บทความ: เกษียณ
สร้างฝันวันเกษียณด้วยหลักการ 3 ป.
โดย ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ นักวางแผนการเงิน CFP®
การเกษียณอายุเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต ซึ่งต้องมีการวางแผนและเตรียมการอย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อเวลานั้นมาถึงเราจะได้มีความพร้อมอย่างรอบด้าน สำหรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ สำหรับด้านการลงทุนเพื่อการเกษียณแล้ว นอกจากจะมี “แผนการ” ที่ดีแล้ว สิ่งที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ “การลงมือปฏิบัติ” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ คำว่าบรรลุเป้าหมายสำหรับการลงทุนเพื่อการเกษียณนั้น อาจหมายถึงการมีเงินเพียงพอ ที่จะใช้เพื่อดำรงชีพไปตลอด จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ซึ่งการวางแผนการเกษียณ และการลงมือทำอย่างมีหลักการจะช่วยให้เรามีความพร้อมทางด้านการเงิน ซึ่งมีส่วนสำคัญจะส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี วันนี้ผมจะขอนำหลักการ 3 ป. ซึ่งเป็นหลักการบริหารที่สามารถใช้ได้ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล มาประยุกต์ใช้กับการวางแผนการเกษียณ ซึ่งหลัก 3 ป. นั้น ประกอบไปด้วย ป.ประสิทธิผล ป.ประสิทธิภาพ และ ป.ประหยัด ซึ่งหลักการเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้าง ทำให้สามารถสร้างฝันวันเกษียณได้อย่าง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมีรายละเอียดดังนี้
หลักการ ป. ที่หนึ่ง ป.ประสิทธิผล
ประสิทธิผล (Effectiveness) นั้นหมายถึง การบรรลุผลหรือเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เมื่อมามองในด้านการวางแผนเกษียณแล้ว ประสิทธิผลเกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทาง เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อถึงวันเกษียณควรจะต้องมีรายได้หลังเกษียณ (Retirement Income) และแหล่งการลงทุนต่างๆ เพียงพอที่จะดำรงชีวิตในช่วงเกษียณอายุ
ขั้นตอนแรกสู่การบรรลุประสิทธิผล คือ การกำหนดเป้าหมายการเกษียณของตัวเอง โดยเป้าหมายจะเป็นทิศทาง (Direction) ให้เห็นแนวทางในการเริ่มต้นลงมือทำ และเริ่มจัดการกับอุปสรรคที่จะทำให้ความฝันวันเกษียณไม่ราบรื่น สำหรับเป้าหมายในด้านการเกษียณนั้น ผมจะขอแบ่งเป็นประเด็นสำคัญ 3 ประการ ที่จะทำให้เป้าหมายมีความชัดเจนมากขึ้น ดังนี้
ประเด็นแรก “เวลา” โดยคำถามสำคัญ คือ เราต้องการเกษียณในช่วงอายุใด และจะมีระยะเวลาหลังเกษียณอยู่อีกนานเท่าใด (อาจประมาณจากอายุเฉลี่ยของสมาชิกในครอบครัว) สำหรับความเสี่ยงจากประเด็นด้านเวลา คือ อายุยืนเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ (Longevity Risk) ทำให้เงินที่เตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นในการวางแผนเกษียณควรจะเผื่อเวลาให้อายุยืนยาวออกไปหน่อย
ประเด็นที่สอง คือ “ค่าใช้จ่าย” คำถามประเด็นนี้ คือ ในช่วงเวลาหลังเกษียณเราจะใช้เงินทั้งหมดประมาณเท่าไร ซึ่งเป็นการประมาณค่าใช้จ่ายในช่วงวัยเกษียณควรจะต้องคำนึงถึง เงินเฟ้อ ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจคาดไม่ถึง เช่น ค่าซ่อมแซมบ้าน ดูแลรถยนต์ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่างๆ
