บทความ: บริหารจัดการเงิน
เทคนิคกำจัดหนี้แบบหิมะถล่ม
โดย กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา นักวางแผนการเงิน CFP®
ปัญหาหนี้สิน เป็นเรื่องที่ทำให้หลายคนปวดหัว จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะเริ่มเคลียร์หนี้อย่างไร ซึ่งวิธีจัดการนั้นง่ายและไม่ยาก เริ่มจากตั้งสติแล้วก็ลงมือทำ สำหรับเทคนิคกำจัดหนี้ที่คุ้นเคย คือ การปลดหนี้แบบลูกบอลหิมะ (Debt Snowball Method) ที่เริ่มจากการกำจัดหนี้ก้อนที่เล็กที่สุดก่อนจนหมด ในขณะที่หนี้ก้อนอื่นๆ จ่ายเพียงขั้นต่ำเท่านั้น เมื่อจ่ายหนี้ก้อนที่เล็กที่สุดหมดแล้วค่อยไปจัดการหนี้ก้อนที่ใหญ่ขึ้นลำดับถัดไป ซึ่งเป็นวิธีที่พิจารณาเพียงจำนวนยอดหนี้ที่เหลือเท่านั้น จะไม่คำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยของหนี้
ดังนั้น จึงมีเทคนิคกำจัดหนี้ที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง คือ การกำจัดหนี้แบบหิมะถล่ม (Debt Avalanche Method) เหมาะกับผู้ที่มีหนี้สินหลายก้อน โดยแต่ละก้อนมีอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน และต้องการจัดการหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะจัดการหนี้ด้วยเทคนิคไหน สิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ คือ หยุดก่อหนี้และตรวจสอบหนี้คงค้างทั้งหมด แจกแจงรายการหนี้ ยอดคงเหลือ อัตราดอกเบี้ย และยอดเงินผ่อนต่อเดือน และหากตัดสินใจจัดการหนี้ด้วยเทคนิคแบบหิมะถล่ม ให้เรียงหนี้จากอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดไปหาต่ำสุด ที่สำคัญพิจารณายอดเงินคงเหลือในแต่ละเดือนที่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ หลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและเงินสำรองฉุกเฉินออกแล้ว
ตัวอย่าง การกำจัดหนี้แบบหิมะถล่ม
มีหนี้ 3 รายการ และยอดเงินคงเหลือที่สามารถนำมาผ่อนชำระหนี้ได้ เดือนละ 10,000 บาท
- หนี้ A : 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ยอดชำระขั้นต่ำ 2,000 บาท
- หนี้ B : 40,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 18% ต่อปี ยอดชำระขั้นต่ำ 4,000 บาท
- หนี้ C : 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 8% ต่อปี ยอดชำระขั้นต่ำ 3,000 บาท
ในเบื้องต้น ไม่ว่าจะเลือกกำจัดหนี้ด้วยเทคนิคใดก็ต้องชำระขั้นต่ำของหนี้ทุกก้อน แสดงว่าต้องชำระหนี้ A B และ C ขั้นต่ำเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 9,000 บาท และเหลือเงินหลังหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและเงินสำรองฉุกเฉินออกแล้ว ที่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ 1,000 บาท โดยหากเป็นเทคนิคกำจัดหนี้แบบลูกบอลหิมะจะเลือกนำเงิน 1,000 บาท ไปโปะหนี้ A ซึ่งมียอดหนี้ต่ำที่สุด
สำหรับเทคนิคกำจัดหนี้แบบหิมะถล่มจะเลือกนำเงิน 1,000 บาท ไปโปะหนี้ B ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุด และเมื่อหนี้ก้อนนี้หมดไป ก็จะนำเงิน 4,000 บาทที่เคยชำระขั้นต่ำหนี้ B มารวมกับเงิน 1,000 บาท (รวมทั้งหมดเป็น 5,000 บาท) ชำระหนี้ C เป็นลำดับถัดไปเพราะมีอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นลำดับรองลงมา และเมื่อชำระหนี้ C จนหมด ก็นำยอดเงิน 5,000 บาท มารวมกับเงิน 3,000 บาทที่เคยชำระขั้นต่ำหนี้ C ในเดือนก่อน (รวมทั้งหมดเป็น 8,000 บาท) มาชำระหนี้ A ไปเรื่อยๆ จนหนี้หมด
เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย แบบหิมะถล่ม
ตราบใดที่ยังมีวินัยทำตามแผนที่วางไว้ เทคนิคกำจัดหนี้แบบหิมะถล่มจะช่วยร่นระยะเวลาการชำระหนี้ให้สั้นลง เพราะอัตราดอกเบี้ยในการคิดคำนวณเป็นแบบทบต้น ดังนั้น การจัดการหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หากผู้ชำระหนี้หยุดจ่ายหนี้ในบางงวดหรือขาดแรงบันดาลใจในการปลดหนี้ ยิ่งกรณีที่หนี้ก้อนที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงสุดมีจำนวนมากเมื่อเทียบกับหนี้ก้อนอื่นๆ ก็จะยิ่งใช้เวลานานในการปลดหนี้ก้อนแรก
เมื่อเทียบกับเทคนิคกำจัดหนี้แบบลูกบอลหิมะที่อาจทำให้มีกำลังใจในการกำจัดหนี้มากกว่า เพราะเป็นเทคนิคที่เลือกจัดการหนี้ก้อนที่น้อยที่สุดก่อน ผู้ชำระหนี้จะสัมผัสได้ถึงชัยชนะเล็กๆ (Small Win) จึงไม่รู้สึกย่อท้อไปเสียก่อน
เทคนิคกำจัดหนี้แบบหิมะถล่ม เหมาะกับใคร
เทคนิคนี้ต้องการจ่ายดอกเบี้ยให้น้อยที่สุด จึงต้องหาวิธีการปลดหนี้แบบเร่งรัดและต้องชำระหนี้มากกว่ายอดขั้นต่ำในแต่ละเดือน จึงเหมาะกับผู้ที่มีกระแสเงินสดคงเหลือต่อเดือนเพียงพอกับยอดที่ต้องชำระ และต้องการประหยัดทั้งดอกเบี้ยและเวลา ต้องการกำจัดหนี้ให้หมดโดยเร็วที่สุด ที่สำคัญต้องมีวินัยด้านการเงิน
ทางออกเมื่อเงินไม่พอชำระหนี้
ถ้าหากสนใจกำจัดหนี้ด้วยเทคนิคแบบหิมะถล่ม แต่เงินที่เหลือในแต่ละเดือนเพียงพอแค่จ่ายหนี้ขั้นต่ำ ควรเริ่มต้นจากการสำรวจตัวเองว่ามีโอกาสได้รับเงินก้อนเข้ามาในช่วงเวลาอันใกล้หรือไม่ เช่น ค่าทำงานล่วงเวลา โบนัส รายได้พิเศษจากการขายของออนไลน์ จากนั้นก็วางแผนกันเงินก้อนนี้สำหรับชำระหนี้ หรือถ้ามีสินทรัพย์บางอย่างที่แปลงเป็นเงินได้อาจต้องขายบางส่วนมาชำระหนี้ ขณะเดียวกันต้องลดรายจ่ายด้วย
อีกทั้ง สามารถใช้หลักการรีไฟแนนซ์หรือทำสัญญากู้ใหม่ ด้วยการนำหนี้หลายก้อนที่ยังค้างชำระมารวมเป็นก้อนเดียว (Debt Consolidation) โดยอัตราดอกเบี้ยใหม่ต้องต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม หรือถ้าเป็นหนี้นอกระบบก็เปลี่ยนเป็นหนี้ในระบบ หรือปรึกษากับเจ้าหน้าเพื่อหาทางประนอมหนี้ ขอลดอัตราดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาชำระหนี้เพิ่ม เป็นต้น
สำหรับการกำจัดหนี้ด้วยเทคนิคแบบหิมะถล่มไม่ได้การันตีว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่วิธีที่เหมาะสมที่สุด คือ วิธีที่สามารถทำได้ในระยะยาวและช่วยปลดหนี้ได้ ที่สำคัญถึงแม้จะปลดหนี้ได้แต่หากไม่แก้ไขที่ต้นเหตุ คือ การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่สนใจวางแผนการเงิน ปัญหานี้ก็จะเกิดขึ้นแบบไม่รู้จบ ดังนั้น หากต้องการหลุดพ้นวงจรหนี้ต้องหยุดทุกอย่างที่จะทำให้ก่อหนี้ หยุดใช้จ่ายเกินกำลัง ที่สำคัญเริ่มต้นวางแผนการเงิน เพื่อเสริมสร้างสุขภาพทางการเงินให้แข็งแกร่งในระยะยาว
ที่มา: www.setinvestnow.com, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย