บทความ: เกษียณ
4 ข้อชวนคิดก่อนวางแผนเกษียณเร็ว
โดย ณัฐนันท์ เอื้อวัฒนะสกุล นักวางแผนการเงิน CFP®
แนวคิด “เกษียณเร็ว” หรือ F.I.R.E (Financial Independence, Retire Early) คือ การมีอิสรภาพทางการเงินจนสามารถหยุดทำงานตั้งแต่อายุไม่มาก เช่นตั้งแต่อายุ 30-40 ปี ไม่ต้องรอเกษียณตามเวลาปกติในช่วง 55-65 ปี เป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากสำหรับ First jobber ในยุคนี้ เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของ ผู้ที่ปรารถนาความเป็นอิสระ ต้องการเวลาไปทำสิ่งที่อยากทำตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาวที่ยังมีพละกำลังมากมาย และไม่อยากจะทำงานไปจนแก่ แล้วค่อยได้ใช้ชีวิตอิสระในวัยเกษียณ ซึ่งอาจจะเหลือกำลังไปทำสิ่งต่างๆ ไม่มากแล้ว
หากเราหมดความกังวลเรื่องเงินตั้งแต่อายุน้อยๆ สามารถไปใช้ชีวิตได้ตามที่ตัวเองต้องการได้ แค่คิดภาพตามก็เป็นแนวคิดที่ยอดเยี่ยม ใคร ๆ ก็หวังถึงชีวิตแบบนั้นใช่ไหมครับ แต่ F.I.R.E ยังไงก็คือไฟ การเล่นกับไฟโดยไม่ระมัดระวัง อย่างการเกษียณเร็วไป ก็อาจจะมีผลเสียตามมาได้เหมือนกัน ในบทความนี้ ผมจะขออนุญาตชวนท่านผู้อ่าน First jobber ที่ต้องการมีอิสรภาพทางการเงินอย่างรวดเร็ว ให้ใจเย็น พักจิบน้ำ ทำให้เปลวเพลิงเบาลงหน่อย มาสำรวจความเป็นไปได้ถึงปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ต้องการจะเกษียณเร็ว โดยหวังว่าทุกท่านจะสามารถนำประเด็นที่ยกมาทั้ง 4 ข้อนี้ ไปใช้วางแผนของตัวเองให้รัดกุมและรอบคอบยิ่งขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเกษียณเร็วกันนะครับ
ประเด็นที่ 1 ระยะเวลาที่เตรียมตัวสั้นส่งผลให้การเตรียมตัวยิ่งยาก : ยิ่งวางแผนจะเกษียณเร็วขึ้นเท่าใด ก็จะทำให้เรามีเวลาในการเก็บเงินหรือเตรียมทรัพย์สินเพื่อการเกษียณน้อย อีกทั้งยังเป็นการเตรียมสำหรับระยะเวลาที่มาก ซึ่งการที่จะทำให้สำเร็จได้ จึงมักเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องตัดสินใจใน 2 แนวทางต่อไปนี้ ทางแรกต้องเก็บเงินต่อปีมากยิ่งขึ้น ทั้งโดยการ ลดรายจ่าย ซึ่งอาจกระทบกับคุณภาพของชีวิตในปัจจุบัน และ การเพิ่มรายได้ ที่ต้องทุ่มเททั้งกำลัง สติปัญญา ทรัพยากร และ เวลา ซึ่งหากจัดการได้ไม่ดี อาจทำให้เสียสมดุลในชีวิตมากจนเกินไป จนกระทบทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต หรือหากเก็บเงินเพิ่มไม่ได้ ต้องไปในทาง ที่สองต้องเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้ต้องรับความเสี่ยงจากการลงทุนมากจนเกินไป หรือพลาดไปลงทุนที่ไม่เหมาะสมจนต้องสูญเสียเงินมากมายเป็นต้น
ประเด็นที่ 2 เตรียมค่าใช้จ่ายหลังเกษียณไว้ไม่เหมาะสม : ซึ่งต้นเหตุที่ทำให้การคำนวณผิด หรือคลาดเคลื่อนนั้นมีได้หลายทาง ยกตัวอย่าง ลืมคำนวณเงินเฟ้อระยะยาวหลังเกษียณ รูปแบบการใช้ชีวิตในช่วงก่อนหรือหลังเกษียณมีความแตกต่างกันมากทำให้ตกหล่นค่าใช้จ่ายสำคัญบางอย่าง ช่วงเกษียณแรกๆ สุขภาพร่างกายตัวเองและครอบครัวยังแข็งแรงดี แต่พอผ่านไป 10-20 ปี คุณพ่อคุณแม่เริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพมากขึ้น หรือ เทคโนโลยีทางการเแพทย์ที่ก้าวหน้า ส่งผลให้อายุขัยที่อยู่จริงยาวนานกว่าที่ได้วางแผนเตรียมไว้ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เมื่อมาประกอบกับระยะเวลาหลังเกษียณที่ยาวนาน ส่งผลให้โอกาสที่จะคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับการเกษียณผิดพลาดยิ่งมากขึ้นไปอีก
