logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

หมดหนี้ มีออม เกษียณก่อนแก่

โดย พญ.หฤทัย ไกรวพันธุ์ MD, CFP®

คำกล่าวที่ว่า “หาเงินได้ ไม่เท่ากับใช้เงินเป็น” เป็นสิ่งที่หากฟังผ่านๆ หรืออ่านเพลินๆ เราอาจไม่ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของความหมายลึกซึ้งที่อยู่ในประโยคนี้ จากประสบการณ์ในการวางแผนการเงินและได้พูดคุยเก็บข้อมูลกับผู้คนที่มีสายอาชีพหลากหลายนับพันคน ตั้งแต่เด็กจบใหม่ที่พึ่งเริ่มต้นทำงาน เจ้าของกิจการขนาดเล็ก ผู้คนในวิชาชีพแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์กร และเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ สิ่งสำคัญของการมีอิสรภาพทางการเงินก่อนวัยเกษียณ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของรายได้ที่เราหาได้ในช่วงชีวิตการทำงานเสมอไป และคำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” ที่ฟังดูสบาย เป็นสุข และมีอิสระ เป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถเป็นได้ และเอื้อมถึง เพียงมีการตระหนักรู้ในการหาและใช้จ่าย รวมถึงการบริหารเงินอย่างถูกวิธี หากเราสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ก่อนวัยเกษียณ ชีวิตก็จะพบกับอิสรภาพที่แท้จริง คือการไม่ได้ใช้ชีวิตเพียงทำงานเพื่อเงิน แต่เป็นการทำงานเพราะเราเลือกที่จะทำเพื่อให้ชีวิตของเรามีประโยชน์ มีคุณค่า และอิสรภาพนั้นจะมอบของขวัญของการเลือกใช้ชีวิตได้ตามใจปรารถนา สามารถพึ่งตนเองได้ และมีกระแสเงินจากการวางแผนที่ดีให้เรามีเงินใช้ตลอดชีวิต ด้วยหลักการเรียบง่ายที่ต้องนำมาใช้ในทุกๆ วัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว ดังนี้

1. Clarity ความชัดเจน คือการรู้สถานะทางการเงินของตัวเอง ด้วยการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และทำงบดุลส่วนบุคคล
เรามักให้ความสำคัญกับการคำนวณเงินเกษียณอายุว่า หากเราอยากมีอิสรภาพทางการเงิน (เกษียณก่อนแก่) เราจะต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ แต่สิ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่า นั่นคือการรู้สถานะทางการเงินของตัวเอง ณ ปัจจุบัน ด้วยการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และทำงบดุลส่วนบุคคล ซึ่งนอกจากจะทำให้เราทราบจำนวนเงินที่เหลือเพื่อใช้ในการวางแผนการออมและการลงทุนในแต่ละเดือน เราจะมีข้อมูลที่ชัดเจนว่ารายจ่ายใดเป็นรายจ่ายที่เราสามารถลดได้ จะทำให้เราเห็นความสำคัญของรายจ่ายเล็กๆ น้อยๆ ที่เราจ่ายออกไปทุกวัน หากเราลดรายจ่ายนั้นเปลี่ยนเป็นเงินที่นำไปลงทุน ก็จะกลายเป็นแหล่งเงินออมเพื่อวัยเกษียณของเราได้อย่างดี

2. Self-Sufficiency การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ก่อหนี้เกินตัว
คือการมีรายได้ มากกว่ารายจ่าย ไม่ใช้เงินเกินตัว ไม่ก่อหนี้เกินความจำเป็น หากเรามีความต้องการใช้ชีวิตที่หรูหรา เกินกว่ารายได้ที่หาได้ เช่น อยู่บ้านหลังใหญ่ ใช้รถหรู เราจะมีชีวิตที่วิ่งหาแต่เงินเพื่อนำเงินนั้นมาซื้อบางสิ่งบางอย่างที่เราต้องการ เมื่อได้มาแล้ว ก็มีความปรารถนาอื่นๆ ตามมาไม่มีที่สิ้นสุด และเราก็ต้องดิ้นรน หาเงินมา ก่อหนี้เพื่อซื้อสิ่งที่เราอยากได้ เป็นหนี้ วิ่งหาเงิน ชีวิตที่ต้องวิ่งหาและหาและหาอยู่ตลอดเวลา มีแต่ความเหนื่อยล้าและวุ่นวายใจ หากเพียงเราหยุดคิดสักนิดว่า ชีวิตที่กินอิ่มนอนอุ่นในประเทศของเรา ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมายขนาดนั้น เมื่อใช้น้อย และหาได้มากกว่าที่ใช้ เราก็จะไม่ก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น ไม่ก่อหนี้เกินตัว และมีเงินเหลือเก็บออม สิ่งสำคัญของการเกษียณก่อนแก่นอกจากการมีเงินใช้มากพอตลอดชีวิตแล้ว ยังหมายถึงการเป็นบุคคลที่ปลอดจากภาระหนี้สินด้วยเช่นกัน การหมดหนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่อิสรภาพทางการเงินก่อนวัยเกษียณได้อย่างแท้จริง ซึ่งวิธีการวิเคราะห์สัดส่วนหนี้ที่ไม่มากเกินตัว มีหลักในการคำนวณดังนี้

