logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

Asset Allocation ง่ายนิดเดียว

โดย วีระชัย แสงวัชร ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM

 

บทความนี้ จะนำเสนอไอเดีย การจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน หรือ Asset Allocation แบบง่าย และได้ผลตอบแทนที่ดี ให้กับ ท่านนักลงทุนไว้เป็นทางเลือกครับ

 

“Asset Allocation” หรือ การจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน คือ การที่นักลงทุนวางแผนกระจายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ทางการเงิน ในหลายประเภท แต่ละประเภทจะต้องมีทิศทางการขึ้นลงของราคา หรือผลตอบแทนที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดระยะเวลาการลงทุน เช่น ช่วงเศรษฐกิจซบเซา สินทรัพย์ประเภทหนึ่งราคาปรับตัวลดลง แต่อีกประเภทหนึ่งจะต้องปรับตัวขึ้น เป็นต้น

 

การจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่แบบพื้นฐานที่มีสินทรัพย์ แค่ 2 ประเภท เช่น กลุ่มหุ้นกับกลุ่มตราสารหนี้ ไปจนถึงแบบที่มีสินทรัพย์ หลายๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มหุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ น้ำมัน เป็นต้น

 

ข้อดี ของการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน คือ ช่วยลดและจำกัดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ทั้งในเรื่องของความผันผวน และการไม่ลงทุนแบบกระจุกตัว และทำให้การลงทุนในระยะยาวมีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนที่ดี และมีประสิทธิภาพกว่าการที่ไม่ได้จัดสินทรัพย์ในการลงทุน ซึ่งจะต้องทำร่วมกับ การปรับสมดุลของพอร์ต (Rebalance Port) เป็นประจำอีกด้วย

 

สิ่งที่นักลงทุน มักจะมีคำถามคล้ายๆ กัน เกี่ยวกับการจัดสรรสินทรัพย์ในการลงทุน คือ เราจะเลือกสินทรัพย์ประเภทไหนเข้ามารวมอยู่ในพอร์ตบ้าง เราควรจะจัดสัดส่วนการลงทุนของแต่ละสินทรัพย์อย่างไร เพื่อให้เหมาะกับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ และได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง และควรจะต้องปรับสมดุลของพอร์ตการลงทุนเมื่อไหร่ อย่างไร ?

 

อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นว่า เรื่องการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนนั้น มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ไม่ใช่เพียงอยากจะลงทุนในสินทรัพย์อะไรที่เราชอบ ก็ลงทุนได้เลย โดยการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องดูทั้งเรื่องของความเสี่ยงที่เรารับได้ และต้องสอดคล้องกับผลตอบแทนคาดหวังที่นักลงทุนต้องการ สินทรัพย์ที่ลงทุนในแต่ละประเภทต้องมี ผลตอบแทนที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเหมือนกัน ต้องติดตามเพื่อทำการปรับสมดุลของพอร์ต และติดตามตัวสินทรัพย์ที่เราลงทุนอยู่ ว่าเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่

 

การจัดสินทรัพย์การลงทุน นั้นดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน หลายขั้นตอน แต่ในปัจจุบัน สำหรับนักลงทุนที่ต้องการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน หรือ ทำ Asset Allocation แต่ไม่ค่อยมีเวลาที่จะมาลงรายละเอียดว่าจะลงทุนสินทรัพย์ตัวไหนดี ด้วยสัดส่วนเท่าไหร่ ไม่ต้องมาทำการปรับสมดุลของสัดส่วนการลงทุนในพอร์ต (Rebalance) เอง หรือยังมีเงินลงทุนตั้งต้น ไม่มากนัก ผมมีแนวทางมานำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกแบบง่ายๆ แต่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทางเลือกที่ว่านั้นก็คือ การลงทุนใน “กองทุนรวมผสม” นั่นเอง

 

