logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

5 ข้อควรรู้กับสัญญาสุขภาพมาตรฐานใหม่ เข้าใจง่าย ใช้ได้เลย

โดย ณรงค์ศักดิ์ พิริยะพงศ์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

จากการประกาศคำสั่งนายทะเบียนที่ 56/2562 และ 14/2564 ที่กำหนดให้บริษัทประกันชีวิตใช้ข้อความสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพแนบท้ายกรมธรรม์ประกันชีวิตให้มีมาตรฐานเดียวกัน และสอดคล้องกับเทคโนโลยีวิธีการรักษาทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป และประชาสัมพันธ์ ผ่านทางเว็ปไซค์ ของ คปภ. ที่ประกาศให้บริษัทประกันภัยเริ่มใช้สัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐานใหม่ สำหรับการขายให้ลูกค้ารายใหม่ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ส่วนกรมธรรม์แบบเดิม ให้ขายได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 อาจทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า สัญญาสุขภาพมาตรฐานใหม่ มีความแตกต่างจากสัญญาสุขภาพแบบเดิมอย่างไร และมีที่ไปที่มาอย่างไร

 

สาเหตุที่สำคัญ มาจากมาตรฐานของประกันสุขภาพเดิมที่มีการใช้มาตั้งแต่อดีต ซึ่งไม่ครอบคลุมเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางการแพทย์ และบริษัทประกันเองได้มีการปรับหัวข้อผลประโยชน์เพิ่มเติมกันออกมาหลากหลายรูปแบบ ทำให้เกิดความสับสนกับผู้ที่ต้องการซื้อประกัน และไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง ทำให้ คปภ.ได้กำหนดมาตรฐานประกันสุขภาพใหม่นี้ขึ้นมา เพื่อให้เนื้อหาในกรมธรรม์ของสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพมีความทันสมัย อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เปรียบเทียบกันได้ รวมทั้งเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น โดยเนื้อหาที่สำคัญ 5 ข้อ ที่ระบุดังนี้

 

1. กำหนดคำนิยามให้ครอบคลุมกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดใหญ่ การผ่าตัดเล็ก และการผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (Day Surgery) เป็นต้น ซึ่งนิยามการผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในคือ การผ่าตัดใหญ่ หรือใช้หัตถการทดแทนการผ่าตัดใหญ่ หรือใช้เครื่องมือบำบัดรักษาพิเศษ มาทดแทน โดยไม่ต้องเข้ารักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน

 

2. มีการกำหนดผลประโยชน์ เป็นหมวดมาตรฐาน 13 หมวด ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในการนำเสนอแบบประกันสุขภาพ ทำให้เปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น ได้แก่

 

ผลประโยชน์ในกรณีผู้ป่วยใน

  • หมวดที่ 1 ค่าห้องและค่าอาหาร
  • หมวดที่ 2 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
  • หมวดที่ 3 ค่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
  • หมวดที่ 4 ค่ารักษาพยาบาล โดยการผ่าตัดและหัตถการ
  • หมวดที่ 5 การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน และผลประโยชน์กรณีไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน

ผลประโยชน์ในกรณีไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน

  • หมวดที่ 6 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนและหลังการพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน หมวดที่ 7 ค่ารักษาพยาบาลการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ของการเกิดอุบัติเหตุ
  • หมวดที่ 8 ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟู หลังการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน
  • หมวดที่ 9 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคไตวายเรื้อรัง
  • หมวดที่ 10 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยรังสีรักษา
  • หมวดที่ 11 ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยเคมีบำบัด
  • หมวดที่ 12 ค่าบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน และ
  • หมวดที่ 13 ค่ารักษาพยาบาล โดยการผ่าตัดเล็ก

3. กำหนดเงื่อนไขการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ (Renewal) ขั้นต่ำจนถึงอายุ 69 ปี พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ให้สามารถนำเงื่อนไขมีค่าใช้จ่ายร่วม (Copayment) สูงสุด 30% และการให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยจากการมีค่าใช้จ่ายร่วม ในการต่ออายุแต่ละปี

 

4. ความชัดเจนเรื่อง การปฏิเสธการต่ออายุกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทไม่สามารถปฏิเสธการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ได้ ยกเว้น 3 กรณีเท่านั้น ซึ่งได้แก่

  • กรณีไม่แถลงข้อความจริงตามใบคำขอเอาประกันภัย ซึ่งหมายถึงมีการปกปิดข้อมูลม่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง โดยที่ทราบข้อมูลนั้นอยู่แล้ว
  • กรณีเรียกร้องผลประโยชน์โดยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์
  • กรณีเรียกร้องผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันรวมกันทุกบริษัทเกินกว่ารายได้ที่แท้จริง

ทำให้ผู้เอาประกันภัยเกิดความมั่นใจ ในการวางแผนสุขภาพเมื่อปฏิบัติตามเงื่อนไข

 

5. กำหนดหลักเกณฑ์การปรับเบี้ยประกันภัย โดยพิจารณาจากอายุ และชั้นอาชีพของแต่ละบุคคล และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น หรือจากประสบการณ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยรวมของพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งจะหมายถึงบริษัทสามารถปรับเพิ่มเบี้ยในแบบสุขภาพนั้นได้ ถ้ามีการจ่ายค่าสินไหมรวมสูง แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่กำกับดูแลด้วย

 

จะเห็นว่าการกำหนด มาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ มีความชัดเจนมากขึ้น เป็นประโยชน์กับผู้ต้องการซื้อสัญญาสุขภาพในการเปรียบเทียบประกันแต่ละบริษัท และมีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีการพัฒนาขึ้นในปัจจุบัน ทั้งยังเปิดโอกาสให้บริษัทประกัน ปรับเพิ่มหรือลดเบี้ยให้กับผู้เอาประกัน โดยมีเงื่อนไขที่ชัดเจนยิ่งขึ้นลดข้อโต้แย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสำหรับผู้ที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้ว ทางบริษัทผุ้รับประกันอาจมีจดหมาย เพื่อให้เลือกปรับเป็นแบบประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่ ทั้งนี้อาจนำข้อมูลทั้ง 5 ข้อเป็นตัวช่วยในการพิจารณาอีกครั้ง การปรับมาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ครั้งนี้ นับเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นของระบบประกันสุขภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางรากฐานประกันสุขภาพให้มีความรัดกุมและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากขึ้น

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th