logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

5 ขั้นตอน สร้างแผนการลงทุนกองทุนรวม ฉบับมือใหม่

โดย ปรารถนา จันทนสกุลวงศ์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

สำหรับมือใหม่ที่ต้องการแบ่งเงินมาลงทุน การลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพมาช่วยคัดสรรสินทรัพย์ ช่วยดูงบการเงินของบริษัทที่จะลงทุน หรือคอยปรับพอร์ตลงทุนตามสถานการณ์ จึงช่วยประหยัดเวลาและเหมาะกับผู้ที่มีประสบการณ์ลงทุนไม่มาก

 

อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมก็มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย รวมถึงลงทุนได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น เพื่อให้มือใหม่สามารถเริ่มต้นลงทุนด้วยความมั่นใจและไปถึงเป้าหมายตามที่วางเอาไว้ ควรเริ่มด้วยแผนการลงทุน 5 ขั้นตอน ดังนี้

 

1. กำหนดเป้าหมายการลงทุน
 

การลงทุนที่จะประสบความสำเร็จได้ในขั้นแรกนั้นต้องมีการกำหนดเป้าหมาย เพราะหากขาดเป้าหมายอาจสร้างความสูญเสียในระหว่างทาง ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนต้องกำหนดเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจนก่อนว่าจะลงทุนไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อการเกษียณ เพื่อการศึกษาของลูก เพื่อผ่อนรถ เพื่อซื้อบ้าน เพื่อแต่งงาน เป็นต้น อีกทั้ง ควรระบุรายละเอียดด้วยว่าเป้าหมายดังกล่าวมีมูลค่าเท่าไร ใช้ระยะเวลากี่ปีในการเก็บเงิน เช่น มีเป้าหมายจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี ต้องการใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท ในอีก 15 ปีข้างหน้า หรืออยากเก็บเงินแต่งงานให้ได้ 300,000 บาท ภายในเวลา 3 ปี เป็นต้น เมื่อเป้าหมายการลงทุนชัดเจน จากนั้นต้องคำนวณเม็ดเงินลงทุนที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายทางการเงิน โดยปัจจุบันมีโปรแกรมคำนวณเป้าหมายทางการเงินให้ใช้บริการฟรี เช่น โปรแกรมคำนวณของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คลิกที่นี่

 

2. ประเมินความเสี่ยง
 

เมื่อได้เป้าหมายการลงทุนแล้วก็ต้องจัดสัดส่วนการลงทุน เนื่องจากกองทุนรวมมีหลากหลายประเภท แต่ก่อนจะเลือกว่าจะลงทุนกองทุนรวมประเภทไหนนั้นก็ต้องเข้าใจระดับความสามารถในการยอมรับเสี่ยงของตัวเองก่อนว่าอยู่ในระดับใด (ยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำ ปานกลาง และสูง) ด้วยการทำแบบประเมินความเสี่ยง (Suitability Test) เพราะก่อนลงทุน บลจ. แต่ละแห่งจะให้นักลงทุนทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนเปิดบัญชีกองทุนทุกครั้ง หรือเริ่มทำแบบประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ที่ คลิกที่นี่

 

หากประเมินความเสี่ยงเรียบร้อยแล้วก็จะได้สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท (สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ปานกลาง และสูง) รวมถึงผลตอบแทนคาดการณ์ของพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งสามารถนำผลตอบแทนคาดการณ์ไปกรอกในโปรแกรมคำนวณเป้าหมายทางการเงิน (กำหนดเป้าหมายการลงทุน) ทำให้ทราบว่าจะต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไหร่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้

 

3. จัดพอร์ตลงทุน
 

การคัดเลือกกองทุนรวมเข้าพอร์ตสามารถทำได้หลายวิธี เริ่มจากคัดเลือกด้วยตัวเอง ซึ่งต้องอาศัยเวลา และประสบการณ์ สำหรับมือใหม่อาจเริ่มต้นจากการขอคำปรึกษาผู้แนะนำการลงทุน บลจ.ที่เปิดบัญชีซื้อขาย ว่ามีกองทุนรวมที่เหมาะสมอะไรบ้าง ที่สำคัญสามารถตัดสินใจร่วมจัดพอร์ตลงทุนพร้อมกับผู้แนะนำการลงทุนได้ด้วย

 

นอกจากนี้ อาจเลือกใช้วิธีที่ บลจ. หรือตัวแทนจำหน่ายกองทุนรวม (ธนาคาร) หรือ บลน. ได้คัดเลือกกองทุนรวมแบบสำเร็จรูปจากผู้เชี่ยวชาญและคอยดูแลคัดสรรกองทุน รวมถึงปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้ความเสี่ยงการลงทุนคงเดิม (หรือลดลง) โดยนักลงทุนมีหน้าที่เพียงเลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้ เช่น หากรับความเสี่ยงได้น้อยก็เลือกโมเดลที่มีสัดส่วนตราสารหนี้มาก แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้สูงก็เลือกโมเดลที่มีสัดส่วนหุ้นมาก

 

4. เริ่มลงทุน
 

เมื่อตัดสินใจลงทุนแล้ว สามารถเลือกลงทุนด้วยรูปแบบเป็นเงินก้อน หรือทยอยลงทุนแบบสม่ำเสมอเป็นรายเดือน (DCA) สำหรับนักลงทุนมือใหม่อาจเริ่มต้นด้วยวิธีการลงทุนสม่ำเสมอแบบ DCA เพื่อช่วยลดความผิดพลาดจากการจับจังหวะการลงทุน และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี เพราะมีโอกาสได้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยที่ต่ำกว่าในระยะยาว และทำให้ได้จำนวนหน่วยที่มากขึ้น แถมยังเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนอีกด้วย

 

5. ทบทวนแผนการลงทุน
 

เมื่อลงทุนไปแล้ว การสำรวจพอร์ตลงทุนเป็นสิ่งสำคัญและควรทำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ว่าผลตอบแทนเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ และต้องปรับพอร์ตลงทุนหรือไม่ โดยเฉพาะหากจัดพอร์ตด้วยตัวเอง สัดส่วนการลงทุนอาจเปลี่ยนไปจากราคากองทุนรวมที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนเปลี่ยนแปลงด้วย และความเสี่ยงของพอร์ตจะไม่เท่าเดิม จึงต้องมีการปรับสัดส่วนให้พอร์ตคงเดิมเหมือนครั้งแรกที่วางแผนไว้ แต่หากลงทุนกองทุนรวมด้วยวิธีเลือกโมเดลสำเร็จรูป ก็จะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลและปรับสัดส่วนการลงทุนและติดตามสถานการณ์การลงทุนให้ตลอดเวลา แต่ก็ต้องติดตามและเข้าไปสำรวจพอร์ตตัวเองด้วยว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่

 

ลองถามตัวเองว่า หากต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยง ขณะเดียวกันใช้เงินลงทุนไม่มาก รวมถึงมีประสบการณ์ ความชำนาญในการลงทุนน้อย ไม่มีเวลาศึกษาค้นหาและติดตามข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน หรือไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นลงทุนอย่างไร “กองทุนรวม” เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับมือใหม่ที่เริ่มลงทุน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

ที่มา: www.setinvestnow.com, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th