กองทุนรวมผสม (Allocation Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนได้ทั้งใน ตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือ ตราสารอื่นๆ สัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุนนั้นๆ และในกองทุนรวมผสมก็จะมีการปรับสมดุลของการลงทุนให้นักลงทุนด้วย เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกองทุน ทำให้นักลงทุนไม่ต้องมาทำการปรับสมดุล หรือ Rebalance พอร์ตเอง และ ไม่ต้องมาคิดว่าช่วงเวลาไหน ควรลงทุนอะไร เพื่อให้การจัดสินทรัพย์เหมาะสมกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจ และ ยังเหมาะกับ นักลงทุนที่มีเงินลงทุนตั้งต้นไม่สูงมาก แต่ต้องการกระจายสินทรัพย์การลงทุนให้หลากหลาย

 

กองทุนรวมผสมหลักๆ จะมีอยู่ 2 แบบ ตามที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดประเภทไว้ คือ

  1. กองทุนรวมผสมแบบสมดุล (Balanced Fund) คือ กองทุนรวมที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือ ตราสารอื่นๆ แต่จะต้องมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนในขณะใดขณะหนึ่ง ไม่น้อยกว่า 35% และไม่เกินกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมนั้น
  2. กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible Portfolio Fund) คือ กองทุนรวมที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ ได้ทุกประเภทเช่นเดียวกับกองทุนรวมผสม แต่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน ดังนั้น การจัดสรรเงินลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของผู้จัดการกองทุนตามสภาวะตลาดในขณะนั้น

การลงทุนในกองทุนรวมผสม จะทำให้นักลงทุนที่ต้องการจัดสินทรัพย์การลงทุนได้ประโยชน์ ดังนี้

  • มีการจัดสัดส่วนการลงทุนในกองทุนผสมให้เรียบร้อยแล้ว ตามนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ ซึ่งนักลงทุนจะไม่สามารถกำหนดสัดส่วนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์เองได้
  • มีการปรับสมดุลพอร์ต (Rebalancing) เพื่อรักษาสัดส่วนการลงทุนให้นักลงทุนโดยอัตโนมัติ ซึ่งการปรับสมดุลพอร์ต ก็เปรียบเสมือนการขายสินทรัพย์ ที่ผลตอบแทนเป็นบวกอยู่ เพื่อทำกำไร หรือ ซื้อสินทรัพย์ที่ราคาถูก ตามสถานการณ์ของตลาด
  • บางกองทุน มีนโยบายการลงทุนที่ยืดหยุ่น โดยสามารถเพิ่มความเสี่ยง โดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น หรือ ลดความเสี่ยงลง เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะสั้น ตามสภาวะตลาดในช่วงเวลานั้นๆ
  • การติดตามผลดำเนินงานของกองทุนทำได้ง่าย เช่น อาจจะติดตามกองทุนผสม A แค่กองเดียวก็เห็นภาพรวมของพอร์ต ในขณะที่ การจัดสินทรัพย์การลงทุนแบบแยกกองทุนแต่ละประเภท จะทำให้ต้องติดตามหลายกองทุน

สำหรับการเลือกกองทุนผสม นั้น ทาง Morningstar ได้จัดกลุ่ม ของกองทุนผสม ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. Aggressive Allocation ลงทุนในตราสารทุน อย่างน้อย 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
  2. Moderate Allocation ลงทุนในตราสารทุนมากกว่า 35% แต่ไม่เกิน 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
  3. Conservative Allocation ลงทุนในตราสารทุน ไม่เกิน 35% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
  4. Global Allocation ลงทุนในตราสารทุนไม่เกิน 65% และลงทุนในต่างประเทศ อย่างน้อย 75% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

 

นักลงทุนสามารถค้นหาข้อมูลของกองทุนผสมที่น่าสนใจ พร้อมผลดำเนินในอดีตได้ที่ www.morningstarthailand.com หมวดกองทุน ท่านสามารถเลือกดูได้ตามกลุ่มของกองทุนผสมที่ท่านสนใจลงทุนได้เลย ขอกระซิบบอกว่า ผลดำเนินงานของกองทุนผสม นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่น่าสนใจ ระดับนึงเลยทีเดียว

 

สุดท้าย การลงทุนมีความเสี่ยง ผลตอบแทนในอดีต ไม่ได้การันตีถึงผลตอบแทนในอนาคต ขอให้ทุกท่าน ลงทุนอย่างมีสติ และ บรรลุเป้าหมายการลงทุน อย่างที่ตั้งใจทุกท่านครับ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th