ประเด็นที่สาม “รายได้” แหล่งที่มาของรายได้หลังเกษียณของเรามีอะไรบ้าง ซึ่งอาจมีรายได้จาก เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำนาญจากประกันสังคม บำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินจาก กบข. และเงินออมส่วนบุคคลต่างๆ เป็นต้น สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ จะบริหารเงินลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนจากเงินเหล่านี้ได้อย่างไร และในกรณีที่ยังต้องการทำงานอยู่ อาจเลือกงานที่มีชั่วโมงทำงานลดน้อยลง เพื่อให้มรายได้จากการทำงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับท่านใดที่ต้องการวางเป้าหมายการเงินอย่างครอบคลุม อาจพิจารณาปรึกษานักวางแผนการเงิน ร่วมกันกำหนดเป้าหมาย เพื่อเพิ่มโอกาสให้เป้าหมายได้มี ป.ประสิทธิผล
หลักการ ป. ที่สอง ป.ประสิทธิภาพ
ประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึงการบรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้โดยสิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยและได้ผลกลับมามาก สำหรับด้านการวางแผนเกษียณ และการลงมือปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพนั้น เกี่ยวข้องกับการลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเกษียณอายุ และเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้มากขึ้น วิธีหนึ่งในการบรรลุประสิทธิภาพ คือ การบริหารภาษีโดยใช้สิทธิ การลงทุนที่สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะทำให้การลงทุนเพื่อการเกษียณอายุมีประสิทธิภาพ เช่น หากเป็นข้าราชการให้พิจารณาเลือกใช้ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำหรับพนักงานเอกชน แนะนำให้พิจารณากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เป็นลำดับต้นๆ ซึ่งนอกจากจะลดหย่อนภาษีได้แล้ว การลงทุนเหล่านี้นับว่าเป็นการสร้างวินัยอัตโนมัติให้กับตัวเรา หลังจากนั้นหากมีเงินเหลือ พิจารณาลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยอาจปรึกษานักวางแผนทางการเงิน ในการเลือกแผนการลงทุน การเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนต่างๆ เช่น การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) และการกระจายความเสี่ยง (Diversification) เพื่อลดความผันผวนและเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว
หลักการ ป.ที่สาม ป.ประหยัด
การประหยัด (Economy) หมายถึง การบรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีความยับยั้งชั่งใน ใช้จ่ายอย่างเหมาะสมกับฐานะ และหากมองในด้านการเกษียณ การประหยัดนั้นเกี่ยวข้องกับการลดค่าใช้จ่ายทั้งด้านการใช้ชีวิต โดยอาจจะถามตัวเองก่อนใช้จ่ายว่า สิ่งที่เราจะซื้อนี้เป็นสิ่งจำเป็นหรืออยากได้ แล้วถึงค่อยตัดสินใจซื้อสิ่งนั้น และในการประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านการลงทุน ซึ่งหมายถึง การเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีต้นทุนไม่สูงนัก กองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ เช่น กองทุนรวมดัชนี (Index Fund) และในกรณีซื้อขายหลักทรัพย์ก็ควรต้องระวังค่าธรรมเนียมด้วยเช่นกัน
โดยสรุป หลักการทั้ง 3 ป. นั้น ได้แก่ ป. ประสิทธิผลเป็นหลักการที่มีนำหนักและสำคัญที่สุด เป็นเป้าหมายปลายทางที่ต้องเพียรพยายามเพื่อให้บรรลุผล นั่นคือการมีเงินเพียงพอที่จะใช้ดำรงชีวิตในยามเกษียณได้อย่างมีคุณภาพ สำหรับ ป.ประสิทธิภาพ คือ กระบวนการระหว่างทางที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมาย โดยหลัก ป.ประหยัดจะคอยเสริมสร้างความแข็งแกร่งแผนการเงินได้ในทุกช่วงวัย และเมื่อนำสามหลักการนี้มาประยุกต์ใช้ก็จะส่งเสริมให้ผู้ที่นำไปปฏิบัติประสบความสำเร็จในการเกษียณ เรียกได้ว่าจะเกษียณอย่างเกษมแน่นอน
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th