  • หนี้สินต่อสินทรัพย์ ควรมีค่าน้อยกว่า 50%
  • หนี้สินจดจำนอง ได้แก่ เงินกู้ซื้อบ้าน เงินที่ชำระคืนต่อเดือน ไม่ควรเกิน 35 – 45% ของรายได้ต่อเดือน
  • จำนวนหนี้ที่ต้องชำระอื่นๆ ไม่ควรเกิน 10% ของรายได้ต่อเดือน

3. Breathing Room มีเงินออม 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน
เพื่อมีพื้นที่ว่างทางการเงินที่มากพอให้เราได้พักหายใจ โดยเฉพาะในยามที่เกิดเหตุฉุกเฉินที่เราไม่คาดคิด ตัวอย่างของสถานการณ์ที่เราเห็นได้ชัดเจนก็คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก หลายคนขาดรายได้ ต้องปิดกิจการหรือไม่มีงานทำ หรือถูกลดเงินเดือน หากเรามีสภาพคล่องทางการเงิน อย่างน้อย 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน จะทำให้เราสามารถผ่านพ้นสถานการณ์เหล่านี้ไปได้จากการดึงเงินในส่วนนี้มาใช้จ่าย โดยไม่ต้องกู้เงินสร้างภาระหนี้สินเพิ่มเติมอีกต่อไป

4. Goal กำหนดเป้าหมายว่าเราต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ จึงพอใช้ในยามเกษียณ
จำนวนเงินที่ต้องใช้ในวัยเกษียณของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ และการเลือกวิถีการใช้ชีวิตซึ่งมีความแตกต่างตามปัจเจกบุคคล ตัวอย่างเช่น บางคนอาจพึงพอใจกับการใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด ชอบอยู่บ้าน ไม่ชอบออกไปท่องเที่ยว หรือใช้จ่ายเงินนอกบ้าน หากเทียบกับค่าเงิน ณ ปัจจุบัน อาจเท่ากับค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่บางคนอยากใช้ชีวิตท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง ได้ทานอาหารนอกบ้าน ได้ซื้อของที่ตัวเองอยากได้ ซึ่งเทียบเท่ากับการค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 บาทต่อเดือนเป็นต้น จะเห็นได้ว่าเราต้องเตรียมเงินมากขึ้นแปรผันตามวิถีชีวิตที่เราพึงพอใจ และให้นำจำนวนเงินที่เราต้องการใช้ต่อเดือน คำนวณเงินเฟ้อ เพื่อหาจำนวนเงินที่ต้องใช้จ่ายในอนาคต ตัวอย่าง : ชายอายุ 25 ต้องการเกษียณตอนอายุ 50 ปี และต้องการคำนวณเงินให้พอใช้จนถึงอายุ 75 ปี

ค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ ณ ค่าเงินปัจจุบัน = 10,000 บาทต่อเดือน 120,000 บาทต่อปี
ที่อัตราเงินเฟ้อ 3% ในอีก 25 ปีข้างหน้า = 20,938 บาทต่อเดือน 251,253 บาทต่อปี
จำนวนเงิน ณ อายุ 50 ปี ที่สมมติฐานผลตอบแทน 5% อัตราเงินเฟ้อ 3% พอใช้ไปอีก 25 ปี
= 5,024,612.04 บาท (คิดแบบถอนเงินมาใช้ทุกต้นปี PMT : Begin)

สรุปเป็นวิธีการในการคำนวณเงินที่ต้องมีไว้ใช้ในการเกษียณอย่างง่ายๆ คือ
20 เท่าของค่าใช้จ่ายตอนเกษียณที่เราอยากใช้ต่อปี
ที่สมมติฐานผลตอบแทน 5% อัตราเงินเฟ้อ 3% จะพอใช้หลังเกษียณอีก 25 ปี

5. Plan วางแผนการออมและการลงทุนให้บรรลุเป้าหมายการเกษียณ
คำนวณหาจำนวนเงินที่ต้องลงทุนต่อเดือน พร้อมเลือกลงทุนในผลตอบแทนบนความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ จากตัวอย่างข้างต้น ชายอายุ 25 ปี หากต้องการเกษียณที่อายุ 50 ปี จะต้องเก็บเงินเดือนละ 7,500 บาทต่อเดือน ที่ผลตอบแทน 6% ต่อปี บนความเสี่ยงที่ยอมรับได้โดยมีการกระจายการลงทุนที่ดี เช่น ลงเงินในตราสารหนี้ 30% ที่ผลตอบแทน 2.5% ต่อปี และลงทุนในตราสารทุน 70% ต่อปี ที่ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% และหากเราเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย เราก็จะสามารถนำเงินที่ได้คืนจากภาษีกลับมาเป็นแหล่งเงินออมและเงินลงทุนได้อีกด้วย ตัวอย่างของการจัดแผนดังกล่าวข้างต้น คือ นำเงิน 30% ไปลงทุนในกลุ่มประกันสะสมทรัพย์และประกันบำนาญเพื่อสร้างระบบการออมที่ได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนในวัยเกษียณ สร้างความมั่นคงและความสบายใจว่าเราจะมีเงินใช้เพื่อปัจจัย 4 และการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ทั้งในภาวะเศรษฐกิจดีหรือภาวะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ และนำเงินอีก 70% ไปลงทุนในกองทุน SSF หรือ RMF ที่เน้นลงทุนในตราสารทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี ตัวอย่างการวางแผนที่มีการออมและการลงทุนดังกล่าว จะสร้างทั้งระบบบำนาญ และสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างที่เราปรารถนา อีกสิ่งสำคัญนอกจากการวางแผนการออมคือ การวางแผนการโอนย้ายความเสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องค่ารักษาพยาบาลให้มีมากพอ เพื่อให้แผนการเกษียณของเราไม่ล่มสลาย จากการเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง นอกจากนี้จากตัวอย่างการคำนวณ จำนวนเงินที่ต้องออมต่อเดือนคือ 7,500 บาท ซึ่งอาจเป็นจำนวนเงินที่เก็บออมมากจนเกินไปในกลุ่มคนที่อายุน้อยและพึ่งเริ่มต้นในการทำงาน แต่รายได้ย่อมเพิ่มขึ้นตามทักษะและอายุงานที่เพิ่มขึ้น หากเราเก็บออมให้ได้ 20% ต่อเดือน จะทำให้เรามีจำนวนเงินออมที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น จะช่วยให้เรามีเม็ดเงินในการเก็บออมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการวางแผนเกษียณได้

6. Action ลงมือทำ อย่างมีวินัย ตามแผนที่วางไว้
เนื่องจากการวางแผนการเกษียณ เป็นการวางแผนในระยะยาว เราจึงจำเป็นจะต้องเริ่มต้นลงมือทำตั้งแต่วันนี้ ทำอย่างสม่ำเสมอ ทำอย่างต่อเนื่อง และทำอย่างเป็นระบบ เช่น การวางแผนชำระเบี้ยประกันสะสมทรัพย์ ประกันบำนาญ การวางแผนซื้อกองทุนรวมโดยลงทุนแบบเฉลี่ยทุกเดือน (DCA) เพื่อเป็นการบังคับตัวเราเองให้ยังคงดำเนินการตามแผนที่เราได้ตั้งใจไว้

จะเห็นได้ว่าความสำเร็จในการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณ เป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ เพียงเราทำตาม 6 ข้อที่ได้กล่าวมา เราทุกคนก็สามารถมีชีวิตที่หมดหนี้ มีออม และเกษียณก่อนแก่ ได้ไม่ยากค่ะ

แหล่งที่มา : E-Book เกษียณแบบ Well Done สุขแบบพอดี

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th