ประเด็นที่ 3 ความเปลี่ยนแปลงยังเกิดขึ้นต่อเนื่องและควบคุมไม่ได้ ส่งผลต่อแหล่งเงินเกษียณ : ในปัจจุบันโลกหมุนเร็วมากครับ สิ่งที่เคยดีไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ หุ้นปันผลชั้นเลิศ หรือ คริปโตเคอเรนซี สินทรัพย์การเงินต่างๆ ที่เคยสร้างฐานะ สร้างความมั่นใจในการเกษียณเร็วของเรา ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ถ้าเราไม่ติดตามควบคุมดูแลมันอย่างต่อเนื่อง สินทรัพย์ลงทุนที่หวังไว้ว่าจะเป็น Passive Income หลังเกษียณ จากที่เคยทำได้ดี อาจจะไม่ดีเหมือนอย่างเคย เช่น อัตราดอกเบี้ย หรือ อัตราเงินปันผลที่เคยคาดการณ์ไว้สูง ก็อาจจะลดต่ำลง จนไม่เพียงพอ และวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ ก็อาจเกิดขึ้นถี่กว่าเดิม หรือการเกษียณเร็ว อาจหมายถึงการที่เราต้องวางมือจากสิ่งที่เราเคยทำ เช่น จากธุรกิจที่เราเคยเป็นเจ้าของ และเป็นคนสำคัญในการบริหารจัดการ หากหาตัวแทนที่มารับไม้ต่อดำเนินการต่อไม่ได้ ธุรกิจที่เราถือหุ้นอยู่ก็อาจทำให้ธุรกิจถดถอย ขณะเดียวกันตัวธุรกิจเองก็อาจถูก Disrupt โดยธุรกิจใหม่ๆ จนไม่สามารถอยู่รอด เพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้กับเราได้ในระยะยาว อย่างที่เราวางแผนไว้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังเกษียณหากรับมือไม่ได้อย่างเหมาะสม อาจจะส่งผลให้แผนเกษียณเกิดปัญหาได้ครับ
ประเด็นที่ 4 สภาวะจิตใจหลังเกษียณเร็ว : เมื่อตัดสินใจเกษียณเร็วแล้ว งานที่เราเคยเป็นคนสำคัญ กิจกรรมที่เคยได้ทำ สังคมที่เคยได้พบเจอก่อนเกษียณนั้น หลายๆ อย่างจะหายไป ซึ่งอาจจะส่งผลในแง่ลบต่อจิตใจของเราได้ เพราะเวลาว่างที่เคยไขว่คว้าอยากได้มา แต่เมื่อมีมากเกินไป จนเหมือนไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ก็อาจจะกระทบความภาคภูมิใจหรือคุณค่าในตนเอง กิจกรรมที่อยากทำมาตลอด เมื่อได้ทำบ่อยครั้งเข้า ก็อาจกลายเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อไปได้ คนคุ้นเคยที่คุยกันถูกคอ ตอนนี้จะหาคนที่ว่างตรงกันก็ยาก เพราะคนอื่นยังคงทำงานอยู่ และแม้จะได้พบกัน เรื่องที่พูดคุยก็จะเริ่มห่างกันไปทุกที เพราะวิถีชีวิตก็แตกต่างกันมากขึ้น เราสามารถจัดการสภาวะจิตใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือไม่
จากทั้ง 4 ประเด็นที่ได้กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่ายิ่งวางแผนการเกษียณเร็วมากก็มีโอกาสที่จะตามมาด้วยปัญหาหลาย ๆ อย่าง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายว่าเป้าหมายเกษียณเร็วนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำนะครับ เพราะหากเราสามารถจัดการกับประเด็นความเสี่ยงและปัญหาต่างๆ ได้ รวมทั้งเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ว่า การเกษียณเร็ว เป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆ เพราะการเกษียณเร็วนั้น อาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน เพราะความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ คือการมีชีวิตที่มีความสุข เราอาจไม่จำเป็นต้องเอาคำว่าเกษียณเร็ว มาเป็นเงื่อนไขเพื่อจะมีความสุขนั้น เราสามารถมีความสุขได้ทั้งในวันนี้ตอนก่อนเกษียณ และความสุขในวันหน้าตอนหลังเกษียณ เพียงแค่จัดสรรให้อย่างเหมาะสมครับ
หากเรามีความทุกข์จากการทำงาน หรือไม่ชอบสภาวะชีวิตปัจจุบัน อาจจะเลือกไปในหนทางที่ยังทำงานอยู่ แต่เราเลือกได้ว่าจะทำงานอะไร เช่น งานที่อยากทำจริงๆ เลือกทำเพราะมีความสุขกับมัน หรือ งานที่มีเวลาว่างมากขึ้น แม้งานที่เลือกอาจมีรายได้น้อยลง แต่ก็เป็นงานเลี้ยงจิตใจ อาจไม่มีเงินพอจะซื้อได้ทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้ขาดแคลน เลือกใช้จ่ายอย่างประหยัดได้ เราอาจไม่ได้มีเวลาว่างในทุกๆ วัน ตลอดทั้งวัน แต่ก็พอจะจัดสรรเวลาได้ หากต้องทำอะไรที่อยากทำ หรือต้องแบ่งเวลาให้กับใครที่เป็นคนสำคัญ การจัดสรรชีวิตให้เหมาะสมตามจังหวะของตัวเอง น่าจะเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับใครหลาย ๆ คนมากกว่าการเกษียณอย่างรีบร้อน ที่ต้องตัดทอนความสุขในปัจจุบัน กดดันตัวเองอย่างมาก เพื่อความสุขที่ใฝ่ฝันในอนาคตที่ก็เป็นได้ครับ
สุดท้ายไม่ว่าท่านผู้อ่านจะเลือกแผนเกษียณแบบใดก็ตาม จะรีบมุ่งมั่นเพื่ออิสรภาพทางการเงินในระยะเวลาอันสั้น หรือ ค่อยๆ สะสมเงินเพื่อความสุขในวัยชรา ผมก็หวังว่าทุกท่านจะมองทุกด้านอย่างรอบคอบ วางแผนรับมืออย่างเหมาะสม และลงมือทำตามเป้าหมายที่วางไว้ จนประสบความสำเร็จได้ดั่งใจนะครับ
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th