสินทรัพย์ต่างๆ โดยการลงทุนประเภทนี้จะมีอายุ 3 - 7 ปี และควรเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีผลตอบแทนที่เป็น capital gain ในระดับหนึ่ง และมีเงินปันผลเพื่อนำมาเงินไปเติมพอร์ตระยะสั้น หรือเงินสำรอง คาดหวังผลตอบแทนอย่างน้อยเพื่อชนะเงินเฟ้อ

ลงทุนระยะยาว เป็นการลงทุนที่ควรให้ระยะเวลานานกว่า 7 ปีขึ้นไป นักลงทุนต้องทนความผันผวนได้ กำไรที่ได้เพื่อสำหรับเติมในพอร์ตระยะปานกลาง หรือพอร์ตระยะสั้นตามสถานการณ์ และยังสามารถเก็บไว้ใช้เป็นเงินมรดกและเพื่อเป็นทรัพย์สินให้กับลูกหลานได้ เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาว เราจึงควรเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เน้นผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวประมาณ 6%/ปี

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า 5 เคล็ดลับบริหารเงินหลังเกษียณนี้จะช่วยทำให้ทุกคนได้วางแผนและเตรียมตัวเกษียณได้อย่างมีคุณภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่างไรก็ตาม การบริหารเงินเพื่อเกษียณอายุยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิต ภาษี อาชีพ และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น เพื่อบริหารและวางแผนได้รัดกุมมากที่สุด นักวางแผนการเงิน CFP พร้อมช่วยให้ทุกคนก้าวเข้าสู่การเกษียณในแบบที่ต้องการ ด้วยมาตรฐานการวางแผนเงินระดับโลก

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th